เอเชีย ฟุตบอลญี่ปุ่น

นามนี้มีที่มา : เจาะลึกชื่อ 18 รังเหย้าสโมสรเจลีก

ในแต่ละทีมในศึกฟุตบอลเมจิ ยาสุดะ เจ1 จะมีชื่อสนามที่ใช้ทำการแข่งขันหลักแตกต่างกันออกไป และในชื่อนั้นเองส่วนใหญ่ก็มาจากสปอนเซอร์ต่างๆที่เข้ามาซื้อสิทธิ์ชื่อของแต่ละสนาม ในขณะที่บางแห่งใช้ชื่อเมืองที่ตั้งของสโมสรนั้นๆ และนี่คือที่มาของชื่อสนามทั้ง 18 ทีมในศึกเจลีก

เวกัลตะ เซนได | Yurtec Stadium Sendai
สนาม Yurtec Stadium Sendai ได้รับการสนับสนุนหลักจาก Yurtec บริษัทวิศวกรรมออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกระบบภายในอาคารสำนักงานและโรงพยาบาล ทว่าสนามแห่งนี้ก็เคยประสบปัญญาหนักจากการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 นอกจากนี้สนามแห่งนี้เคยเป็นสนามที่ใช้ทำการแข่งขันรักบี้ในปี 2006 อีกด้วย

คาชิวา เรย์โซล | SANKYO FRONTIER Kashiwa Stadium
ก่อนหน้านี้เรย์โซล ใช้สนามเหย้าภายใต้ชื่อ ฮิตาชิ คาชิวา สเตเดียม ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังเป็นที่รู้จักของชาวไทย ก่อนที่จะขายลิขสิทธิ์ชื่อให้กับ บริษัท ซังเคียว ฟรอนเทียร์ จำกัด (มหาชน) ที่คอยออกแบบอาคารแบบแยกส่วน ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน ร้านค้า รวมไปถึงโรงจอดรถ โดยใช้วัสดุที่ยืดหยุดและแข็งแกร่ง เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาและเปลี่ยนชื่อมาใช้เป็นสนาม ซังเคียว ฟรอนเทียร์ คาชิวา สเตเดียม และจะใช้ชื่อนี้ไปจนถึงปี 2020

เอฟซี โตเกียว | Ajinomoto Stadium
ทีมยักษ์เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ที่มีแข้งไทยอย่าง จักรกฤษณ์  เวชภิรมย์ ร่วมทัพ ขายลิขสิทธิ์ในการตั้งชื่อสนามให้กับบริษัทอะจิโนะโมะโตะ จำกัด โดยชาวไทยรู้จักดีเนื่องจากเป็นโรงงานที่ผลิตผงชูรสออกมาใช้ในบ้านเรา รวมไปถึงน้ำมัน สารให้ความหวาน และยารักษาโรค ซึ่งค่าเซ็นสัญญารอบแรกสูงถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะมีการต่อสัญญาการใช้ชื่อสนามไปถึงปี 2019

โยโกฮามา เอฟ มารินอส | Nissan Stadium
รังเหย้าของมารินอสนั้นได้รับการสนับสนุนหลักจากบริษัท นิสสันมอเตอร์ ที่ทำการผลิตรถยนต์เป็นหลัก นอกจากนี้สนามแห่งนี้เคยใช้ทำการแข่งขันในฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศ ระหว่างบราซิล กับเยอรมนี ในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2002 ที่บราซิลชนะ 2–0 อีกด้วย ปัจจุบันนิสสันได้ทำการยกเลิกการต่อสัญญาชื่อสนามไปแล้ว แต่คนทั่วไปยังคงเรียกชื่อสนาม นิสสัน สเตเดียมกันต่อจนถึงปัจจุบัน


โชนัน เบลมาเร | Shonan BMW Stadium Hiratsuka
น้องใหม่เจลีกในปีนี้เป็นอีกทีมในเจ1ลีกที่ใช้ชื่อสนามจากแบรนด์รถยนต์ แต่เป็นแบรนด์สุดหรูของประเทศเยอรมนี สนามเป็นสนามเอนกประสงค์ที่สร้างในปี 1987 และมีความจุแฟนบอล 15,732 คน

ชิมิสุ เอสพัลส์ | IAI Stadium Nihondaira
ชื่อสนามของเอสพัลส์นั้น ได้ บริษัท ไอเอไอ จำกัด ที่รับออกแบบ ผลิต พัฒนา และจัดจำหน่ายหุ่นยนต์ขนาดย่อมสำหรับอุตสาหกรรม ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรแขนงใหม่ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลัก โดยมีโรงงานทั้งในญี่ปุ่นและประเทศไทย ซึ่งสนามแห่งนี้ มีความจุ 20,248 คน

จูบิโล อิวาตะ | Yamaha Stadium
ทีมร่วมเมืองของชิมิสุ เอสพัลส์  ที่ชื่อสนามลิขสิทธิ์ เป็นของ ยามาฮ่า คอร์ปอร์เรชั่น ผู้ผลิตเครื่องยนต์ อย่างมอเตอร์ไซด์ และเครื่องยนต์เรื่อง รวมไปถึง เครื่องดนตรี ไม่ว่าจะเป็น กีต้าร์ เบส คีย์บอร์ด
ซึ่งแฟนบอลชาวไทยอาจจะคุ้นหูสนามยามาฮา สเตเดียมนั้น เพราะยามาฮ่าเคยเป็นลิขสิทธิ์ชื่อสนามของเมืองทองมาก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้เป็นเอสซีจี สเตเดียมในปัจจุบัน

นาโงยา แกรมปัส | Paloma Mizuho Stadium, Toyota Stadium
น้องใหม่เจลีกอีกทีม ที่มี 2 สนามใช้ในการแข่งขัน เริ่มจาก Paloma Mizuho Stadium ที่มีบริษัท พาโลมา จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ ส่วนใหญ่ผลิตเตาแก๊สเครื่องทำน้ำอุ่น และอุปกรณ์ทำความร้อนก๊าซ ถือลิขสิทธิ์สนามหลัก
ส่วนอีกสนามเป็นสนามโตโยต้า สเตเดียม  คนไทยรู้จักชื่อนี้ดีเช่นกัน จากผลิตภัณฑ์ยานยนต์, ชิ้นส่วนรถยนต์, เครื่องยนต์ และมอเตอร์ไซต์

กัมบะ โอซาก้า  | Panasonic Stadium Suita
ทีมใหญ่ในเมืองโอซาก้า ที่ชื่อสนามได้บริษัท พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า , หลอดไฟฟ้า , ไฟฉาย , ถ่ายไฟฉาย เข้ามาเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์หลัก

เซเรโซ โอซาก้า | Yanmar Stadium Nagai, Kincho Stadium
อีกทีมในเมืองโอซาก้า ที่มีแข้งไทยอย่างเชาว์วัฒน์ วีระชาติ ไปร่วมทัพเมื่อต้นปีนั้น ใช้ถึง 2 สนามด้วยกัน เริ่มจาก สนามยันมาร์ สเตเดียม ซึ่ง ยันมาร์ เป็นบริษัทที่ก่อตั้งสโมสรขึ้นมา มีผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์ดีเซล ที่ใช้สำหรับการเกษตรและอุตสากรรม รวมไปถึงการก่อสร้าง  และโค้ชเฮง วิทยา เลาหกุล เคยไปค้าแข้ง สมัยที่ยังใช้ชื่อทีมว่ายันมาร์ ดีเซล เมื่อ พ.ศ. 2520 ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้เป็นเซเรโซ โอซาก้าในปัจจุบัน
ส่วนอีกสนาม คินโช สเตเดียมนั้น ได้ผู้สนับสนุนหลักเป็นบริษัท คินโช ที่ผลิตภัณฑ์น้ำหอมปรับอากาศ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ไล่แมลง และกำจัดแมลง

วิสเซิล โกเบ | Noevir Stadium Kobe
หนึ่งในทีมเจลีกที่มีแข้งไทยอย่างธีราทร บุญมาทัน ย้ายไปร่วมทีมเมื่อต้นซีซั่น นอกจากจะมีของขึ้นชื่ออย่างเนื้อโกเบแล้วนั้น ชื่อสนามก็น่าสนใจเช่นกัน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Noevir บริษัทที่นำสมุนไพรมาผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ และเครื่องสำอาง ของญี่ปุ่น
และสนามนี้ก็เคยใช้ทำการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 และจะใช้แข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกในปีหน้าอีกด้วย

ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา | Edion Stadium Hiroshima
จ่าฝูงเจลีกที่มีดาวยิงอย่าง ธีรศิลป์ แดงดา ช่วยล่าตาข่าย ได้ อิดิออน บริษัทยักษ์ที่ตั้งอยู่ในเมืองฮิโรชิมา เข้ามาถือลิขสิทธิ์ชื่อสนาม ซึ่งบริษัทนี้ได้ทำการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก

ซางัน โทสุ | Best Amenity Stadium
ทีมจากเกาะทางใต้ของประเทศญี่ปุ่นได้เบสต์อาเมนิติี้ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลัก ซึ่งเป็นบริษัทในการจำหน่ายและนำเข้าและผลิตสินค้าทางการเกษตรกรรมที่ใช้สำหรับการทำอาหารเป็นหลัก

วีวาเรน นางาซากิ | Transcosmos Stadium Nagasaki
น้องใหม่ทีมสุดท้าย ที่เลื่อนขึ้นมานั้น ได้บริษัท ทราคอสมอส เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สนาม ซึ่งเป็น บริษัทเอาท์ซอร์สด้านไอทีเป็นหลัก และมีบริษัทในประเทศไทยอีกด้วย

สนามอื่นๆ

คอนซาโดเล ซัปโปโร, คาชิมา อันท์เลอร์ส, อุราวะ เรด ไดมอนส์ และคาวาซากิ ฟรอนตาเล เป็นเพียงแค่ 4 ทีมในลีกสูงสุดเท่านั้นที่ไม่ได้มีชื่อสนามมาจากชื่อสปอนเซอร์ โดยสนามเหล่านี้ต่างนำชื่อของเมืองที่มีที่ตั้งของสนามอยู่มาใช้เป็นชื่อสนาม ไม่ว่าจะเป็น ซัปโปโรโดมที่มาจากเมืองซัปโปโร, คาชิมา ซ็อคเกอร์ สเตเดียม ที่มาจากเขตคาชิมาในจังหวัดอิบารากิ, ไซตามะ 2002 สเตเดียมที่มาจากจังหวัดไซตามะ และ คาวาซากิ โทโดโรกิ สเตเดียม ที่มาจากเขตโทโรโดกิ ในจังหวัดคาวาซากิ เป็นต้น