ฟุตบอลญี่ปุ่น ฟุตบอลทีมชาติ

ก่อนลุยรัสเซีย: ยอดเยี่ยม-ยอดแย่ผลงานญี่ปุ่นในเวทีฟุตบอลโลก

 

ญี่ปุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งชาติเจ้าประจำที่ผ่านเข้ามาเล่นในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ถึงตอนนี้ ทีมซามูไรบลูเป็นทีมอันดับสอง รองจากเกาหลีใต้ที่ทะลุมาเล่นรอบสุดท้ายได้ที่จำนวน 6 ครั้ง คือในปี 1998, 2002, 2006, 2010, 2014 และครั้งล่าสุดในปี 2018 โดยตลอดผลงานในเวิลด์คัพ ทัพลูกพระอาทิตย์มีโอกาสผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ได้ถึง 2 สมัย ในขณะเดียวกัน ก็มีอยู่หลายหนที่ล้มเหลวไม่ชนะใคร และนี่คือรวมผลงานยอดเยี่ยมยอดแย่ของญี่ปุ่นช่วง 5 สมัยที่ผ่านมา ก่อนจะเห็นฝีเท้าของ 23 แข้งซามูไรในฟุตบอลโลกบนแผ่นดินรัสเซีย

เลื่อนลูกศรทางขวาเพื่ออ่าน

 

ผลงานดีที่สุด : ฟุตบอลโลก ปี 2002

ภายหลังที่ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 1998 เป็นสมัยแรก ทีมซามูไรบลูมีโอกาสลงเล่นรอบสุดท้ายต่อทันทีในปี 2002 จากการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันร่วมกับเกาหลีใต้ ซึ่งกับโอกาสลงสนามต่อหน้าแฟนบอลในประเทศ พลพรรคลูกอาทิตย์อุทัยเดินหน้าเก็บ 7 คะแนนจาการลงเล่นในกลุ่มเอช แบ่งเป็นผลเสมอเบลเยียม 2-2 ในเกมแรก เฉือนรัสเซียในนัดที่ 2 ไป 1-0 และเล่นนัดส่งท้ายรอบแบ่งกลุ่มด้วยการชนะ ตูนิเซีย 2-0 เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย และแม้จะแพ้ตุรกี 0-1 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่นี่ก็ถือเป็นผลงานเด่นของญี่ปุ่น สำหรับการผ่านมาเล่นในรอบน็อคเอาท์นี้ได้เป็นหนแรกในประวัติศาสตร์

 

ผลงานแย่ที่สุด : ฟุตบอลโลก ปี 2014

ในฟุตบอลโลกที่บราซิล เมื่อครั้งที่แล้ว ญี่ปุ่นภายใต้การทำทีมของ อัลแบร์โต้ ซัคเคโรนี มีขุมกำลังหลักที่พร้อมต่อกรคู่แข่งร่วมสายซี อย่างไอวอรี โคสต์, โคลอมเบีย ตลอดจนกรีซ แบบสบายๆ ไม่ว่าจะเป็นชินจิ คากาวะ เพลย์เมกเกอร์ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในพรีเมียร์ลีก เคซุเกะ ฮอนดะ สตาร์เอซี มิลาน ในกัลโช เซเรียอา ตลอดจนมาโกโตะ ฮาเซเบะ กองกลางกัปตันทีมที่เคยคว้าแชมป์บุนเดสลีกามาแล้วเป็นแกนหลัก ทว่าผลงานตลอดรอบแรกกลับล้มเหลวชวนกับคุณภาพนักเตะ ทัพซามูไรประเดิมเกมแรกด้วยการพ่ายช้างดำ 1-2 เสมอทีมเทพนิยาย 0-0 ก่อนจะพ่ายโคลอมเบียยับ 1-4 จบอันดับด้วยการเป็นบ๊วยกลุ่ม สุดท้ายญี่ปุ่นจบทัวร์นาเมนต์ด้วยการถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 29 จากบรรดา 32 ทีม

 

แข้งฟอร์มเด่นที่สุด : ฮิเดโตชิ นาคาตะ

อดีตซูเปอร์สตาร์เลือดซามูไรรายนี้คือผู้เล่นทีมชาติญี่ปุ่นที่ผ่านประสบการณ์ลงสนามในเวิลด์คัพมากที่สุดที่จำนวน 10 แมตช์ ตลอดการลงเล่นในรอบสุดท้ายเมื่อปี 1998, 2002 และ 2006 มีเล่นครบเวลา 90 นาทีถึง 9 นัด โดยหนึ่งในบทบาทสำคัญของอดีตแข้งโรมาคือการซัดประตูย้ำชัยใส่ตูนิเซีย 2-0 พาญี่ปุ่นทะลุสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายได้เป็นครั้งแรก เมื่อครั้งที่ซามูไรบลูเป็นเจ้าภาพร่วมกับเกาหลีใต้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว

 

แข้งฟอร์มดับที่สุด : ชินจิ คางาวะ

แม้ช่วงเวลาในปี 2010 เด็กสร้างเซเรโซ โอซากา รายนี้จะผงาดขึ้นมาเป็นนักเตะญี่ปุ่นน่าจับตาในตำแหน่งเพลย์เมกเกอร์ทีมชาติชุดใหญ่ในอนาคต ทว่าเขากลับหลุดจากทีมชุดลุยฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้แบบน่าเสียดาย อย่างไรก็ดี ผลงานหลังจากนั้นที่เจ้าตัวได้โยกไปเล่นในยุโรปกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่พาทีมได้แชมป์ลีก 2 สมัยติด รวมถึงการย้ายไปค้าแข้งให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในปี 2012 ทำให้คางาวะเริ่มยึดตัวหลักในนามทีมซามูไรบลู ในตำแหน่งตัวรุกด้านซ้ายสลับกับตำแหน่งเพลย์เมกเกอร์ เรื่อยมาจนถึงฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล

แน่นอนว่าจากดีกรีที่ผ่านการค้าแข้งร่วมกับเสือเหลืองและปีศาจแดงมาก่อน ทำให้คางาวะได้รับการจับตามองว่าจะพาญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอีกครั้งในฟุตบอลโลกครั้งนี้ แต่แล้วตลอดผลงานทั้ง 3 เกม ที่เจ้าตัวได้รับบทบาททำเกมทางซ้าย เจ้าตัวไม่อาจสร้างสรรค์เกมเปลี่ยนผลเป็นประตูหรือแอสซิสต์ได้เลย แถมยังอยู่ไม่ครบ 90 นาทีทั้ง 3 แมตช์ ตกรอบกับทีมไปตามระเบียบ

อนึ่ง ถึงตอนนี้ภาพรวมของเจ้าตัวร่วมกับญี่ปุ่นก็ยังเรียกได้ไม่เต็มปากว่าจะพาทีมประสบความสำเร็จบนแผ่นดินรัสเซียครั้งนี้ได้ เพราะนับตั้งแต่ปี 2018 นี้ คางาวะมีโอกาสลงช่วยทีมเพียง 149 นาที จาก 5 เกม แบ่งเป็นตัวจริง 1 นัด สำรอง 2 นัด ทำได้แค่ 1 ลูกในเกมชนะปารากวัย 4-2

 

แมตช์ประทับใจที่สุด : ชนะตูนิเซีย 2-0 ฟุตบอลโลก ปี 2002

จากความโชคดีเล็กๆในตอนนั้นของทีมซามูไร หลังถูกจับให้มาอยู่ในกลุ่มเอช ที่มีคู่แข่งอันดับฟีฟ่าแรงกิ้งตอนนั้นแบบไม่ห่างกัน อย่าง เบลเยียม (23), รัสเซีย (28) และตูนิเซีย (31) ส่วนญี่ปุ่นรั้งอันดับที่ 32 ส่งผลให้ทัพลูกพระอาทิตย์ค่อยๆเริ่มเส้นทางความสำเร็จในเวิลด์คัพหนนี้ ที่เป็นเจ้าภาพร่วมกับรัสเซียแบบสวยหรู เริ่มจากเจ๊าทีมปีศาจแดงแห่งยุโรปในไซตามะ สเตเดียม 2-2 ฉายแววเข้ารอบในเกมต่อมาจากการเฉือนหวิวรัสเซีย 1-0 ทำให้สถานการณ์ในนัดส่งท้าย เพียงแค่เสมอกับตูนิเซียก็จะการันตีแชมป์กลุ่มทันที

ทว่าทีมของ ฟิลิปป์ ทรุสซิเย กลับทำผลงานตอบแทนแฟนบอลในสังเวียนนากาอิ สเตเดียม ที่โอซากาแบบสวยหรู โดยสองประตูจาก ฮิโรอากิ โมริชิมะ และ ฮิเดโตชิ นาคาตะ พาให้เจ้าภาพร่วมทีมนี้ทะลุสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

แมตช์แย่ที่สุด : แพ้โคลอมเบีย 1-4 ฟุตบอลโลก ปี 2014

เนื่องจากทีมชาติญี่ปุ่นชุดเวิลด์คัพบนดินแดนแซมบ้าถือเป็นอีกหนึ่งชุดที่ขุมกำลังเด่นไม่แพ้เพื่อนร่วมสายอย่าง โคลอมเบีย, ไอวอรี โคสต์ และกรีซ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ทว่าพวกเขากลับทำผลงานอย่างน่าผิดหวังสวนทางขุมกำลังหลักที่ค้าแข้งในยุโรปเกินครึ่งทีม ไล่มาตั้งแต่เกมประเดิมแพ้ทีมจากแอฟริกา 1-2 แม้จะเสมอกรีซในนัดถัดมา ทว่าลมหายใจในการลุ้นเข้ารอบต่อไปก็มาจบสิ้นในเกมดวลกับชาติจากอเมริกาใต้ เพราะสิ้นเสียงนกหวีด 90 นาที ฮวน กวาร์ดาโด, ฮาเมส โรดริเกวซ และ แจ็คสัน มาร์ติเนซ (ยิง 2 ประตู) คือฮีโรพาโคลอมเบียบุกอัดญี่ปุ่นแบบรูป 4-1 ส่งให้ทีมของซัคเคโรนีเสียประตูด้วยสกอร์ห่าง 3 ประตู ซึ่งเป็นสถิติผลต่างมากที่สุดต่อจากเกมพ่ายบราซิลเมื่อฟุตบอลโลก 2006