เอเชีย ฟุตบอลไทย

TRIBE LIST: 10 ตำนานเพลย์เมกเกอร์เอเชีย

การที่ทีมหนึ่งทีมจะมีโอกาสในการสร้างสรรค์เกมรุกที่ดี มีจังหวะสวยๆในการทำประตู จำเป็นจะต้องมีทั้งระบบทีมที่ยอดเยี่ยม รวมไปถึงความเข้าใจกันของผู้เล่นในแนวรุก และผู้เล่นในตำแหน่ง ‘เพลย์เมกเกอร์’ ที่ถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเกมในสนามให้มีประสิทธิภาพที่สุด

Football Tribe Thailand ขออาสาพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับ 10 ยอดแข้งเพลย์เมกเกอร์แห่งเอเชียในตำนาน ที่แต่ละคนต่างเป็นนักเตะที่มีชื่อเสียงในระดับโลกกันทั้งนั้น

 

กดลูกศรทางขวามือเพื่อร่วมติดตามไปกับเรา

 

นาชาด อะครามห์ | อิรัก  

นอกจากแฟนบอลชาวอิรักให้การยกย่องว่าฮุสเซน ซาอีด และ  ยูนิส มะห์มูด  คือ 2 นักเตะคนสำคัญแห่งทัพสิงโตแห่งเมโสโปเตเมียที่ดีที่สุดตลอดกาลของวงการฟุตบอลอิรักแล้ว นักเตะชาวอิรักอีกหนึ่งคนที่ถูกเอ่ยถึงอยู่บ่อยครั้ง และมีฝีเท้าที่โดดเด่นไม่ต่างไปจาก 2 รายแรก

ในฐานะนักเตะตำแหน่งกองกลางตัวรุก ผู้ที่คว้ารางวัลพร้อมกับเกียรติประวัติส่วนตัวมากมายทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติมากกว่า 20 รางวัล พร้อมกับการเป็นนักเตะชาวอิรักคนแรก ที่มีโอกาสโลดแล่นอยู่บนเวทีฟุตบอลลีกของฮอลแลนด์มาแล้ว

รวมไปถึงการที่ครั้งหนึ่ง เจ้าตัวเกือบจะได้ลงเล่นในเวทีระดับพรีเมียร์ลีกอังกฤษอยู่แล้ว ทว่ากลับติดปัญหาเรื่องใบขออนุญาตทำงานในสหราชอาณาจักร เนื่องจากอันดับโลกของทีมชาติอิรักในขณะนั้น ไม่ได้อยู่ในอันดับของประเทศที่สามารถลงเล่นในลีกแดนผู้ดีได้อัตโนมัติในปี 2008 (อิรักอยู่อันดับต่ำกว่า 70 ของโลก) รวมไปถึงการประกาศแขวนสตั๊ดด้วยเหตุผลที่ตนกำลังจะได้เป็นพ่อคน หลังภรรยาของเจ้าตัวคลอดบุตร ในเดือนเมษายน ปี 2015 ด้วยวัยเพียง 31 ปีเท่านั้น

โดยอดีตห้องเครื่องชาวอิรักรายนี้ เริ่มต้นการค้าแข้งกับสโมสรดังในลีกบ้านเกิดอย่าง อัล ซอร์ตา ในช่วงปี 2000 – 2003  ก่อนจะพเนจรตระเวนค้าแข้งอยู่ตามแถบลีกในแถบตะวันออกกลางอยู่หลายประเทศด้วยกัน และแม้จะไม่ค่อยอยู่รับใช้ต้นสังกัดไหนนานเท่าที่ควร แต่เจ้าตัวก็มักจะพาทีมคว้าโทรฟี่แชมป์ได้เสมอ สถิติ 5 แชมป์จาก 4 สโมสรเลยทีเดียว

อะครามห์ มีโอกาสได้ลงสนามให้กับทัพ “สิงโตแห่งเมโสโปเตเมีย” เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2001 ก่อนจะโชว์ฟอร์มเจิดจรัส ด้วยการพาทีมประสบความสำเร็จทั้งในแถบดินแดนตะวันออกกลางและนานาชาติเป็นว่าเล่น  โดยเกียรติยศสุงสุดของเจ้าตัวคือการคว้าอันดับ 4 ศึกโอลิมปิกปี 2004 ที่กรีซ ไปจนถึงการผงาดคว้าแชมป์เอเชียน คัพ ปี 2007 ได้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ โดยมีสถิติการลงสนามในนามทีมชาติอยู่ที่ 113 นัด ทำได้ 17 ประตู

 

อิสมาอิล มาตาร์ | ยูเออี   

เชื่อเหลือเกินว่า ไม่มีแฟนบอลทั้งในยูเออีเองหรือชาติในกลุ่มตะวันออกกลางคนใดที่ไม่รู้จักยอดมิดฟิลด์ตัวปั้นเกมชื่อดังอดีตดาวเตะเจ้าของฉายา “โกลเด้นบอยแห่งยูเออี” จากการคว้ารางวัลโกลเด้นบอลจากศึกฟุตบอลยู20 ชิงแชมป์โลกปี 2003 ดาวเตะผู้ที่อยู่รับใช้ยูเออีชุดใหญ่มาตั้งแต่ช่วงปี 2003 ในขณะที่อายุเพียง 20 ปีเท่านั้น พร้อมการพายูเออีประสบความสำเร็จด้วยการคว้าแชมป์กัลฟ์ คัพ 2 สมัยในปี 2007 และ 2013 รวมไปถึงการคว้าเกียรติประวัติส่วนตัวด้วยการคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมและดาวซัลโวสูงสุดฟุตบอลรายการกัลฟ์ คัพปี 2007 ด้วยการทำไป 5 ประตูการลงสนาม 5 นัดมาแล้ว

อิสมาอิล มาตาร์ ยอดเพลย์เมกเกอร์ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของอัล เวห์ดา สโมสรชื่อดังในศึกยูเออี โปรลีก อยู่รับใช้ต้นสังกัดมาตั้งแต่ช่วงฤดูกาล 2001 – 2002 ในขณะที่อายุเพียง 19 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่อยู่กับอัล เวห์ดา อิสมาอิลพาต้นสังกัดคว้ามาแชมป์ลีกมาแล้วถึง 3 สมัย (ฤดูกาล 2000 – 2001, 2004 – 2005 และ 2009 – 2010), แชมป์ยูเออี ซุปเปอร์คัพ 2 สมัย ในปี 2002 และ 2011 มาแล้ว โดยมีสถิติการลงสนามให้กับทีมอยู่ที่ 231 นัด ทำไป 85 ประตู และสถิติดังกล่าวน่าจะมีเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากในวัย 32 ปี เจ้าตัวยังคงอยู่เล่นฟุตบอลได้อีกช่วงเวลาหนึ่ง และยังไม่มีวี่แววที่จะแขวนสตั๊ดนั่นเอง

นอกจากนี้ ในปี 2009 เจ้าตัวถูกอัล ซาดด์ ทีมในลีกกาตาร์ยืมตัวไปใช้งานในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายและรอบ 4 ทีมสุดท้ายศึกฟุตบอลถ้วยในประเทศ ก่อนจะตกรอบ 4 ทีมสุดท้ายด้วยการพ่ายจุดโทษต่ออัล กาห์ราฟาไป 6 – 7 พลาดพาทีมคว้าแชมป์บอลถ้วยในปีดังกล่าวได้ ซึ่งเจ้าตัวทำ 1 ประตู จากการลงสนามทั้ง 2 เกมได้อีกด้วย

 

เซอร์เวอร์ เยปารอฟ อุซเบกิสถาน  

หากจะหายอดเพลย์เมกเกอร์ที่มีฝีเท้าเด็ดดวงที่สุดคนหนึ่งในอุซเบกิสถาน ชื่อของเซอร์เวอร์ เยปารอฟ จะต้องถูกพูดถึงขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆได้อย่างไม่ต้องสงสัย

เขาเป็นอีกหนึ่งนักเตะผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลของชาวอุซเบกิสถาน ผู้ที่ติดทีมชาติมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากธิเมอร์ คาปัดเซ นายทวารระดับตำนานของทีม โดยมีสถิติการลงสนามอยู่ที่ 112 นัด ทำได้ถึง 24 ประตู

เยปารอฟ เริ่มต้นอาชีพนักฟุตบอลในปี 1997 ด้วยวัย 15 ปี กับทีมเยาวชนของนาฟบาฮอร์ นามันกาน สโมสรระดับกลางในอุซเบลีก และไต่เต้าขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ในปี 2000 ก่อนจะโชว์ฟอร์มได้อย่างโดดเด่นจนไปเข้าตา ปัคตากอร์ ทาชเคนต์ สโมสรยักษ์ใหญ่ร่วมลีก ที่ไม่รอช้าจัดการกระชากตัวเยปารอฟร่วมทีมทันที หลังจากที่เจ้าตัวลงเล่นฟุตบอลระดับอาชีพเพียง 1 ปี ก่อนจะอยู่โยงกับทีมยาวนานถึง 6 ปีด้วยกัน พร้อมกับการพาทีมคว้าแชมป์ลีกและแชมป์ฟุตบอลถ้วยในประเทศ ได้อย่างละ 6 สมัยติดต่อกัน โดยมีสถิติการลงเล่นอยู่ที่ 96 นัด ทำได้ 64 ประตูในฐานะกองกลางตัวรุก

จากนั้น เจ้าตัวถูกบุนยอดคอร์ ดึงตัวไปร่วมทีม เพื่อเป็นกำลังสำคัญของทีมในการลุยศึกเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก แม้จะไม่ประสบความสำเร็จบนเวทีระดับเอเชียมากนัก แต่เจ้าตัวกลับพาทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของอุซเบกิสถานติดต่อกันอีก 2 ปี ก่อนจะโยกไปค้าแข้งในต่างแดนกับทีมเอฟซี โซล, อัล ชะบ๊าบ และ ซองนัม เอฟซี พร้อมคว้าแชมป์ 4 รายการจาก 3 สโมสรที่ลงเล่นได้อีกด้วย

อนึ่ง ในช่วงระหว่างปี 2008 – 2009 หลังเยปารอฟเพิ่งคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของทวีปเอเชียมาหมาดๆ ในปี 2008 (ได้อีก 1 สมัยในปี 2011) เจ้าตัวถูกเชลซี สโมสรในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เชิญไปทดสอบฝีเท้า และทำผลงานเป็นที่พอใจ จนเกือบจะมีการเซ็นสัญญาร่วมทีมมาแล้ว เนื่องจากบุนยอดคอร์ไม่ยอมปล่อยตัวออกมา เนื่องจากทีมกำลังเข้าสู่รอบลึกๆในเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก และกำลังไล่ล่าแชมป์ลีกในประเทศคืนจากปัคตากอร์ ทาชเคนต์ต้นสังกัดเก่าของเจ้าตัวในเกมลีกชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร

แต่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลอุซเบกิสถานเลยทีเดียว

 

คิม จู ซุง | เกาหลีใต้  

มาจนถึงทุกวันนี้ ยังคงไม่มีแข้งชาวเอเชียคนใดที่ทำลายสถิติการคว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของเอเชีย 3 สมัยติดต่อกันของ คิม จู ซุง ยอดเพลย์เมกเกอร์ชาวเกาหลีใต้ลงได้เสียที

โดยสถิติดังกล่าวของ นักเตะทีมชาติเกาหลีใต้ ที่เส้นทางการค้าแข้งอยู่ในช่วงระหว่างปี 1987 – 1999 เกิดขึ้นในปี 1989, 1990 และ 1991 ตามลำดับ โดยเกิดขึ้นจากการเป็นกำลังสำคัญของแดวู รอยัล หรือปูซาน ไอพาร์คในปัจจุบัน ด้วยการพาทีมคว้าแชมป์เคลีกได้ถึง 2 ใน 6 ฤดูกาลที่เจ้าตัวลงเล่นให้กับทีมรวมถึงการคว้าอันดับ 2 ในช่วงเวลาดังกล่าวได้

ในช่วงเวลาขณะนั้น มีแข้งเอเชียน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ลงเล่นในเวทีระดับยุโรป และคิม จู ซุง ถือเป็นหนึ่งแข้งที่ได้รับโอกาสนี้ โดยเจ้าตัวย้ายจากแดวู รอยัล มายังเวทีลูกหนังเมืองเบียร์กับทีมโบคุ่ม ในช่วงระหว่างปี 1992 – 1994 ซึ่งในปีแรกในเยอรมัน เจ้าตัวไม่อาจพาทีมรอดพ้นจากการตกชั้นจากลีกสูงสุดแดนเบียร์ได้ ก่อนจะโชว์ฟอร์มสมราคาที่โบคุ่มจัดการดึงตัวมาร่วมทีมด้วยการพาทีมเลื่อนชั้นกลับสู่บุนเดสลีกาทันทีที่ตกชั้นเพียง 1 ฤดูกาล โดยมีสถิติการลงสนามช่วยทีมไปทั้งสิ้น 35 นัด ทำได้ 4 ประตู รวมทุกรายการ

แม้คิม จู ซุง จะไม่ใช่นักเตะที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกรู้จักมากนัก แต่ในฐานะอดีตแข้งเอเชียคนแรกที่คว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปี 3 สมัยติดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้เจ้าตัวถือเป็นอีกหนึ่งแข้งขวัญใจของแฟนฟุตบอลชาวเกาหลีใต้ไม่ต่างไปจากแข้งชื่อดังรายอื่นๆทั้งในอดีตและปัจจุบันเลยแม้แต่น้อย

อาลี คาริมี่ | อิหร่าน

อีกหนึ่งเพลย์เมกเกอร์คนสำคัญแห่งทัพ ‘เจ้าชายแห่งเปอร์เซีย’ หรือทีมชาติอิหร่าน ที่เคยผ่านการเล่นกับสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ของทวีปยุโรปอย่าง ‘เสือใต้’ บาร์เยิร์น มิวนิค มาแล้ว กลายเป็นอีกหนึ่งยอดแข้งเอเชียในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรุกที่แฟนฟุตบอลพันธุ์แท้หลายคนไม่มีใครไม่รู้จักเจ้าตัว

คาริมี่ เริ่มต้นอาชีพนักเตะกับสโมสร ฟาธ เตหะราน สโมสรฟุตบอลในลีกประเทศอิหร่าน ก่อนจะพัฒนาฝีเท้าของตนเอง จนเปอร์เซโปลิส สโมสรยักษ์ใหญ่ร่วมลีก จัดการเซ็นสัญญาคว้าเจ้าตัวไปร่วมทีมในปี 1998 และพาทีมคว้าแชมป์ลีก 2 สมัย, คว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วย 1 สมัยมาครองได้อย่างยิ่งใหญ่ในระยะเวลาเพียง 2-3 ปีที่ย้ายมาร่วมทีม

นอกจากนี้ คาริมี่ ยังเคยค้าแข้งกับหลายทีมในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็น อัล อาห์ลี ในช่วงระหว่างปี 2001 – กลางปี 2005, กาตาร์ เอสซี ในปี 2007-2008 ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่การกลับมายังเปอร์เซโปลิสอีกครั้งในช่วงปลายปี 2008 – 2009 แต่สำหรับชีวิตการค้าแข้งที่น่าจดจำที่สุดสำหรับเจ้าตัว นั่นคือการเล่นในระดับเวทีบุนเดสลีกากับบาร์เยิร์น มิวนิคถึง 2 ฤดูกาลเลยทีเดียว

โดยคาริมี่ กลายเป็นแข้งอิหร่านในทัพเสื้อใต้รายที่ 3 ต่อจาก อาลีห์ ดาอี และ ฮาชิเมียน โดยลงสนามในสีเสื้อบาร์เยิร์นไปทั้งสิ้น 40 นัด ทำได้ 4 ประตู รวมทุกรายการ โดยมีแมตช์ที่น่าจดจำคือเกมยูฟ่า แชมป์เปี้ยนส์ลีก ที่เจ้าตัวพังประตูแรกให้กับทีมได้ในเกมที่พบกับออสเตรีย เวียนนา ในฤดูกาล 2005 – 2006  

ด้านผลงานในระดับชาติ เจ้าตัวติดทีมอิหร่านมาตั้งแต่ปี 1998 แต่ผลงานสร้างชื่อที่สุดของเจ้าตัวคือการพาทีมคว้าอันดับ 3 ศึกเอเชี่ยน คัพ ปี 2004 โดยในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว คาริมี่ทำได้ถึง 5 ประตู รั้งตำแหน่งดาวซัลโวประจำทัวร์นาเมนต์ อีกทั้งในปีดังกล่าว(2004) ยอดเพลย์เมกเกอร์ชาวอิหร่านรายนี้ ยังคว้ารางวัลนักเตะเอเชียยอดเยี่ยมมาครองได้อีกด้วย โดยเจ้าตัวอยู่รับใช้อิหร่านมากถึง 127 นัด ทำได้ 38 ประตูเลยทีเดียว

ชุนซุเกะ นาคามูระ | ญี่ปุ่น

แฟนฟุตบอลทั่วโลกคงไม่มีใครไม่รู้จักดาวเตะแดนปลาดิบเจ้าของฉายา “เจ้าพ่อลูกนิ่งแห่งแดนซามูไร” หรือ ชุนซุเกะ นากามูระ อดีตห้องเครื่องคนสำคัญของทีมชาติญี่ปุ่น ที่ผ่านการเล่นกับหลายสโมสรในทวีปยุโรป ไม่ว่าจะเป็น เรจจินา, เซลติก และเอสปันญ่อลมาแล้ว

โดยนาคามูระ เริ่มก้าวขึ้นมาเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของ โยโกฮามา เอฟ มารินอส เมื่อปี 1997 และทำได้ทั้งหมด 32 ประตูจากการลงสนาม 146 นัด รวมทั้งผงาดคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าของ เจลีก ในปี 2000 จากนั้น เจ้าตัวตัดสินใจย้ายมาค้าแข้งในทวีปยุโรปกับทีม เรจจิน่า โดยเจ้าตัวจัดการยิงประตูใส่ตาข่ายคู่แข่งในลีกสูงสุดแดนมะกะโรนี ได้ 11 ประตู จากการลงสนาม 81 นัด

ก่อนที่จะย้ายมาหาความท้าทายใหม่ในดินแดนวิสกี้กับ กลาสโกว์ เซลติก ในช่วงระหว่างปี 2005 – 2009 และกลายเป็นแข้งขวัญใจแฟนบอลเซลติกได้ไม่ยาก จากจุดเด่นของเจ้าตัวที่มักจะทำประตูได้จากลูกฟรีคิกทั้งระยะใกล้และไกล โดยเจ้าตัวอยู่ซัดประตูในสีเสื้อเซลติกไปถึง 34 ประตู จากการลงสนาม 166 นัด พร้อมกันกับการคว้าแชมป์กับทัพม้าลายเขียวขาวได้ถึง 6 รายการ (แชมป์ลีก 3 สมัย, แชมป์บอลถ้วย 1 สมัย และแชมป์ลีกคัพ 2 สมัย) เลยทีเดียว

จากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุด นากามูระล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการไปค้าแข้งในแดนกระทิงดุกับเอสปัลญ่อล ฤดูกาล 2009 – 2010 ลงสนามช่วยทัพนกแก้วไป 15 นัด และทำประตูไม่ได้เลย พร้อมกับการโยกกลับมาค้าแข้งทีมที่เคยปลุกปั้นเจ้าตัวให้มีชื่อเสียงอีกครั้งกับ โยโกฮามา เอฟ มารินอส ในปี 2010 มาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน นาคามูระ ยังคงวาดลวดลายโชว์ฝีเท้าอยู่บนสังเวียนนิสสัน สเตเดี้ยม กับจูบิโล อิวาตะ พร้อมกับการยิงลูกฟรีคิกสวยๆให้เห็นอยู่เสมอ  แม้จะอายุมากถึง 39  ปีแล้วก็ตาม

ทิม เคฮิลล์  | ออสเตรเลีย

นับตั้งแต่ทีมออสเตรเลีย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) เมื่อช่วงปี 2006 พร้อมกับการมีนักเตะชื่อดังมากมายในทีมที่ค้าแข้งในดินแดนยุโรปที่คอยผลัดเปลี่ยนกันตามกาลเวลาอยู่เสมอ ทว่า ออสเตรเลียกลับมีนักเตะลูกครึ่งอเมริกันซามัวร์ออสเตรเลียนามว่าทิม เคฮิลล์  ดาวเตะคนสำคัญที่มีสถิติการทำประตูในนามทีมชาติสูงสุด ด้วยจำนวน 45 ประตู จากการลงสนาม 88 นัดที่แม้ในขณะนี้จะมีอายุถึง 36 ปีแล้วก็ตาม แต่เจ้าตัวยังคงไม่ปิดโอกาสเล่นในนามทีมชาติ และพร้อมจะรับชาติอยู่เสมอ

หลังพามิลล์วอลล์ ทีมในระดับแชมเปียนส์ชิพ อังกฤษ สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการผ่านเข้าสู้รอบชิงชนะเลิศ ศึกฟุตบอลเอฟเอ คัพฤดูกาล 2003 – 2004 พร้อมสิทธิ์ลงเล่นในฟุตบอลเวทีระดับยุโรปอย่างยูฟ่า คัพ หรือยูโรปาลีกในปัจจุบันได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร แม้จะพ่ายต่อแมนฯ ยูไนเต็ดในรอบดังกล่าวไปถึง 0 -3 ก็ตาม

แต่ด้วยฟอร์มอันจัดจ้านของเคฮิลล์ที่ดูเหมือนว่าเวทีลีกพระรองแดนผู้ดี จะไม่ใช่พื้นที่ของเจ้าตัวอีกต่อไป ซึ่งหลังจบฤดูกาลดังกล่าว เป็นเอฟเวอร์ตันในสมัยที่มีเดวิด มอยส์คุมทีมไม่รอช้าที่จะจัดการคว้าตัวเด็กหนุ่มจากซิดนีย์รายนี้มาร่วมทัพทันที

และเคฮิลล์ก็ไม่ได้ทำให้เอฟเวอร์ตันต้องผิดหวังเลยแม้แต่น้อย หลังกดประตูจากทั้งลูกยิงและลูกโหม่งหัวรวมกันไปถึง 12 ประตู ช่วยให้ “ทอฟฟี่” จบฤดูกาลในอันดับ 4 ในฤดูกาลแรกที่ย้ายมาร่วมทีม พร้อมสิทธิ์ผ่านไปเล่นศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นหนแรกในประวัติศาสตร์สโมสร พร้อมกับการได้รับเลือกจากแฟนท็อฟฟี่สีน้ำเงิน ให้เป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของสโมสรไปตามระเบียบ ก่อนจะกลายเป็นหนึ่งแข้งตำนานในถิ่นกูดิสัน พาร์ค โดยลงสนามช่วยทีมไปทั้งสิ้น 278 นัด กดไป 68 ประตูตลอดระยะเวลา 8 ฤดูกาลที่อยู่กับทีม

หลังหมดสัญญากับเอฟเวอร์ตัน เจ้าตัวย้ายไปค้าแข้งในดินแดนลุงแซมกับนิวยอร์ก เรดบลูส์ ที่มีเธียร์รี่ อองรี อยู่กับทีมในขณะนั้น ในช่วงปี 2012 – 2014 ก่อนที่ในปีที่ผ่านมา(2015) สตาร์ดังแดนจิงโจ้ จะเลือกมาค้าแข้งในลีกแดนมังกรกับทีมเซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว ก่อนที่ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 เจ้าตัวได้ทำเรื่องช็อคแฟนบอลของทีม หลังแถลงอำลาต้นสังกัดผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวไปหมาดๆ

ฮิเดโตชิ นาคาตะ  | ญี่ปุ่น

อีกหนึ่งนักเตะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของวงการลูกหนังแดนอาทิตย์อุทัย ผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะที่น่าจับตามองต่อจากยุคของ คาซูโยชิ มิอูระ หรือ ‘คิง คาซู’ ศูนย์หน้าระดับตำนานแห่งทัพซามูไรบลู  โดยนาคาตะเริ่มต้นชีวิตการค้าแข้งในช่วงเวลาที่ฟุตบอลเจลีกเพิ่งเริ่มก่อตั้งมาได้เพียงไม่กี่ปี กับสโมสรเบลมาเร่ ฮิรัตซึ หรือ โชนัน เบลมาเร่ ในปัจจุบัน และใช้เวลาปรับตัวกับทีมได้ไม่นานนัก เจ้าตัวก็สามารถยึดตำแหน่งตัวจริงได้สำเร็จ แม้จะไม่สามารถพาสโมสรประสบความสำเร็จได้มากก็ตาม แต่จากทักษะความสามารถเฉพาะตัวด้านสร้างสรรค์เกมที่ดูไหลลื่น รวมถึงคุมจังหวะการเล่นได้เป็นอย่างดี  ส่งผลให้เจ้าตัวถูกเรียกติดทัพซามูไรบลูชุดใหญ่ชุดลุยฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกของเจ้าตัวทันที

แม้จะไม่อาจพาญี่ปุ่นผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ แต่สำหรับนาคาตะ กลับโชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ต่อกรกับดาวเตะชาติอื่นๆได้อย่างสูสี จนเป็นที่จับตามองของหลายๆสโมสรในยุโรป และท้ายที่สุดหลังจบฟุตบอลโลกปีดังกล่าว เปรูจา สโมสรในศึกกัลโช่ เซเรีย อา จัดการคว้าดาวเตะทีมชาติญี่ปุ่นรายนี้เข้ามาร่วมทีม และกลายเป็นข่าวใหญ่ในวงการฟุตบอลทั้งในระดับเอเชียและยุโรปไปในทันทีและใช้เวลาในการปรับตัวที่อิตาลีไม่นานนัก จนฟอร์มโดดเด่นของเจ้าตัวกับเปรูจา ส่งผลให้โรมา ทีมดังจากกรุงโรม คว้าตัวไปร่วมทีมในทันที ก่อนเจ้าตัวจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมในการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดมาครองได้ในฤดูกาล 2000 – 2001 อีกด้วย

ก่อนจะย้ายไปร่วมทีมในอิตาลีอีก 3 ทีมด้วยกันหลังโอกาสการลงสนามของเจ้าตัวเริ่มมีน้อยลง ประกอบด้วยปาร์มา, โบโลญญ่า และฟิออเรนติน่า จนกระทั่งเลือกโยกมาค้าแข้งในแดนผู้ดีกับโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ในฤดูกาล 2005 – 2006 ซึ่งเป็นสโมสรสุดท้ายในชีวิตการค้าแข้งของเขา ก่อนจะประกาศแขวนสตั๊ดหลังจบศึกฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมัน ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับชาติครั้งสุดท้ายของเจ้าตัวเช่นกัน ด้วยวัยเพียง 29 ปีทันที

แม้จะตัดสินใจเลิกเล่นฟุตบอลไปอย่างประทันหันก่อนวัยอันควรก็ตาม แต่สำหรับนาคาตะ หนึ่งในนักฟุตบอลชาวเอเชียที่สามารถก้าวไปถึงระดับโลกได้สำเร็จ ถือเป็นตำนานบทหนึ่งของวงการลูกหนังญี่ปุ่น ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักเตะญี่ปุ่นอีกหลายคนหลั่งไหลกันออกมาค้าแข้งในยุโรปนั่นเอง

 

พัค จี ซอง | เกาหลีใต้

หากจะหายอดเพลย์เมกเกอร์ที่คอยสร้างสรรค์เกมทั้งในแดนกลางและแดนหน้าให้มีประสิทธิภาพที่เป็นชาวเกาหลีใต้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พัค จี ซอง อดีตดาวเตะจอมอึดพลังโสมขาวของทีม ‘ปีศาจแดง’ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แข้งเอเชียคนแรกที่เคยผ่านการเล่นเวทีนัดชิงชนะเลิศศึกยูฟ่า แชมป์เปียนส์ลีกมาแล้วในปี 2008

พัค จี ซอง เริ่มอาชีพนักฟุตบอลกับทีมเกียวโต ซังกะ ในปี 2000 และด้วยความสามารถอันยอดเยี่ยมของเจ้าตัวที่เก่งเกินวัยทำให้ได้รับความสนใจจากวงการฟุตบอลยุโรป โดยเริ่มจากการพาทีมชาติเกาหลีใต้ คว้าอันดับ 4 ศึกฟุตบอลโลกปี 2002 ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น ทำให้สื่อมวลชนและแฟนฟุตบอลมองเห็นความสามารถที่โดดเด่นของเขา

ซึ่งหลังจากจบเกมฟุตบอลโลกปี 2002 ด้วยฝีเท้าที่น่าจับตามองของเจ้าตัว ส่งทำให้ กุส ฮิดดิ้งค์ อดีตกุนซือทีมชาติเกาหลีใต้ชักชวนให้เข้าไปร่วมทีมพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น ในลีกฮอลแลนด์ และเจ้าตัวไม่ปฏิเสธความท้าทายดังกล่าว โดยย้ายจากเกียวโต ซังกะไปยังถิ่น ฟิลลิป สเตเดี้ยม ในวันที่ 21 ธันวาคม 2002 ทันที

ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ปีกับทีมพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น นั้นพัค จี ซอง ถือเป็นนักคนสำคัญของทีมชนิดที่ขาดไปไม่ได้ จนฟอร์มเข้าตาเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน นายใหญ่ปีศาจแดงในขณะนั้น ก่อนจะตกลงเซ็นสัญญามาค้าแข้งในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ดทันทีในวันที่ 8 กรกฏาคม 2005 โดยอยู่โยงกับปีศาจแดงนานถึง 7 ปี พร้อมคว้าแชมป์มากมายในสีเสื้อปีศาจแดง ไม่ว่าจะเป็น แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย, แชมป์ลีกคัพ 3 สมัย, คอมมูนิตี้ ชิลล์  4 สมัย, ฟีฟ่า คลับ เวิร์ล คัพ 1 สมัย รวมไปถึง การคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมป์เปี้ยนส์ลีก  1 สมัยได้อีกด้วย

ก่อนจะประกาศแขวนสตั๊ดในปี 2014 เนื่องจากอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าเรื้อรัง ในวัย 32 ปี หากจะหาแข้งเกาหลีใต้สักคน ที่เป็นแรงบันดาลใจในการเล่นฟุตบอลของคนในประเทศ รวมถึงการเป็นนักเตะในตำแหน่งเพลย์เมกเกอร์คนสำคัญในฐานะตัวแทนชาติในเอเชียในการลงสนามแข่งขันในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติทั้งสโมสรและทีมชาติ ชื่อของ พัค จี ซอง คงถูกเอ่ยถึงเป็นชื่อแรกๆได้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

ธชตวัน (ตะวัน) ศรีปาน  | ไทย

ไม่มีแฟนบอลชาวไทยคนไหนที่ใครไม่รู้จักยอดเพลย์เมกเกอร์ชื่อดังของเมืองไทย เจ้าของฉายา ‘สุภาพบุรุษลูกหนัง’ หรือ ธชตวัน (ตะวัน) ศรีปาน  อีกหนึ่งกองกลางตัวรุกที่ดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ที่นักฟุตบอลรุ่นหลังหลายคนให้ความเคารพและถือเอารูปแบบการเล่นของเจ้าตัวมาเป็นแรงบันดาลใจในการค้าแข้ง

ตะวัน เริ่มเล่นฟุตบอลในระดับอาชีพครั้งแรกกับสโมสร ‘ชาววัง’ ราชวิถี ก่อนจะสร้างชื่อให้กับตนเองกับสโมสรธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จนก้าวขึ้นไปติดทีมชาติไทยครั้งแรกในปี 1993 ในยุคที่มี ‘น้าชัช’ ชัชชัย พหลแพทย์ เป็นกุนซือ  ก่อนจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติในยุค ‘ดรีมทีม’ ในการคว้าแชมป์ฟุตบอลรายการต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคิงส์คัพกับทีมชาติไทยชุด บี ในปี 1994, แชมป์ฟุตบอลซีเกมส์ 4 สมัย (ปี 1993, 1995, 1997 และ1999), อินดิเพนเดนท์ คัพปี 1994 ฯลฯ โดยทัวร์นาเมนต์ที่น่าจดจำมากที่สุดช่วงหนึ่งของเจ้าตัวและแฟนฟุตบอลไทยคือ การคว้าอันดับ 4 กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ที่กรุงเทพฯ ร่วมกับนักเตะชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ดุสิต เฉลิมแสน, ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล เป็นต้น  ก่อนจะเลิกเล่นในนามทีมชาติในปี 2007 ด้วยสถิติการลงสนามให้ทีมชาติไทยทั้งหมด 145 นัด ยิงได้ทั้งหมด 23 ประตู โดยฟีฟ่าให้การรับรองอยู่ที่ 109 นัด และยิงให้ทีมชาติชุดใหญ่ 19 ประตู

สำหรับผลงานระดับสโมสร หลังจากที่สโมสรธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ อีกหนึ่งสโมสรที่ปลุกปั้นเจ้าตัวให้เป็นยอดนักเตะถูกยุบทีม ตะวัน ศรีปาน จึงย้ายไปค้าแข้งในเอสลีก สิงคโปร์ กับทีมเซมบาวัง  ในช่วงระหว่างปี 1998 – 2003 ก่อนจะเป็นอีกหนึ่งแข้งขวัญใจแฟนบอลแดนลอดช่อง แต่ด้วยศักยภาพของทีมที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้เจ้าตัวไม่อาจพาต้นสังกัดประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ฟุตบอลรายการใดได้ ก่อนจะย้ายไปค้าแข้งที่เวียดนามกับทีม ฮองอันยาลาย ในช่วงปี 2004 – 2006 พร้อมกับการพาทีมคว้าแชมป์ลีกและแชมป์ฟุตบอลถ้วยในประเทศได้ในปี 2004

และย้ายกลับมายังแผ่นดินสยามอีกครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิตการค้าแข้งกับ ‘มังกรไฟ’ บีอีซี เทโร ศาสน พร้อมพาสโมสรจบฤดูกาลด้วยอันดับ 3 ในฤดูกาล 2007 และ 2008 ตามลำดับ

ปัจจุบัน ตะวัน หรือ ธชตวัน ศรีปาน รับบทบาทการคุมทีม ‘กิเลนผยอง’ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2016 ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าตัวเคยรับบทบาทการเป็นกุนซือของทีม บีอีซี เทโรศาสน, สระบุรี เอฟซี และเพื่อนตำรวจ มาแล้ว