ฟุตบอลญี่ปุ่น เจลีก

นามนี้มีที่มา: รู้จัก 18 สปอนเซอร์คาดอกสโมสรเจลีก

 

แฟนบอลชาวไทยเริ่มให้ความสนใจการแข่งขันฟุตบอลเจลีกมากขึ้นกว่าก่อน โดยเฉพาะในฤดูกาล 2018 นี้ ที่มี 3 ผู้เล่นไทยอย่าง ธีรศิลป์ แดงดา ธีราทร บุญมาทัน รวมถึง ชนาธิป สรงกระสินธ์ พาเหรดกันมาค้าแข้งและทำผลงานช่วยต้นสังกัดตัวเองโดดเด่นไม่แพ้กัน อีกทั้งลีกฟุตบอลแดนซามูไรยังแฝงไปด้วยเรื่องราวชวนติดตามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนลีกอื่น ทั้งที่มาของชื่อสโมสร ตลอดจนสปอนเซอร์คาดอกของแต่ละทีม และนี่คือ 18 สปอนเซอร์คาดอกทีมในเจลีกฤดูกาลปัจจุบัน

เลื่อนทางขวามือเพื่ออ่านหัวข้อถัดไป

 

คอนซาโดเล ซัปโปโร - Shiroi Koibito

ทันทีที่สโมสรของชนาธิป สรงกระสินธ์ ในนามของบริษัทโตชิบาเดิมโยกฐานขึ้นมาอยู่บนเกาะฮอกไกโด และถูกโอนสิทธิ์เปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็นคอนซาโดเล ซัปโปโร ทัพนกเค้าแมวเมืองเหนือใช้สปอนเซอร์คาดอกเป็นขนมคุกกี้สไตล์ฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 2002 นามว่า 白い恋人パーク หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Shiroi Koibito ที่ผลิตจากโรงงานผลิตช็อกโกแลตขนาดใหญ่ของเมืองอย่าง Ishiya แถมยังอยู่ติดกับสนามซ้อมของคอนซาโดเลอีกด้วย

 

เวกัลตะ เซนได - Iris Ohyama

อีกหนึ่งสโมสรบนเกาะฮอนชู มี “Iris Ohyama” หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่นคือ アイリスオーヤマ株式会社 อีกหนึ่งแบรนด์ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอุปกรณ์พลาสติก รวมถึงการผลิตและะสร้างสรรค์อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ทำสวน อุปกรณ์สำนักงาน ฯลฯ ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเซนได และเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักให้ทีมมาตั้งแต่ปี 2004

 

คาชิมา อันท์เลอร์ส - Lixil

อดีตแชมป์เจลีก 8 สมัย มีแบรนด์ "Lixil" ที่ควบรวมกิจการของ Tostem Corp. ซึ่งเป็นสปอร์นเซอร์คาดอกเดิม โดย Lixil เป็นบริษัทเกี่ยวกับผู้จัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว และได้เข้ามาเป็นแบรนด์คาดหน้าอกสโมสรมาตั้งแต่ปี 2011

 

อุราวะ เรดส์ - POLUS 

แชมป์เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2017 มี POLUS Group ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เกี่ยวกับการจัดจำหน่ายไม้แปรรูปก่อสร้าง ซ่อมแซมบ้าน ฯลฯ และมีฐานการผลิตใหญ่ตั้งอยู่ในไซตามะ โดยทีมฉายาปีศาจแดงแห่งเอเชียมีแบรนด์ดังกล่าวเป็นสปอนเซอร์คาดอกตั้งแต่ปี 2013 แต่หากเป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับทวีป พวกเขาจะใช้ มิิตซูบิชิ ในฐานะบริษัทแม่ที่ก่อตั้งทีมขึ้นมาคาดหน้าอกแทน

 

คาชิวา เรย์โซล - Hitachi

ทีมฉายา “เจ้าชายสุริยะ” มี ฮิตาชิ (Hitachi) แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของดินแดนอาทิตย์อุทัยในฐานะบริษัทแม่ที่ก่อตั้งสโมสร หลังจากโยกฐานการผลิตมาอยู่ที่เมืองคาชิวาเข้ามาเป็นสปอนเซอร์คาดอกทีมตั้งแต่ยุคก่อตั้งเจลีกเมื่อปี 1993 จนถึงฤดูกาลปัจจุบัน

 

เอฟซี โตเกียว - Tokyo Gas

สโมสรดังจากกรุงโตเกียวที่ก่อตั้งมาโดยบริษัทโตเกียวแก๊ส (Tokyo Gas Co., Ltd.) หนึ่งในบริษัทธุรกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศ ขยับมาใช้แบรนด์บริษัทเป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอกตั้งแต่ซีซัน 2010 แทนที่ของเอเนออส หรือ ENEOS ซึ่งเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์น้ำมันและน้ำมันหล่อลื่น

 

คาวาซากิ ฟรอนทาเล - Fujitsu

ทีมฟุตบอลของเมืองคาวาซากิ ในจังหวัดคานางาวะ คืออีกหนึ่งทีมที่ใช้สปอนเซอร์จากบริษัทแม่อย่างฟูจิทสึ (Fujitsu) ที่เป็นบริษัทเกี่ยวกับอุปกรณ์และบริการเทคโนโลยีด้านสารสนเทศระดับโลกสนับสนุนตั้งแต่ปี 1999 ที่เริ่มเป็นทีมฟุตบอลอาชีพหนแรกและยังคงเรื่อยมาจนปัจจุบัน

 

โยโกฮามา เอฟ มารินอส - Nissan

สโมสรลูกหนังจากเมืองโยโกฮามา เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของดินแดนปลาดิบ มีสปอนเซอร์ด้านหน้าของเสื้อแข่งทีมเป็นอีกหนึ่งแบรนด์รถยนต์รายใหญ่ของประเทศอย่าง นิสสัน (Nissan Motor Company) ในฐานะบริษัทที่ก่อตั้งทีม แถมยังถือหุ้นเป็นเจ้าของร่วมถึง 80% มาตั้งแต่ปีแรกของการก่อตั้งฟุตบอลเจลีก

 

โชนัน เบลมาเร - MELDIA GROUP

แชมป์เจลีกฤดูกาลที่แล้วมีบริษัทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง MELDIA GROUP (メルディアグループ 株式会社三栄建築設計) เข้ามาให้การสนับสนุนทีมมาตั้งแต่ฤดูกาล 2016 และถือเป็นสปอนเซอร์คาดอกรายที่ 9 ของสโมสร นับแต่แต่ที่ลงเล่นในเจลีกเมื่อปี 1994

 

ชิมิสุ เอสพัลส์ - Suzuyo

สโมสรแห่งเดียวในเจ1ลีกที่ก่อตั้งขึ้นจากรากฐานของเมืองชิสุโอกะ ไม่ได้มีสังกัดบริษัท หรือองค์กรใดๆเหมือนทีมอื่น ปัจจุบันมี ซูซูโย หรือ Suzuyo ซึ่งเป็นบริษัทจัดการขนส่งสินค้า โลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองเป็นสปอนเซอร์คาดอกมาตั้งแต่ปี 2010

 

จูบิโล อิวาตะ - Yamaha

อีกหนึ่งสโมสรจากจังหวัดชิสุโอกะ ถือกำเนิดขึ้นในปี 1972 ในฐานะส่วนหนึ่งของแผนกกีฬาของบริษัทยามาฮา (Yamaha) และอยู่เป็นสปอนเซอร์คาดอกทีมตั้งแต่ยุคก่อนที่จะเป็นเจลีก และแม้ช่วงหนึ่งจูบิโลจะมีผลิตภัณฑ์ Nestle เป็นผู้สนับสนุนและคาดหน้าอกอยู่บ้าง ทว่านับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา พวกเขาก็กลับมาใช้แบรนด์บริษัทแม่อยู่ด้านหน้าของเสื้อแข่งเช่นเดิม

 

นาโงยา แกรมปัสต์ - Toyota

ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท Toyota Motor กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่มีฐานการผลิตอยู่ในเมืองเดียวกับทีมฉายาวาฬเพชฌฆาต สโมสรจากจังหวัดไอจิแห่งนี้เริ่มใช้คำว่า โตโยต้า คาดหน้าอกเสื้อแข่งตั้งแต่ฤดูกาล 2001 และยังคงใช้เรื่อยมาจนถึงซีซัน 2018

 

กัมบะ โอซากา - Panasonic

สโมสรฉายาเด็กสายฟ้า คือหนึ่งในทีมยุคบุกเบิกของฟุตบอลเจลีก ที่มี พานาโซนิค (Panasonic) บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนหลัก และใช้แบรนด์ของบริษัทแม่เข้ามาอยู่ด้านหน้าของเสื้อแข่งมาตั้งแต่ที่บริษัทยังใช้ชื่อว่า “Matsushita Electric Industrial” ในยุคก่อนการเกิดขึ้นของฟุตบอลเจลีกเรื่อยมาจนถึงช่วงเวลาที่เปลี่ยนเป็น พานาโซนิค จนถึงฤดูกาลปัจจุบัน

 

เซเรโซ โอซากา - Yanmar

แต่เดิมอีกหนึ่งสโมสรร่วมเมืองโอซากาแห่งนี้ใช้ชื่อว่า ยันมาร์ ดีเซล ซอคเกอร์ คลับ ตามชื่อบริษัทผู้ก่อตั้งอย่าง ยันมาร์ หรือ Yanmar (เครื่องยนต์ดีเซล) ในฐานะทีมฟุตบอลสมัครเล่นจากองค์กร กระทั่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นเซเรโซ โอซากา ภายหลังที่ลีกอาชีพใช้ชื่อว่าเจลีก โดยช่วงแรกทัพซากุระมี “Nippon Ham Foods” บริษัทเกี่ยวกับอาหารสดเป็นสปอนเซอร์คาดอก ก่อนจะเปลี่ยนเป็นยันมาร์เมื่อปี 2006 จวบจนฤดูกาลนี้

 

วิสเซิล โกเบ - Rakuten

ทีมดังจากจังหวัดเฮียวโงะที่มีธีราทร บุญมาทัน ค้าแข้ง มี Rakuten (ราคูเท็น) หนึ่งในผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซแถวหน้าของโลก ที่ปัจจุบันเป็นสปอนเซอร์คาดด้านหน้าของเสื้อทีมบาร์เซโลนา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในโกเบเข้ามาให้การสนับสนุนทีมพร้อมเป็นสปอนเซอร์คาดอกมาตั้งแต่ปี 2004 กระทั่งเข้ามาถือหุ้นใหญ่เต็มตัวแทนที่ของกลุ่มบริษัท Kawasaki Steel เมื่อปี 2015

 

ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา - EDION

แม้จะมีรากฐานการก่อตั้งทีมโดยบริษัทรถยนต์ชั้นนำอย่าง มาสด้า ทว่าต้นสังกัดของธีรศิลป์ แดงดา ได้ให้กลุ่มบริษัท เอดิออน (EDION Group) หนึ่งในบริษัทร่วมของ DEODEO Corporation หรือแบรนด์ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอิเลคทรอนิคส์ ซึ่งที่ตั้งอยู่ในเมืองฮิโรชิมา เข้ามาเป็นสปอนเซอร์คาดอกตั้งแต่ปี 1997 ในนามของ DEODEO ก่อนจะเปลี่ยนเป็น EDION ในปี 2012 และยังใช้ชื่อแบรนด์ดังกล่าวเป็นสปอนเซอร์สนามเหย้านาม “เอดิออน สเตเดียม” อีกด้วย

 

ซางัน โทสุ - DHC

ทีมจากจังหวัดซากะมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางและอาหารเพื่อสุขภาพชื่อดังของประเทศอย่าง Daigaku Honyaku Center (DHC) เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่มาตั้งแต่ปี 2008 และนับเป็นสปอนเซอร์รายแรกที่เข้ามาอยู่ด้านหน้าเสื้อแข่งของสโมสรอีกด้วย

 

วี วาเรน นางาซากิ - Japanet

น้องใหม่ที่เพิ่งเลื่อนชั้นสู่เจลีกเป็นหนแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ก็เพิ่งจะเริ่มให้มีสปอนเซอร์รายแรกเข้ามาติดที่หน้าอกทีมเมื่อปี 2015 อย่างบริษัท Japanet Takata (ジャパネットたかた) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการสั่งซื้อสินค้าทั้งอุปกรณ์ในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้า แบบครบวงจรผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองนางาซากิ ถือเป็นการสนับสนุนจากบริษัทท้องถิ่นอย่างแท้จริง