เอเชีย ฟุตบอลญี่ปุ่น

WELCOME HOME: แข้งซามูไรไปไม่สุด แต่กลับมาเปรี้ยงในเจลีก

การค้าแข้งบนลีกสูงสุดในทวีปยุโรป ล้วนแต่ความใฝ่ฝันของเหล่านักฟุตบอลหลายคนจากทั่วทุกมุมโลก นั่นเป็นเพราะภูมิภาคดังกล่าวเต็มไปด้วยนักเตะฝีเท้าดีมารวมตัวเผชิญแข้งกัน ผ่านระบบลีกที่มีความเป็นมืออาชีพสูง อันจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ความเป็นมืออาชีพ และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาฝีเท้าให้โดดเด่นได้ไม่ยาก

นักฟุตบอลจากแดนอาทิตย์อุทัยนับเป็นอีกหนึ่งชาติที่มีนักเตะจำนวนหนึ่งมีโอกาสได้โลดแล่นตามความฝันดังกล่าว ซึ่งหลายคนประสบความสำเร็จอยู่รับใช้สโมสรหลายสโมสรเป็นเวลานาน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จกับทีม ในขณะเดียวกันก็มีนักเตะหลายคนที่ไปไม่สุดกับลีกระดับแข็ง จนต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ในลีกแดนซามูไรอันเป็นบ้านเกิดของตนเองอีกครั้ง ก่อนจะเริ่มกลับมาทำผลงานได้ดีบนเวทีการแข่งขันบ้านเกิดเมืองนอน จนลบล้างภาพความทรงจำในยุโรปเป็นบทเรียนสอนใจให้กลับมาทำผลงานได้ดีอีกครั้ง และนี่คือ 10 แข้งซามูไรที่ฟอร์มกลับมาเปรี้ยงอีกครั้งในบ้านเกิด

กดเลื่อนลูกศรด้านขวาเพื่ออ่านหัวข้อถัดไป

1. ทาดานาริ อี

จากพื้นเพชาวเกาหลีใต้ที่มาตั้งรกรากในญี่ปุ่น กอปรกับการที่มีบิดาเป็นนักฟุตบอลอาชีพสมัยที่ระบบลีกอาชีพแบบเดิม ส่งผลให้ทาดานาริ อี เรียนรู้ศาสตร์ลูกหนังและวัฒนธรรมฉบับซามูไรขนานแท้จนมีโอกาสได้ลงเล่นระบบลีกอาชีพครั้งแรกในขณะที่มีอายุเพียง 20 ปีกับสโมสรเอฟซี โตเกียว ก่อนจะพัฒนาฝีเท้าจนมีโอกาสไปกอบโกบความสำเร็จกับคาชิวา เรย์โซล, ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา ทีมที่มีโอกาสคว้าตำแหน่งรองแชมป์เจลีกคัพร่วมกันเมื่อปี 2010 จนมีโอกาสย้ายไปโลดแล่นในต่างแดนหนแรกกับทีมนักบุญแดนใต้อย่าง เซาท์แธมป์ตัน ในเดอะ แชมเปียนชิพ เมื่อซีซัน 2011-12

ดาวเตะเจ้าของส่วนสูง 182 เซนติเมตรอยู่สานความสำเร็จกับสโมสรตอนใต้แดนผู้ดีหลังมีส่วนพาทีมเลื่อนชั้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีก พร้อมผลงานลงสนาม 7 นัดซัด 1 ประตู อย่างไรก็ดี กับระบบลีกอาชีพระดับท็อป เขาเริ่มไม่ได้โอกาสลงสนามอีกเลยในเกมลีก ก่อนจะตัดสินใจกลับมาค้าแข้งในบ้านเกิดอีกครั้งกับอูราวะ เรดส์ ไดมอนส์ ในปี 2014 จนกลับมากู้ชื่อแจ้งเกิดอีกครั้ง ซึ่งในขณะนี้หอกดีกรีทีมชาติญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของทีมทั้งในเจ1ลีก รวมถึงลุ้นคว้าแชมป์เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีกกับทีมด้วย

2. มิตสุโอะ โอกาซาวาระ

อดีตมิดฟิลด์ดีกรีทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ 55 นัด อยู่กอบโกยความสำเร็จกับสโมสรคาชิมา อันท์เลอร์สมาตั้งแต่ปี 1998 ในขณะที่มีอายุเพียง 21 ปี ก่อนจะเริ่มก้าวมาเป็นตัวหลักของทีมอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2000 จากความสำเร็จทั้งการพาทีมซิวแชมป์รวมกันได้ถึง 8 รายการ แบ่งเป็นความสำเร็จจากการซิวแชมป์ลีกถึง 3 สมัย รวมถึงโทรฟีส่วนตัวอีกถึง 6 สมัย นอกจากนี้เจ้าตัวยังก้าวขึ้นไปเป็นอีกหนึ่งกองกลางระดับท็อปของเกาะญี่ปุ่น จนมีชื่อติดทีมชาติลุยเวิลด์คัพทั้งปี 2002 และ 2006 มาแล้ว

หลังทัวร์นาเมนต์เวิลด์คัพที่เยอรมันในปี 2006 สิ้นสุดลง โอกาซาวาระตัดสินใจครั้งสำคัญในเส้นทางลูกหนัง หลังตกลงย้ายไปร่วมทีมเมสซีนา ทีมในกัลโช เซเรีย อา (ในขณะนั้น) ด้วยสัญญายืมตัว 1 ฤดูกาล ทว่าเมื่อก้าวมาเล่นในลีกระดับท็อปของยุโรป ดาวเตะจากจังหวะอิวาเตะได้โอกาสลงสนามในเกมลีกเพียง 6 เกมเท่านั้น ท้ายสุดทีมจบอันดับบ๊วยของตาราง ร่วงสู่เวทีเซเรีย บีทันที ซึ่งเมื่อหมดสัญญาเขาก็กลับมาสานความสำเร็จกับกวางเขาเหล็กอีกครั้ง

โอกาซาวาระยังคงเป็นแกนหลักของอันท์เลอร์สอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนจะเป็นช่วงพีคของเส้นทางค้าแข้งอย่างแท้จริง เพราะในการร่วมทีมคำรบสองนั้น เจ้าตัวมีโอกาสพาทีมโกยความสำเร็จคว้าแชมป์ลีกเพิ่มอีก 4 สมัย ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วเขาช่วยทีมคว้าแชมป์รวมทุกรายการมากถึง 13 รายการ พร้อมซิวรางวัลเกียรติยศส่วนตัวอีกถึง 3 รายการ โดย 2 ใน 3 คือการคว้าแข้งทรงคุณค่าของเจลีก และนักเตะญี่ปุ่นยอดเยี่ยมประจำปี 2009 และในขณะนี้เขายังคงมีชื่อกับอันท์เลอร์สสำหรับโอกาสลุ้นคว้าแชมป์เจ1ลีกสมัยที่ 8 ร่วมกับทีมเช่นเดิม

3. โฮตารุ ยามางุจิ

กองกลางวัย 27 ปี เป็นอีกหนึ่งผลผลิตชิ้นงามจากทีมเยาวชนของสโมสรจิ้งจอกแห่งโอซาก้า โดยเจ้าตัวก้าวขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่เมื่อปี 2009 ก่อนจะกลายมาเป็นแกนหลักของทีมนับตั้งแต่นั้นมา และได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันทีมตั้งแต่ปี 2014 ลงเล่นให้ทีมไป 129 นัดยิงได้ 11 ประตู ที่แม้จะต้องร่วงสู่เวทีเจทูในปีนั้น

ทว่าด้วยฝีเท้าที่จัดจ้าน และดูโดดเด่นในแผงกองกลางของทีม อีกทั้งยังพกดีกรีมีชื่อติดทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ไปแล้ว ส่งผลให้ยามางุจิ ที่ในขณะนั้นอายุ 25 ปี ถูกทีมในเยอรมัน ที่มักจะมีนักเตะเลือดบูชิโดหลายคนอยู่ค้าแข้ง และส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ โดยเจ้าตัวถูกฮันโนเวอร์ 96 หมายปองที่จะดึงไปเสริมทัพกู้วิกฤตรอดตกชั้น

อดีตเด็กสร้างจากระบบเยาวชนเซเรโซรายนี้ย้ายมาค้าแข้งในเมืองเบียร์เมื่อเดือนมกราคม 2016 แต่กลับได้โอกาสลงสนามไปเพียงแค่ 6 นัดเท่านั้น เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจมูกหักหลังร่วมทัพซามูไนบลูชุดใหญ่เมื่อเดือนมีนาคมปีนั้น และต้องอยู่พักรักษาอาการ ชวดลงสนามให้ต้นสังกัด จนท้ายสุดฮันโนเวอร์ก็ไม่อาจอยู่รอดปลอดภัยบนลีกสูงสุด หลังจบอันดับสุดท้ายในฤดูกาล 2015-16

หลังจากนั้นดาวเตะทีมชาติญี่ปุ่นรายนี้ก้ตัดสินใจกลับมาค้าแข้งกับทีมที่ปลุกปั้นตนเองขึ้นมาอีกครั้งอย่างเซเรโซ ก่อนจะพาทีมกลับมาเล่นบนเวทีเจ1ลีกอีกครั้งในปี 2017 นี้และปัจจุบันเขายังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญในแดนกลางให้กับทีม ช่วยทีมเกาะกลุ่มหัวตารางอย่างเหนียวแน่น และสามารถพาทีมคว้าแชมป์เจลีกคัพ 2017 โทรฟีบอลถ้วยใบแรกในประวัติศาสตร์สโมสร รวมถึงการก้าวขึ้นมาเป็นแกนหลักของทีมชาติญี่ปุ่นไปแล้ว

4. ยูกิ อาเบะ

หลังจากที่เลสเตอร์ ซิตี้ ได้กลุ่มทุนจากประเทศไทยอย่าง คิงส์ พาวเวอร์ เข้ามาทำหน้าที่เป็นเจ้าของ บริหารทีม เดอะ ฟ็อกส์พันธุ์ไทยตัดสินใจคว้ายอดดาวเตะตัวตัดเกมจากอูราวะ เรดส์ ไดมอนส์ มาเสริมแผงกลางให้ดูแน่นขึ้นด้วยสัญญา 3 ปีในเวทีเดอะ แชมเปียนชิพ ฤดูาล 2010-11

มิดฟิลด์จากแดนซามูไรกลายเป็นตัวหลักในถิ่นคิงส์ พาวเวอร์ สเตเดียมทันทีที่ย้ายมาร่วมทีม แต่มีส่วนสำคัญในการพาทีมจบอันดับ 10 ผ่านผลงานลงสนาม 40 นัด ซัด 1 ประตู รวมถึงในซีซันต่อมาที่แม้จะไม่ได้ลงเล่นเท่าปีแรก แต่เขาก็มีส่วนช่วยให้ทีมคว้าที่ 9 ของตาราง (ลงเล่น 19 นัด ยิง 1 ประตู)

อย่างไรก็ตาม เขากลับเกิดอาการโฮมซิกและตัดสินใจยกเลิกสัญญากับสโมสรที่เหลืออีก 1 ปีลงไป พร้อมรีเทิร์นกลับไปสวมเสื้อเรดส์ สโมสรที่ปลุกปั้นให้เขากลายเป็นแข้งระดับท็อปของลีกอีกครั้งในปี 2012 ก่อนจะยังคงมีชื่อลงสนามให้ทีมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมสถิติลงสนามรวมทุกรายการไปแล้วถึง 400 เกม และเมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งช่วยทีมซิวแชมป์เจลีกคัพ 2016 และซูรูกะ แบงก์ แชมเปียนชิพ 2017 มาหมาดๆ

5.โยอิจิโร คาคิตานิ

คาคิตานิมีโอกาสเข้าร่วมทีมเยาวชนของเซเรโซตั้งแต่อายุเพียง 4 ขวบ และใช้เวลาอีก 12 ปีต่อมาในการก้าวขึ้นมาติดทีมชุดใหญ่รุ่นเดียวกับชินจิ คางาวะ ทว่าด้วยอายุที่น้อยกว่าสตาร์ดอร์ทมุนด์เกือบปี ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรที่ได้รับสัญญาอาชีพ และกลายเป็นแนวรุกขวัญใจแฟนบอลทีมจากภูมิภาคคันไซนับแต่นั้นเป็นต้นมา

เด็กหนุ่มคาคิตานิเริ่มมีชื่อเป็นตัวจริงให้ทีมในปี 2007 สมัยที่โลดแล่นในเจทู และอยู่กับทีมมา 3 ซีซัน ก่อนจะเริ่มมีประพฤติด้วยการมาซ้อมสาย ที่สุดแล้วเขาถูกปล่อยให้โทคุชิมา วอร์ติส เพื่อนร่วมลีกยืมตัวออกไป ก่อนจะเริ่มกลับมารีดฟอร์มเก่งอีกครั้งจนเซเรโซดึงมากลับมารีเทิร์นทีมคำรบสอง และเมื่อกลับมาลงเล่นให้กับทีมอีกครั้ง เขาตอบแทนความไว้วางใจผลงานตลอด 3 ซีซันด้วยสถิติลงสนาม 103 เกม ทำได้ถึง 46 ประตู

จากนั้นเป็นเอฟซี บาเซิล ยอดทีมในลีกสวิส ที่ตัดสินใจดึงเขาไปร่วมทีม เมื่อฤดูกาล 2014-15 ลุ้นประสบความสำเร็จดั่งแข้งเลือดบูชิโดรายอื่นๆบนแผ่นดินยุโรป แต่แล้วก็ไปไม่รอด เขาไม่ได้รับการการันตีมีชื่อลงสนามทุกนัด อีกทั้งยังมีอาการบาดเจ็บเข้ามารบกวนอยู่บ้าง ทำให้ไม่มีชื่อติดทีมชาติญี่ปุ่นเช่นเคย ก่อนจะตัดสินใจกลับมาเล่นให้เซเรโซอีกครั้งในปี 2016 ในฐานะกัปตันทีมนำลูกทีมลงสนาม ก่อนจะมีส่วนสำเร็จช่วยทีมผงาดกลับมาเล่นในเจ1ลีกอีกครั้งในฤดูกาล 2017 และเพิ่งคว้าแชมป์เจลีกคัพ 2017 ไปหมาดๆ

6. ทาคาชิ อูซามิ

อดีตเพชรเม็ดงามวงการลูกหนังซามูไรบลูมีโอกาสเข้าร่วมทีมกัมบะ โอซาก้าชุดใหญ่ตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี ก่อนจะเริ่มสานผลงานเก่งเกินวัยไม่ว่าจะเป็นการยิงประตูในเกมที่พบกับเอฟซี โซล ในฟุตบอลเอเอฟซีแชมเปี้ยนส์ลีก รวมถึงการคว้าแชมป์เจลีกฤดูกาล 2010 ร่วมกับทัพเด็กสายฟ้า ชนิดที่เจ้าตัวเบียดตำแหน่ง 11 ตัวจริงขาประจำของกัมบะ เก็บสถิติยิง 11 ประตูจากการลงสนาม 37 นัด ก่อนที่บาเยิร์น มิวนิค ยอดทีมวงการลูกหนังเยอรมันจะตัดสินใจยืมตัวไปร่วมทีมด้วยสัญญา 1 ปี ในซีซัน 2011-12

เนื่องจากเสือใต้เป็นทีมยักษ์ใหญ่ และอุดมไปด้วยผู้เล่นแผงเกมรุกระดับท็อปของยุโรป ทำให้เด็กหนุ่มจากเกียวโตไร้โอกาสแจ้งเกิดกับทีม ส่วนใหญ่มักได้ลงเล่นกับทีมสำรอง โดยมีโอกาสได้ลงสนามในเกมลีกเพียง 3 นัด ก่อนจะถูกฮอฟเฟมไฮม์ดึงไปเสริมทีมต่อแม้เสือใต้จะยังอยากเก็บไว้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม ภายใต้ยูนิฟอร์มทีม อูซามิได้โอกาสลงสนามในเกมถึง 20 เกม แต่กลับมีสกอร์ให้ทีมเพียง 2 ประตูเท่านั้น กระทั่งมาร์คัส บับเบล เฮดโค้ชที่ให้โอกาสถูกปลดจากตำแหน่งหลังจบฤดูกาล เขาจึงตัดสินใจกลับมาเล่นให้กับกัมบะอีกครั้งในปี 2013

แม้จะอยู่ในเวทีเจทู แต่อูซามิไม่ลังเลที่จะกลับมาเล่นให้ทีมที่ปลุกปั้นตัวเองขึ้นมา ก่อนจะใช้เวลาเพียง 1 ซีซันในการคัมแบ็คสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง จากนั้นก็พาทีมคว้าแชมป์ลีกพ่วงบอลเจลีกคัพ และถ้วยจักรพรรดิในปี 2014 ได้ทันที อีกทั้งในปี 2015 อูซามิก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของกัมบะชุดคว้าถ้วยจักรพรรดิอีกสมัยและแชมป์ซูเปอร์คัพ ก่อนจะกลับไปพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในเยอรมันกับเอาก์สบวร์ก รวมถึงฟอทูนา ดุสเซลดอฟในปีปัจจุบัน แต่ก็ยังคงวนลูปเดิม นั่นคือยังไม่สามารถรีดฟอร์มเก่งสมัยอยู่กับทีมบ้านเกิดได้

7. โทโมอากิ มาคิโนะ

กองหลังตัวหลักทัพซามูไรบลูชุดปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งนักเตะที่มีโอกาสก้าวไปเล่นในเวทีบุนเดสลีก้าเฉกเช่นกับสตาร์ดังรายอื่นๆ กับเอฟซี โคโลญจน์ หลังทำผลงานโดดเด่นร่วมกับซานเฟรชเช ฮิโรชิมา ทีมบ้านเกิด จากผลงานมีชื่อลงสนามมากถึง 157 เกม ทั้งที่มีอายุเพียง 23 ปี ทว่ากับลีกอาชีพเมืองเบียร์ เขากลับไม่ประสบความสำเร็จนัก

มาคิโนะตัดสินใจมาค้าแข้งกับแพะบ้า ที่ในขณะนั้นมีลูคัส โพโดลสกี กองหน้าคนปัจจุบันของวิสเซล โกเบ ทำหน้าที่เป็นกัปตันทีม อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 2 ปีกับทีม เขากลับได้โอกาสลงสนามเพียง 8 เกมเท่านั้น ก่อนจะตัดสินใจโยกมาอยู่กับเรดส์ ในปี 2012 ด้วยสัญญายืมตัว จนเรียกฟอร์มเก่งกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้ง และโยกมาอยู่ถิ่นไซตามะ สเตเดียมถาวรในปีถัดมา และอยู่ยืนเป็นปราการหลังพันธุ์แกร่งให้ทีมมาจนฤดูกาลปัจจุบัน ทั้งยังมีลุ้นพาทีมซิวแชมป์เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีกในซีซัน 2017 อีกด้วย

8. โยชิโตะ โอคุโบะ

หลังแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการกับเซเรโซ โอซากา สโมสรแรกในเส้นทางค้าแข้งตั้งแต่อายุ 19 ปี ตั้งแต่ซีซัน 2001 โอคุโบะค่อยๆสั่งสมประสบการณ์ลูกหนังจนนำไปสู่การติดทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ในปี 2003 จนกระทั่งมีโอกาสโยกไปค้าแข้งในต่างแดนบนแผ่นดินกระทิงดุกับทัพชาวเกาะ เรอัล มาร์ยอกา เป็นเวลาถึง 2 ฤดูกาลด้วยกัน

ช่วงครึ่งฤดูกาลหลังของปี 2004-05 โอคุโบะมีโอกาสลงสนามให้มาร์ยอกาบนลีกสูงสุดของสเปนถึง 13 เกม พร้อมกับ 3 ประตู ก่อนที่ปีถัดมาจะได้โอกาสลงสนามบ่อยครั้งถึง 27 นัด ทว่ากับเปลี่ยนผลสกอร์ให้ทีมได้แค่ 3 ลูกเท่านั้น ก่อนจะตัดสินใจกลับมานับหนึ่งอีกครั้งกับ จิ้งจอกแหน่งโอซากา รวมถึงวิสเซล โกเบ กระทั่งตัดสินใจเลือกมาค้าแข้งในต่างแดนอีกหนกับโวล์ฟบวร์ก ร่วมกับเพื่อนร่วมทีมชาติอย่างมาโกโตะ ฮาเซเบะ และแม้จะอยู่กับทีมชุดคว้าแชมป์ลีกในปี 2008-09 ทว่าเขากลับไม่ได้ลงเป็นตัวจริงเฉกเช่นเพื่อนร่วมชาติ

จากสถิติลงเล่นแค่ 9 นัดรวมทุกรายการ ทำให้เขาตัดสินใจย้ายมาเล่นในบ้านเกิดอีกครั้งกับวิสเซล โกเบ, คาวาซากิ ฟรอนทาเล รวมทั้งเอฟซี โตเกียว ในปัจจุบัน ซึ่งการกลับมาแดนซามูไรในช่วงหลังนี้ โอคุโบะมีเกียรติยศส่วนตัวอย่างการคว้ารางวัล J1 League Top Scorer รวมถึง J. League Best Eleven อย่างละ 3 สมัยในปี 2013, 2014 และ 2015 เรียกได้ว่าเป็นการกลับมาฟอร์มเปรี้ยงในบ้านเกิดอย่างแท้จริง

9. โยชิคัตสึ คาวางุจิ

อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่นที่มีดีกรีผ่านสังเวียนเวิลด์คัพมาถึง 3 สมัย เป็นอีกหนึ่งแข้งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับค้าลงเฝ้าเสาในลีกบ้านเกิด ทว่ากับโอกาสโกอินเตอร์ค้าแข้งต่างแดน เขากลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามกับโยโกฮามา เอฟ มารินอส สโมสรที่ลงเฝ้าเสามากถึง 193 นัด รวมทั้งประสบความสำเร็จกับทีมชาติญี่ปุ่น อย่างแชมป์เอเชียนคัพ ปี 2000 ทำให้นายทวารจากชิสุโอกะมีโอกาสโยกไปค้าแข้งบนเวทีลีกอังกฤษกับพอร์ทสมัธ ในระดับลีกรองเป็นเวลาถึง 2 ฤดูกาล แต่กลับได้โอกาสลงเล่นเพียง 12 นัดเท่านั้น

เมื่อไม่สามารถแจ้งเกิดกับปอมปีย์ เขาตัดสินใจลองเผชิญเส้นทางอาชีพในดินแดนสแกนดิเนเวียกับ นอร์ดเยลลันด์ ที่ประเทศเดนมาร์กดูบ้าง แต่สุดท้ายก็ยังคงวนลูปเดิมคือแทบไม่ได้ลงสนามให้ทีมเลย โดยตลอดเวลา 2 ปีกับทีมแดนโคนม คาวางุจิได้เฝ้าเสาเพียง 8 เกมเท่านั้น ก่อนจะตัดสินใจกลับมาอยู่กับจูบิโล อิวาตะ ทีมในบ้านเกิดอีกครั้ง และอยู่โยงเฝ้าเสาให้ทีมเป็นเวลาถึง 9 ฤดูกาล มีส่วนสำเร็จพาทีมซิวแชมป์ลีกคัพได้ 1 สมัยในปี 2010 พร้อมสถิติลงเฝ้าเสาให้ทีมมากถึง 253 เกมเลยทีเดียว

10. คาซูโยชิ มิอุระ

ศูนย์หน้ามากประสบการณ์ที่เพิ่งจะทำสถิติเป็นนักเตะอายุมากที่สุดที่ลงสนามในเวทีเจลีกด้วยวัย 50 ปีกับ 27 วัน รวมถึงเพิ่งทำลายสถิติของตัวเองในฐานะนักเตะอายุมากที่สุดที่ทำประตูได้ในเกมแข่งขันระดับอาชีพ เริ่มเดินทางบนถนนสายลูกหนังเมื่อปี 1982 การจากตัดสินใจไปฝึกฟุตบอลที่บราซิล เมื่อตอนอายุ 15 ปี ก่อนจะเลือกกลับมาลงเล่นในลีกอาชีพบ้านเกิดกับสโมสร เวอร์ดี้ คาวาซากิ ในปี 1990 พ่วงกับการติดทีมชาติชุดใหญ่ในเวลานั้น ก่อนจะพาทั้งสโมสรคว้าแชมป์รวมกันถึง 9 รายการ รวมถึงพาซามูไรบลูซิวแชมป์เอเชียคัพ ปี 1992 จนถูกเจนัว แสดงความสนใจดึงไปเสริมทีมในสัญญายืมตัว 1 ฤดูกาลเมื่อปี 1994-95

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้โอกาสลงเล่นในลีกแดนมะกะโรนี คิงคาซูกลับไม่สามารถแจ้งเกิดได้ หลังโอกาสลงสนามในลีก 20 นัด เขาทำได้เพียง 1 ประตูเท่านั้น ก่อนจะกลับมาอยู่สานความสำเร็จกับเวอร์ดี้ คาวาซากิต่ออีก 3 ปี และเลือกกลับไปพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในยุโรปกับดินาโม ซาเกร็บ ในโครเอเชีย แม้จะคว้าแชมป์ลีกสูงสุดแดนตราหมากรุกได้ในปีนั้น (1998-99) ทว่าเขาก็ยังไม่ได้การันตีลงสนามเป็นตัวจริง จากโอกาสลงเล่นเพียง 12 เกม และทำประตูไม่ได้เลย

จากนั้นเจ้าตัวเลือกกลับมาอยู่กับอีกหลายทีมในบ้านเกิด ไม่ว่าจะเป็นเกียวโตะ ซังกะ, วิสเซล โกเบ รวมถึง โยโกฮามา เอฟซี มาจนถึงปัจจุบันด้วยวัยที่ล่วงเลยมาถึง 50 ปี และยังคงไม่มีวี่แววจะเลิกเล่นแต่อย่างใด