ฟุตบอลทีมชาติ ฟุตบอลโลก

ระดับแถวหน้า: 10 สนามจากสามชาติอาเซียนน่าใช้จัดบอลโลก

 

หลังจากที่มีกระแสข่าวว่า ประเทศไทย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม พร้อมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลกในปี 2034 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า โดยสามชาติร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ต่างก็มีความพร้อมในบางส่วน โดยเฉพาะเรื่องของสนามแข่งที่มีอยู่หลายสนาม บางแห่งมีคุณสมบัติพร้อมต่อการจัดการแข่ง ในขณะที่บางสนามก็มีความพร้อมหากต้องปรับปรุงรายละเอียดบางส่วนตามที่ฟีฟ่ากำหนด และนี่คือ 10 สนามฟุตบอลจากสามประเทศอาเซียนที่น่าใช้จัดทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย

เลื่อนลูกศรทางขวามือเพื่ออ่าน

 

เกิ่น เทอ สเตเดียม - (เวียดนาม, ความจุ 44,398 ที่นั่ง)

สนามกีฬาแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองเกิ่น เทอ ทางตอนใต้ของประเทศ เป็นสนามฟุตบอลที่มีความจุมากที่สุดของเวียดนาม ใช้ได้ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล รวมถึงแข่งรถจักรยานยนต์ ปัจจุบันเป็นสนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลเกิ่นเทอ ทีมอันดับ 10 ในวีลีกฤดูกาล 2018 อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในแดนดาวทอง ทว่าทีมชาติชุดใหญ่ยังไม่เคยลงแข่งในสนามแห่งนี้แต่อย่างใด

 

คานจูรุฮาน สเตเดียม - (อินโดนีเซีย, ความจุ 42,449 ที่นั่ง)

สนามกีฬาอเนกประสงค์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของแดนอิเหนาตั้งอยู่ในเมืองมาลัง ทางเกาะชวาตะวันออก เป็นรังเหย้าของ อเลมา เอฟซี อดีตแชมป์ลีกสูงสุดของอินโดนีเซีย 1 สมัย และสโมสร เปอร์เซกัม เมโทร คาบุปาเต็น มาลัง ทีมในลีกรอง โดยสนามแห่งนี้เคยได้รับการปรับปรุงมาแล้วครั้งหนึ่งในเรื่องของไฟส่องสว่างในปี 2010 เมื่อครั้งที่อเลมา เอฟซี คว้าสิทธิ์ลงเตะเกมเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก รอบคัดเลือก

 

สนามกีฬาติณสูลานนท์ - (ไทย, ความจุ 45,000 ที่นั่ง)

ถือเป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดรองจากราชมังคลากีฬาสถาน ภายหลังที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาทุ่มเงินกว่า 200 ล้าน พลิกโฉมสนามแห่งนี้เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 45 ในปี 2560 ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้สนามจะมีความจุจากเดิมที่ 35,000 ที่นั่ง เป็น 45,000 ที่นั่ง แน่นอนว่าในแง่ของความจุผ่านเกณฑ์ของฟีฟ่าที่เกมรอบรอบแบ่งกลุ่มจนไปถึงรอบแปดทีมสุดท้าย สนามที่ใช้แข่งต้องมีความจุไม่น้อยกว่า 40,000 ที่นั่ง เหลือเพียงแค่ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอื่น อดีตรังเหย้าของสงขลา เอฟซีแห่งนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสนามที่มีความพร้อมไม่แพ้สนามไหน

 

เกลอรา บังโทโม สเตเดียม - (อินโดนีเซีย, ความจุ 55 000 ที่นั่ง)

สนามฟุตบอลที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในเมืองสุราบายา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดชวาตะวันออก เป็นรังเหย้าของอีกหนึ่งทีมเก่าแก่ในแดนอิเหนาอย่าง เปอร์เซบายา สุราบายา ทั้งยังเป็นหนึ่งในสนามฟุตบอลที่ทีมชาติอินโดนีเซียเคยทำการแข่งขันเป็นสนามเหย้า โดยครั้งล่าสุดที่ทีมการูด้าใช้คือเกมอุ่นเครื่องกับเวียดนาม เมื่อเดือนกันยายน ปี 2012

 

มาย ดินห์ เนชันแนล สเตเดียม - (เวียดนาม, ความจุ 40,000 ที่นั่ง)

รังเหย้าหลักที่ทีมชาติเวียดนามใช้มาตั้งแต่ปี 2003 ตั้งอยู่ในเมืองหลวงของประเทศอย่างฮานอย โดยสนามที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองในแดนดาวทองแห่งนี้เคยใช้จัดทัวร์นาเมนต์กีฬารายการสำคัญมาแล้วนับไม่ถ้วน ไล่มาตั้งแต่กีฬาซีเกมส์ในปี 2003, ฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ, ใช้ในพิธีเปิดเอเชียน อินดอร์เกมส์ ปี 2009, รวมถึงเคยเป็นสนามจัดเกมกระชับมิตรระหว่างทีมชาติเวียดนามกับสโมสรยักษ์ใหญ่ในยุโรปทั้ง อาร์เซนอล (ปี 2013) และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ (ปี 2015) มาแล้ว

 

เกลอรา บันดุง เลาตัน อาปิ - (อินโดนีเซีย, ความจุ 38,000 ที่นั่ง)

สนามฟุตบอลแห่งใหม่ตั้งอยู่ในเมืองบันดุง ทางชวาตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยเพิ่งเปิดใช้งานมา 5 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งสนามฟุตบอลที่มีความทันสมัยและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ โดยจุดเด่นของสนามนี้คือพื้นหญ้าสายพันธุ์ Zoysia matrella ซึ่งเป็นเกรดมาตรฐานของฟีฟ่า มีความโอ่อ่าในเรืองการอำนวยความสะดวกที่กินพื้นที่รอบสนามถึง 40 เฮกเตอร์ หรือราว 250 ไร่ และยังมีห้องสุขารองรับแฟนบอลถึง 766 ห้อง ปัจจุบันเป็นรังเหย้าของเปอร์ซิบ บันดุง สโมสรที่มีมิคาเอล เอสเซียง ค้าแข้งด้วยเมื่อซีซันที่แล้ว

 

ช้าง อารีนา - (ไทย, ความจุ 32,600 ที่นั่ง)

สนามเหย้าของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดเป็น "ฟุตบอลสเตเดียม" แห่งแรกของไทย ที่ได้รับการรับรองจาก สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) เริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปี 2012 ด้วยงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท และเคยได้รับการบันทึกจากกินเนสบุ๊คว่าเป็นสนามฟุตบอลในระดับฟีฟ่า ที่ใช้เวลาก่อสร้างน้อยที่สุดในโลกคือ 256 วัน นอกจากนี้ทีมชาติไทยยังเคยใช้รังเหย้าปราสาทสายฟ้าแข่งขันเกมระดับชาติมาแล้วถึง 3 ครั้ง คือเกมอุ่นเครื่องกับทีมชาติเมียนมาสองแมตช์ และเกมฟุตบอลโลก 2014 รอบคัดเลือก กีบปาเลสไตน์ เมื่อปี 2014

 

ปาราลัน เมน สเตเดียม - (อินโดนีเซีย, ความจุ 60,000 ที่นั่ง)

สนามฟุตบอลที่เพิ่งเปิดใช้งานเมื่อปี 2008 ปัจจุบันเป็นรังเหย้าของทีมในลีกสูงสุดของประเทศอย่าง บอร์เนียว เอฟซี โดยสนามประจำเกาะบอร์เนียวแห่งนี้มีความโอ่อ่าถึงขั้นใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ อย่างไรก็ตาม สนามแห่งนี้ยังถูกจัดอีเวนท์กีฬาแค่ในประเทศเท่านั้น อีกทั้งทีมชาติอินโดนีเซียก็ยังไม่เคยใช้สนามแห่งนี้เป็นสนามเหย้าในการแข่งขันระดับนานาชาติ

 

เกลอรา บังการ์โน สเตเดียม - (อินโดนีเซีย, ความจุ 80,000 ที่นั่ง)

รังเหย้าหลักของสโมสรเปอร์ซิยา จาร์การ์ต้า และทีมชาติอินโดนีเซีย หรืออีกชื่อแฟนบอลคุ้นหูดีนามว่า สนามเสนายัน และเป็นสังเวียนฟุตบอลขนาดใหญ่อันดับ 1 ของอินโดนีเซีย และเป็นอันดับ 7 ของเอเชีย เคยผ่านเกมสุดสำคัญทั้งในประเทศ รวมถึงนานาชาติมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้จัดกีฬาเอเชียนเกมส์ในปี 1962 (ยุคก่อตั้ง) ไปจนถึงกีฬาซีเกมส์ รายการที่ทัพอิเหนาใช้ลงเล่นทั้งชิงแชมป์อาเซียน และแข่งเกมกระชับมิตรกับทีมดังอาทิ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด,ลิเวอร์พูล, ยูเวนตุส รวมถึงเกมกับทีมชาติไอซ์แลนด์ช่วงก่อนแข่งฟุตบอลโลก

 

ราชมังคลากีฬาสถาน - (ไทย, ความจุ 49,722 ที่นั่ง)

สนามแข่งหลักของทีมชาติไทยในปัจจุบันมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองผ่านการตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมแบบปูนเปลือย โดยรังเหย้าช้างศึกแห่งนี้ถือว่ามีความใหญ่เป็นอันดับ 17 ของทวีปเอเชีย และเป็นสนามฟุตบอลที่จุแฟนบอลได้มากที่สุดในไทย นอกจากจะใช้จัดทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลรายการสำคัญของทีมชาติไทยและรายการสำคัญระดับนานาชาติแล้ว สนามแห่งนี้ยังเอนกประสงค์หลากหลายในเรื่องของการจัดอีเว้นท์รายการใหญ่ๆ ทั้งพิธีเปิดปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13, กีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24 ตลอดจนคอนเสิร์ตทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศ