ในตอนที่ 1 ของ TRIBE TALK: ชาริล ชัปปุยส์ สตาร์ผู้ไม่ต้องการสปอร์ตไลท์ มิดฟิลด์ดีกรีแชมป์โลกรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปีเปิดใจถึงฤดูกาลอันยากลำบาก และดาวรุ่งที่ทำให้เขาทึ่งที่สุด
วันนี้ในตอนที่ 2 เราไปลุยกันต่อกับหัวข้อน่าสนใจมากมายไม่ว่าจะเป็นแทคติกการเล่น โอกาสหวนคืนทีมชาติ และการรับมือแรงกดดันจากโลกโซเชียลฯ ถ้าพร้อมแล้ว อย่ารอช้า ไปลุยกันเลย!
FT: คุณเคยร่วมงานกับ โบซิดาร์ บันโดวิช และ อเล็กซานเดร กาม่า 2 กุนซือต่างชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในฟุตบอลไทย คำถามคือโค้ชทั้ง 2 มีความแตกต่าง หรือความคล้ายกันในจุดไหนบ้าง?
CC: จริงๆ แล้ว [ทั้ง 2 โค้ช] แทบไม่ต่างกันเลยน่ะ สิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุดคือการยอมรับ และเข้าใจในวัฒนธรรมไทย พวกเขารู้วิธีรับมือนักเตะไทย
แข้งต่างชาติจัดการค่อนข้างง่ายกว่า เพราะพวกเราพร้อมรับฟัง และทำตาม[ที่โค้ชสั่ง] แต่สำหรับนักเตะไทย คุณจำเป็นต้องให้พื้นที่เขาเล็กน้อย จากนั้นจึงบอกว่าต้องทำอะไร ปรับปรุงจุดไหนบ้าง
ในส่วนของสไตล์การเล่น ทั้งคู่คล้ายกันพอสมควร ทั้งคู่เน้นรับแน่นไว้ก่อน จากนั้นค่อยโต้กลับ
ผมต้องขอบคุณโค้ช กาม่า จริงๆ [ที่เข้ามาให้โอกาสลงสนาม] เขาคือโค้ชที่น่าจับตาคนหนึ่ง ผมมีโค้ชดีๆ มากมายตั้งแต่มาเล่นที่เมืองไทย หนึ่งในนั้นคือ เวลิซาร์ โปปอฟ (โค้ชชาวบัลแกเรียผู้เคยร่วมงานกับ ชัปปุยส์ ที่ สุพรรณบุรี เอฟซี) ที่ตอนนี้ทำงานอยู่กับทีมชาติเมียนมา และแน่นอน อีกคนได้แก่ โค้ชซิโก้ [เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง]
FT: คุณปลุกฟอร์มเกมตัวเองขึ้นมาได้อีกครั้งในบทบาทมิดฟิลด์บ๊อก-ทู-บ๊อก ส่วนก่อนหน้านั้นก็เคยเล่นเป็นตัวออกบอลจากแนวลึก แต่จริงๆ แล้วคุณคือกองกลางสไตล์ไหนกันแน่?
CC: ผมชอบสัมผัสบอลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยกตัวอย่าง หากผมได้บอลสัก 30 ครั้งใน 10 นาที นั่นถือว่าผมเล่นได้ดีพอสมควร แต่สำหรับแฟนบอลไทยบางส่วน โดยเฉพาะพวกที่ไม่เข้าใจฟุตบอล พวกเขามักชอบเห็นผมได้บทบาทมิดฟิลด์บ๊อก-ทู-บ๊อกเสียมากกว่า เพราะพวกเขาได้เห็นผมวิ่ง ได้เห็นผมสู้ ต่างจากเวลาเล่นเป็น[กองกลางตัวต่ำ] ซึ่งพวกเขาไม่เห็นการออกบอล หรือจังหวะเปลี่ยนแกนของผม จนพวกเขาคิดว่าผมเล่นไม่ดี
สารภาพตามตรง ถ้าผมเจ็บหนักแบบนี้ที่ยุโรป พวกเขาคงไม่ให้เวลาผมรักษาตัว ต่างตากที่ไทยซึ่งทุกคนใจเย็นมากกว่า
ธนบูรณ์ [เกษารัตน์] ก็เหมือนกัน ทุกคนต่างถามว่าทำไมเขาถึงไปเล่นเซ็นเตอร์แบ็ค ความจริงคือการเล่นเซ็นเตอร์แบ็คทำให้คุณมีเวลาจับบอล เงยหน้ามองสนามมากกว่า ต่างจากในแดนกลางที่คุณต้องระวังตัวรอบทิศทาง ซึ่งหลังจากเจ็บหนักมา แล้วกลับมาเล่นในตำแหน่งกองหลังหลัง [ธนบูรณ์] ก็เล่นดีในนัดที่เจอกับ [เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด]
ส่วนตัวผมได้ขอ โค้ช กาม่า เล่นเป็นมิดฟิลด์บ๊อก-ทู-บ๊อกเพราะมองว่ามันเป็นบทบาทที่ได้เล่นเกมรุกมากกว่า และดูน่าสนใจดี อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ทีมใช้กองกลางด้านในเพียง 2 คน ทำให้มันยากที่จะมีบ๊อก-ทู-บ๊อกในทีม สุดท้ายจะให้เลือก ผมคงขอเป็นตัวคุมจังหวะเกมจากแนวลึกดีกว่า
FT: ทีมชาติไทยชุดใหญ่มีผู้เล่นสไตล์มิดฟิลด์บ๊อก-ทู-บ๊อกให้เลือกใช้หลายคน ไม่ว่าจะเป็น ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ หรือน้องใหม่ พิธิวัต สุขจิตธรรมกุล อยากทราบว่าปัจจัยเหล่านี้เคยทำให้คุณคิดเปลี่ยนสไตล์การเล่นของตัวเอง เพื่อเพิ่มโอกาสรับใช้ทีมชาติมากขึ้นหรือไม่? ยกตัวอย่างเช่นเปลี่ยนตัวเองไปเป็น “เรจิสต้า” วางบอล คุมเกมจากแนวลึกแบบ อันเดรีย ปีร์โล่ สร้างความแตกต่างให้ตัวเองจาก ฐิติพันธ์ หรือ ธนบูรณ์ ฯลฯ
CC: ข้อแตกต่างระหว่างผมกับ ธนบูรณ์ คือเกมรับเขาเหนือกว่าผมเยอะ ขาเขายาว และเขาก็ใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ (ยิ้ม) แถมยังเป็นคนที่อ่านเกมได้ขาดอีกด้วย ส่วนผมเป็นพวกที่ชอบวางบอลยาว เปลี่ยนแกนสนาม หรือดึงจังหวะช้า ให้เกมนิ่งลงมากกว่า
เรื่องทีมชาติ ผมคงพูดอะไรไม่ได้เพราะผมไม่มีชื่อในทีม ตอนนี้ที่ เมืองทอง เราเล่นด้วยกองกลาง 2 คน ซึ่งต่างจากกับทีมชาติ แต่หากได้โอกาส ผมพร้อมลงสนามตรงไหนก็ได้ตามที่ โค้ชอากิระ นิชิโนะ สั่ง
อย่างที่บอก แฟนบอลชื่นชอบผมในบทบาทบ๊อก-ทู-บ๊อก ซึ่งผมเล่นกับ สารัช [อยู่เย็น] และ ชนาธิป [สรงกระสินธ์] ตอน เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ 2014
ผมบอก โค้ช กาม่า ว่าผมเห็นสิ่งที่เขาทำกับ ฐิติพันธ์ ก่อนอยู่กับ กาม่า [นิว] ก็ไม่ได้เป็นตัวหลักทีมชาติ แต่หลังจากร่วมงานกัน เขาก็วิ่งเยอะขึ้น ซึ่งผมพูดกับโค้ชว่าต้องการยกระดับตัวเองในแนวทางนั้นเช่นกัน ผมอยากพัฒนาตัวเอง กลับไปเป็นคนเดิม ตอนนี้โค้ชช่วยผมเยอะ ซึ่งผมต้องขอบคุณเขามากๆ
ส่วนจะเป็น ปีร์โล่ ไหม? ผมขอไม่ตอบล่ะกัน ขอเป็น ชัปปุยส์ ดีกว่า
FT: ใครคือนักเตะไทยที่คุณอยากเล่นด้วยมากกว่าที่สุด?
CC: ผมขอเลือกมิดฟิลด์ 3 คน เริ่มด้วยตัวผมเอง ต่อด้วย ฐิติพันธ์ โดยด้านหลังมี ธนบูรณ์ เวอร์ชั่นท็อปฟอร์ม นอกจากนี้ผมชอบน้องดาวรุ่งจาก เชียงราย (พิธิวัต สุขจิตธรรมกุล) เขาเล่นยังกับเป็นเครื่องจักร และมีความเป็นมืออาชีพมากๆ ด้วย
ตอนนี้ ธนบูรณ์ ได้เปรียบเรื่องประสบการณ์ แต่ขอให้เวลาอีกสักปีสองปี พิธิวัต มีโอกาสก้าวมาเป็นตัวหลัก[ของทีมชาติไทย]ได้
FT: คุณคาดหวังอะไรกับซีซั่นถัดไป?
CC: แน่นอน เราต้องมีซีซั่นที่ดีกว่าเดิม ทั้งในด้านผลงานส่วนตัว และเป็นทีม โดยรวมผมมองว่าทีมของเรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง เรากำลังสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้สโมสร เมืองทอง ยูไนเต็ด
หากคุณให้เวลา กาม่า เขาสามารถสร้างสิ่งที่วิเศษได้แน่นอน ผมขอให้แกนหลักของ เมืองทองฯ ยังอยู่ด้วยกัน และต่อยอด[ความสำเร็จ]กันไป ที่ เมืองทองฯ เราเปลี่ยนผู้เล่นต่างชาติทุกปี จะมีก็แค่ เฮแบร์ตี้ ที่ยังอยู่ ไว้ดูกันว่าจะเป็นอย่างไร
พูดตามตรง นี่เป็นปีที่น่าผิดหวังมากของพวกเรา แต่อย่างน้อยผมมองว่าเรากลับมาได้ดีใน เลก 2 เกมกับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด คือจุดเปลี่ยนสำคัญ เรามีโชคนิดๆ แต่คุณจำเป็นต้องพกดวงมาบ้างในฟุตบอล แต่ปีหน้า ต้องแชมป์ เพราะเราคือ เมืองทองฯ ผมอยากท็อปฟอร์มตั้งแต่ต้นฤดูกาล
FT: ช่วยเล่าปฏิสัมพันธ์ของคุณกับสังคัมออนไลน์ให้เราฟังหน่อยได้ไหม?
CC: อืม...ผมรักทวิตเตอร์ โดยเฉพาะแฟนบอล การท่าเรือ เอฟซี (หัวเราะ) ในโลกฟุตบอล ทุกคนมีเสียงของตัวเอง หากคุณถามผม ผมก็เสียใจที่ไม่มีชื่อทีมชาติ แต่อีกด้านนึงคือผมไม่ดีพอ
วันที่คุณอยู่ในความสนใจ ทุกคนต่างก็อยากได้อะไรจากคุณ ผมเคยอยู่ ณ จุดนั้น และทุกคนก็เข้ามาหาผม ทุกคนขอให้ผมทำนู่นนี่นั่น ทุกคนรักคุณ แต่แล้วเมื่อคุณเจ็บ...ไม่มีใครสน นั่นคือตอนที่คุณเหลือแค่ครอบครัว ซึ่งผมขอบคุณพวกเขามากๆ
FT: คุณคิดว่าวงการฟุตบอลไทยให้ความสำคัญกับการรับมือเสียงวิจารณ์จากแฟนบอลมากมายแค่ไหน? แล้วนักเตะส่วนรับมือกับเสียงวิจารณ์จากแฟนบอลอย่างไร?
CC: ผมโชคดีที่อ่านภาษาไทยไม่ออก (ยิ้ม) โชคดีมากจริงๆ ปัญหาเดียวคือแฟนผมดันอ่านออก ผมมั่นใจว่าถ้าผมอ่านไทยรู้เรื่อง ผมคงอ่านทุกคอมเม้นแน่นอน
แฟนบอล เมืองทองฯ อาจเกรี้ยวกราดบ้าง แต่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาก็รักเรามากๆ เวลาเราชนะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือไม่อ่านเลย แม้คุณคิดว่า ‘อ่านไปเถอะ ไม่แคร์หรอก’ ลึกๆ แล้วมันยังมีผลกับคุณ เวลาใครมาโจมตีคุณแรงๆ คุณย่อมอยากจะตอบโต้กลับไป แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ
FT: คุณคิดว่าตัวเองจาก ยุโรป เร็วเกินไปหรือไม่?
CC: ผมมีเวลาที่ยากลำบากที่ ยุโรป ผมได้รับบาดเจ็บที่เท้าแล้วกลับมาเล่นในดิวิชั่น 2 ผมย้ายไปยืมตัวกับที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยอย่าง ลูกาโน่ พวกเราเก็บชัยชนะได้ แต่สักพักผลงานก็เริ่มดรอป มีการเปลี่ยนโค้ชเกิดขึ้น จากนั้นผมก็ไม่ได้ลงเล่นเลย สุดท้ายจึงตัดสินใจมาอยู่กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
คุณอาจจะมองย้อนกลับไปแล้วคิดถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น แต่สุดท้ายฟุตบอลมันก็เป็นอย่างนี้ ผมคว้าถ้วยรางวัลมากมาย และแฮปปี้กับการตัดสินใจครั้งนั้น
FT: ก่อนย้ายมาเมืองไทย มีใครเคยเตือนคุณถึงความคาดหวังที่แฟนบอลมีต่อนักเตะจาก ยุโรป อย่างคุณหรือไม่?
CC: ก็ไม่เชิงน่ะ ผมพบกับคุณ ทัดเทพ [พิทักษ์พูลสิน] ครั้งแรกตอนเขามาเจรจากับผมที่ สวิสเซอร์แลนด์ ผมเล่าให้ผมฟังว่าที่เมืองไทยมีโอกาสดีๆ มากมายทั้งใน และนอกสนาม
ทีแรกผมไม่ค่อยเชื่อเขาเท่าไหร่ แต่ในปี 2014 ทุกอย่างก็บ้าคลั่งไปหมด มือถือผมสายเข้าทั้งวัน มีคนขอให้ไปที่นั่นที่นี้มากมาย นั่นเป็นครั้งแรกที่เราไทยแชมป์อาเซียนไปรอบ 12 ปี ผมไม่ใช่คนยิงประตูมากมายอะไร แต่รายการนั้นซัดไปตั้ง 4 ลูก (เป็นดาวซัลโวทีมชาติไทย) อีกทั้งใน เอเชียนเกมส์ เราก็เล่นได้เยี่ยม โชคร้ายที่ไปแพ้ เกาหลีใต้ ในรอบรองชนะเลิศ
ณ เวลานั้นผมยังเด็ก ผมไม่อ่านข่าวหรือสนใจอะไรพวกนี้หรอก ผมแค่ต้องการเล่นฟุตบอล
FT: ชัปปุยส์ เมื่อตอนย้ายมาไทยใหม่ๆ กับ ชัปปุยส์ ณ ตอนนี้แตกต่างกันอย่างไร? มุมมองต่อฟุตบอลและการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า?
CC: ตอนผมกลับมาไทยแรกๆ ผมแค่อยากมีความสุขกับการเล่นฟุตบอล แค่นั้นเองจริงๆ จากนั้นผมกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ ได้รับบาดเจ็บหนัก หายกลับมา แต่ความเป็นซุปเปอร์สตาร์ยังคงอยู่ นั่นทำให้ผมหงุดหงิด ทุกคนรอบตัวต้องการอะไรบางอย่างจากผม ตอนนั้นผมยังเด็กมาก ทุกๆ นัดหลังเกมผมต้องอยู่ถ่ายรูปต่ออีกกว่าครึ่งชั่วโมง!
แต่ตอนนี้ผมซาบซึ้งถึงทุกๆ สิ่งกว่าเดิม และอยากจะตอบแทนทุกคนกลับบ้าง หากจำเป็นต้องถ่ายรูปหลังเกมอีกครึ่งชั่วโมง ผมก็จะอยู่ เพราะหากไม่มีแฟนๆ ผมคงไม่มายืนอยู่จุดนี้
ผมโตขึ้นเยอะ ณ ตอนนั้นมันยากสำหรับผมที่จะรับมือกับทุกๆ สิ่ง เช่นการไม่มีความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป ตอนนี้ผมแค่มีความสุขไปกับมัน มีความสุขกับฟุตบอล แล้วจำเสมอว่าตัวเองนั้นโชคดี