ยุโรป พรีเมียร์ลีก

เจาะลึกแผงหลัง “บิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก” (ตอน 2/2)

มาลุยกันต่อสำหรับตอนที่ 2 ของซีรี่ย์ เจาะลึกแผงหลัง "บิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก"

ไปดูกันสิว่าทำไม เชลซี ถึงเป็นทีมที่เสียประตูมากสุดในบรรดาบิ๊ก 6 ? อะไรคือบทบาทของฟูลแบ็ค ลิเวอร์พูล? และ เซ็นเตอร์แบ็ค ซิตี้ บอกอะไรเกี่ยวกับเคล็ดลับการรับมือเกมโต้กลับของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า

(คลิ๊กเพื่ออ่านตอนที่ 1)

เชลซี

เชลซี คือสโมสรเดียวในซัมเมอร์ที่ผ่านมาที่ไม่สามารถเสริมนักเตะใหม่ได้ ทำให้ แฟร้งค์ แลมพาร์ด ต้องพึ่งนักเตะที่เหลืออยู่จากยุค เมาริซิโอ ซาร์รี่ หรือนักเตะเก่าที่กลับมาจากการยืมตัว เท่านั้นยังไม่พอ ทัพ “สิงโตน้ำเงินคราม” ยังเสีย ดาวิด ลุยซ์ กองหลังตัวเก่งไปให้ อาร์เซน่อล แบบไม่ตั้งตัวในวันสุดท้ายของตลอดซื้อขายนักเตะอีกต่างหาก

เคิร์ท ซูม่า กลับมาจากการยืมตัวที่ เอฟเวอร์ตัน และได้โอกาสจับคู่ตัวจริงกับ อันเดรียส คริสเตนเซ่น ใน 3 เกมที่ผ่านมา ซึ่ง เชลซี เสียถึง 7 ประตู เทียบเท่ากับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด และ วัตฟอร์ด เป็นรองเพียงแค่ นอริช ซิตี้ ทีมเดียวที่เสียไป 8 ประตู

ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนของคู่เซ็นเตอร์แบ็ค เชลซี ไม่ใช่เรื่องความสามารถซะทีเดียว แต่เป็นเรื่องของสไตล์การเล่น หรือจุดอ่อนด้านความคล่องตัวที่ทั้งคู่มีเหมือนกันมากเกินไป

ฤดูกาล ซูม่า โชว์ฟอร์มได้ยอดเยี่ยมเมื่อเกมในแผงหลังที่ตั้งรับลึก แต่ในระบบของ แลมพาร์ด กองหลังชาวฝรั่งเศสต้องรับสูงขึ้น เพื่อรักษาความคอมแพคแนวลึกของทีมในจังหวะที่ผู้เล่นด้านบนไล่เพรสซิ่งสูง ด้วยเหตุนี้เอง มันจึงเกิดพื้นที่ว่างด้านหลังแนวรับ เชลซี และกลายเป็นจุดที่คู่แข่งสามารทิ้งบอล แล้วใช้ความเร็วเข้าไปจอมตี (เช่นเดียวกับที่ เลสเตอร์ ซิตี้ หรือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใช้เล่นงาน เชลซี)

หาก ดาวิด ลุยซ์ ยังอยู่กับทีม เชลซี อาจไม่พบกับปัญหานี้ และก็ไม่ได้การันตีว่าการได้ อันโตนิโอ รูดิเกอร์ (คู่เซ็นเตอร์แบ็คตัวหลักปีที่แล้วข้าง ลุยซ์) หายเจ็บกลับมาจะช่วยปิดจุดอ่อนนี้

ทางแบ็คขวา เซซาร์ อัซปิลิเกวต้า เป็นจุดที่คู่แข่งมักวางลูกโด่งมาโจมตี โดยหวังให้กองหน้ามาพักบอลตรงนี้ แทนที่จะต้องไปดวลลูกกลางอากสกับคู่เซ็นเตอร์ใหญ่ๆ แบบ ซูม่า และ คริสเตนเซ่น 

ตั้งแต่เปิดฤดูกาลมา อัซปิลิเกวต้า เป็นฟูลแบ็คที่เล่นลูกกลางมากอันดับ 3 ของ ลีก มากกว่าฟูลแบ็คทีมบิ๊ก 6 อื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันเอาก็เอาชนะลูกโหม่งได้ถึง 11 จาก 14 ครั้ง มากที่สุดในบรรดาฟูลแบ็ค พรีเมียร์ลีก เช่นเดียวกัน

ในส่วนของเกมรุก ฟูลแบ็คของ เชลซี ได้อิสระเติมเกมมากกว่า 3 ทีมที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ในตอน 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบ็คซ้าย เอเมอร์สัน พัลมิเอรี่ มีจังหวะส่องไกลสวยๆ จนเกือบเป็นประตูหลายครั้ง เรียกฟาล์วให้ทีมได้ 6 ครั้ง (มากอันดับ 2 ของลีก) และเลี้ยงผ่านคู่แข่งถึง 8 จาก 10 ครั้ง เป็นสถิติสำเร็จ 80% สูงสุดสำหรับฟูลแบ็คตอนนี้

โดยรวม เชลซี มีแผงหลังตัวจริงที่ค่อนข้างโอเค ฟูลแบ็คเติมเกมได้ลุ้นประตูหรือแอสซิสต์ตลอด จะน่าห่วงก็แค่ในจังหวะโต้กลับเท่านั้นว่า เอเมอร์สัน กับ อัซปิลิเกวต้า จะลงทันหรือไม่ และปัญหาพื้นที่ว่างหลังแนวรับจะได้รับการแก้ไขอย่างไรเมื่อพวกเขาซื้อใครเพิ่มไม่ได้ อันโตนิโอ รูดิเกอร์ จะตอบโจทย์หรือไม่?

ลิเวอร์พูล

ต่อกันที่ ลิเวอร์พูล เจ้ายูโรป และรองแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่แล้วซึ่งนำทัพมาโดย เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค เจ้าของรางวัลกองหลังยอดเยี่ยม และผู้เล่นยอดเยี่ยมของ ยูฟ่า

เถียงไม่ได้เลยว่านี้คือปราการหลังที่เบอร์หนึ่งของลีก ความเป็นผู้นำ และความสามารถในการจัดระเบียบเกมรับของ ฟาน ไดจ์ค ช่วยให้ ลิเวอร์พูล เป็นทีมที่เสียประตูน้อยสุดในลีกซีซั่นที่แล้ว (22 ลูก)

เจอร์เก้น คล็อปป์ ดึงศักยภาพของ ฟาน ไดจ์ค ออกมาได้เต็มที่เมื่อจับคู่เขากับ โจเอล มาติป ที่มีความนิ่ง และเป็นตัวคอยซ้อน เก็บตกบอลสอง ในจังหวะที่ ฟาน ไดจ์ค ดันขึ้นไปชิงจังหวะตัดบอลคู่แข่ง

แต่อย่างที่เราเห็นกันเมื่อซีซั่นที่แล้ว มีช่วงหนึ่งที่ ลิเวอร์พูล ปวดหัวไม่น้อยยามที่เซ็นเตอร์แบ็คพร้อมใจเจ็บพร้อมกันหมด ซึ่งปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จริงอยู่ที่ โจ โกเมซ หายเจ็บยาว กลับมาเป็นตัวเลือกอีกครั้ง แต่ เดยัน ลอฟเรน ก็ยังมีข่าวย้ายทีมกับ โรม่า อยู่เรื่อยๆ

หาก ลอฟเรน ถูกขายจริง นั่นเท่ากับ คล็อปป จะเหลือเซ็นเตอร์แบ็คสำรองเพียง โกเมซ และ 3 ดาวรุ่ง คี-จานา โฮเวอร์, เยสเซอร์ ลารูซี่ กับ เซปป์ ฟาน เดน เบิร์ก เท่านั้น

สำหรับตำแหน่งฟูลแบ็ค นี่คือจุดเด่นที่สุดของ ลิเวอร์พูล ชุดนี้เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจาก เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ และ แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน จะเป็นพวกเติมเกมโอเวอร์แลปแบบปกติแล้ว ทั้ง 2 ยังมีบทบาททางแทคติกคล้ายกับมิดฟิลด์ สังเกตได้จากการเปิดบอลของพวกเขาที่หลายครั้งมาจากตำแหน่งลึกลงมาหน่อย ต่างจากฟูลแบ็คทั่วไป (เช่น อัซปิลิเกวต้า) ที่มักจะโยนเข้ามาจากริมเส้น หรือสุดเส้นหลัง

โดยจาก 3 นัดที่ผ่านมา ไม่มีกองหลังในลีกคนใดที่เปิดบอลเยอะเท่า อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์  (35 ครั้ง) ในขณะที่ โรเบิร์ตสัน ก็ไม่น้อยหน้า เปิดบอลไป 23 ครั้ง เยอะเป็นอันดับ 3 ของ ลีก แสดงถึงความสำคัญที่ฟูลแบ็คมีต่อระบบเกมรุกของ คล็อปป

แมนเชสเตอร์ ซิตี้

สุดท้าย แต่ไท้ท้ายสุด มากันที่แชมป์เก่า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ยังคงคอนเซ็ปต์โพเซสชั่นฟุตบอล (Possession Football) ในรูปแบบ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ไว้เช่นเคย

นับแต่เปิดฤดูกาลมา ไม่มีกองหลังคนไหนจ่ายบอลมากเท่า ไอเมริค ลาปอร์เต้ หรือ นิโคลัส โอตาเมนดี้ แถมทั้งคู่ยังเป็นเจ้าของสถิติจ่ายบอลสั้นแม่นยำที่สุดในลีกอีกด้วย (โอตาเมนดี้ 89 ส่วน ลาปอร์เต้ 86.7 ครั้งต่อ 90 นาที)

ความสามารถในการเล่นกับบอลของเซ็นเตอร์แบ็คคู่นี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร มันคือสิ่งที่พวกเขาทำเมื่อไม่มีบอลต่างหากที่เราควรพูดถึง เพราะฤดูกาลยังไม่มีคู่หูกองหลังคู่ไหนเลยที่ทำฟาล์วเยอะเท่า ลาปอร์เต้ กับ โอตาเมนดี้ (รวมกัน 7 ครั้ง)

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ซิตี้ มักเป็นฝ่ายครองบอลมากกว่า หลายครั้งตรึงฝ่ายตรงข้ามอยู่แต่ในแดนตัวเอง จะโดนเล่นงานที แทบทุกครั้งคือจังหวะโต้กลับ บีบให้ ลาปอร์เต้ กับ โอตาเมนดี้ ต้องรับหน้าที่ตัดเกม (เนียนๆ เบาๆ) เป็นประจำ

ในส่วนของฟูลแบ็ค แมนฯ ซิตี้ น่าจะเป็นทีมเดียวในลีกที่พอจะต่อกรคุณภาพกับ ลิเวอร์พูล ได้ ทว่าสิ่งที่ เป๊ป เอามาสู้ ไม่ใช่แค่ฝีเท้าเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงรายละเอียดแทคติกที่มักใช้ฟูลแบ็คในบทบาท “ฟูลแบ็คตัวใน” (โอเล็กซานด์ ซินเชนโก้) หรือเป็นเซ็นเตอร์แบ็คตัวที่ 3 (ไคล์ วอล์คเกอร์) ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

ความสามารถในการสลับสับเปลี่ยนการยืนตำแหน่งระยะเกมเท่ากับแผงหลังของ ซิตี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการขึ้นเกมรุกไปโดยปริยาย ต่างจากทีม 6 บิ๊กอื่นๆ 

เท่านั้นยังไม่พอ ฤดูกาลนี้ ซิตี้ ยังดึง เจา คันเซโล่ แบ็คตัวจี๊ดที่เล่นได้โหดทั้งฝั่งซ้าย และขวา มาเป็นเบียดตัวจริง แล้วไหนจะ เบนจามิน เมนดี้ ที่หากไม่เจ็บ ก็คือหนึ่งในแบ็คซ้ายตัวต้นๆ ของลีกแน่นอน 

สรุปง่ายๆ ว่าแผงหลังปีก่อนที่ว่าแข็งแกร่งแล้ว ปีนี้แข็งยิ่งกว่า