ไทยลีก ฟุตบอลญี่ปุ่น

ส่องบอลซามูไร : 10 สิ่งน่าสนใจเจลีกต่างจากลีกไทย

 

แฟนฟุตบอลชาวไทยเริ่มติดตามการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดแดนอาทิตย์อุทัย หรือ เจ1ลีก ประจำฤดูกาล 2018 กันมากขึ้น หลังมี 3 นักเตะไทยอย่างธีรศิลป์ แดงดา, ธีราทร บุญมาทัน และ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ค้าแข้งอยู่ ซึ่งแต่ละคนก็ได้โอกาสร่วมกับต้นสังกัดต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ ฟุตบอลไทรบ์พาไปติดตาม 10 เรื่องราวลูกหนังอาชีพในลีกสูงสุดแดนปลาดิบที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และต่างไปจากการแข่งขันลีกสูงสุดของไทยอย่าง โตโยต้า ไทยลีก อย่างเห็นได้ชัด

กด Next เพื่ออ่าน

 

1. มีระบบกลางเปิดให้ซื้อตั๋วชมการแข่งออนไลน์

ฟุตบอลเจลีกเปิดให้แฟนบอลจับจองตั๋วชมเกมการแข่งขันผ่านทางเว็บไซต์ทางการอย่าง www.jleague.jp ทั้งเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษสำหรับแฟนบอลต่างประเทศ ตอบโจทย์แฟนบอลที่ตั้งใจอยากจองตั๋วล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการจับจองที่นั่งฝั่งเจ้าบ้าน หรือทีมเยือน โดยระบบการจองจะหักราคาค่าตั๋วจากบัตรเครดิตได้เลย แต่ก็มีข้อจำกัดว่าแฟนบอลสามารถตั๋วสามารถซื้อล่วงหน้าได้สามเกม

สำหรับฟุตบอลไทยลีก ยังไม่มีระบบกลางที่เปิดให้แฟนบอลซื้อตั๋วชมการแข่งขันผ่านข่องทางการสื่อสารของลีก มีเพียงการจับจองที่นั่งล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์หลักของแต่ละสโมสร หรือช่องทางการจำหน่ายอื่นๆตามแต่ละสโมสรกำหนดเท่านั้น เช่น ชลบุรี เอฟซี เปิดให้จองที่นั่งล่วงหน้าผ่าน chonburifc.weloveticket.com หรือบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เปิดให้แฟนบอลซื้อตั๋วเกมล่วงหน้าผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ออลล์ทิคเก็ต ในร้าน 7-Eleven ได้ เป็นต้น

 

2. ทุกทีมสามารถลุ้นแชมป์และตกชั้นได้หมด

นับตั้งแต่ที่การแข่งขันไทยลีกเริ่มเข้าสู่ระบบการจัดการแข่งขันแบบมืออาชีพตามเอเอฟซี กำหนดเมื่อปี 2009 จะเห็นว่ามีเพียง 2 สโมสรที่สลับกันคว้าแชมป์ลีกจนถึงปีล่าสุด (2017) แบ่งเป็นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 5 สมัย เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด 4 สมัย แต่กับการแข่งขันเจ1ลีก เมื่อเทียบกับปี 2009 เช่นกัน จะเห็นว่ามีทีมที่คว้าแชมป์มากถึง 7 สโมสร คือ คาชิมา อันท์เลอร์ส 2 สมัย, นาโงยา แกรมปัส 1 สมัย, คาชิวา เรย์โซล 1 สมัย, ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา 3 สมัย, กัมบะ โอซากา 1 สมัย และคาวาซากิ ฟรอนทาเล 1 สมัย

นอกจากนี้ ศึกเจลีกยังคงบ่งบอกเป็นอย่างดีว่าทุกสโมสรสามารถมีผลการแข่งที่บอกแพ้ชนะได้เท่ากัน อย่างกรณี เซเรโซ โอซากา ที่ทำอันดับจบที่ 4 ในเจ1ลีก 2013 แต่พอเข้าสู่ซีซันถัดมาขุนพลจิ้งจอกแห่งโอซากา มีอันต้องกระเด็นตกชั้นไปสู่เจ2 หรือแม้แต่ทีมร่วมเมืองอย่างกัมบะ โอซากา ที่เคยมีประสบการณ์ร่วงตกชั้นอย่างสุดช็อคในปี 2012 ทว่าพวกเขาก็ใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวในการกลับมาเล่นลีกสูงสุด ก่อนเข้าป้ายคว้าแชมป์เจ1ลีกในปีถัดมา (2014) เป็นต้น

 

3. ไม่มีสนามเหย้าของตัวเอง

ในขณะที่สโมสรอาชีพของไทยหลายทีมเริ่มมีสนามเหย้าเป็นของตัวเอง เช่น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด (ช้าง อารีนา), สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด (สิงห์ สเตเดียม) หรือแม้แต่ ราชบุรี มิตรผล เอฟซี (มิตรผล สเตเดียม) ฯลฯ แต่กับฟุตบอลเจ1ลีก ทุกสโมสรยังเช่าสนามแข่งตามเทศบาลของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นเจ้าของสนามในการจัดการแข่งขัน ส่งผลให้หลายสโมสรมีสนามเหย้ามากกว่า 1 สนาม ซึ่งการเลือกใช้งานสนามก็จะมีเหตุผลที่ต่างกันออกไป ตามการประเมินผ่านเกมการแข่งขันของทีมในแต่ละรายการ

ตัวอย่างเช่น คอนซาโดเล ซัปโปโร ทีมของชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่เช่าซัปโปโร โดม (53,796 ที่นั่ง) เป็นรังเหย้าหลัก แต่หากวันใดสโมสรมีโปรแกรมลงแข่งฟุตบอลถ้วยหรือเกมไม่ใหญ่มาก ก็อาจจะเปลี่ยนมาใช้สนามที่มีขนาดเล็กกว่า ทั้งอัตสึเบตสึ พาร์ค (20,861 ที่นั่ง), ฮาโกดาเตะ จิโกงะได สเตเดียม (15,000 ที่นั่ง) หรือ มุโรรัน อิริเอะ สเตเดียม (ความจุ 12,600 ที่นั่ง) ที่จะต้องมาลงเตะอย่างน้อย 1 นัดต่อฤดูกาลที่สนามนี้

 

4. มาตรฐานการตัดสิน

หากใครสังเกตการแข่งขันฟุตบอลเจลีกผ่านการถ่ายทอดสด จะเห็นว่าผู้ตัดสินแดนอาทิตย์อุทัยมักไม่ค่อยเป่าให้จังหวะฟาวล์บ่อยครั้ง แม้จะมีจังหวะที่นักเตะตัดฟาวล์กัน แต่ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็จะปล่อยผ่าน มีมาตรฐานการตัดสินที่สูง เห็นได้ชัดจากตัวเลขในการแข่งขันของ 18 ทีมในฤดูกาลที่แล้ว ที่มีจังหวะแจกใบเหลืองเพียง 748 ใบ ใบเหลือง-แดง 13 ใบ และใบแดง 11 ใบ ส่วนช็อตเป่าให้เป็นจุดโทษ เปาแดนปลาดิบตัดสินให้เป็นลูกโทษเพียง 49 ครั้งเท่านั้น ในขณะที่การแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก ที่มี 18 ทีมร่วมชิงชัยเท่ากัน และหากมองผิวเผินผ่านการถ่ายทอดสด แฟนบอลไทยคงเห็นจังหวะเป่าฟาวล์หลายหน เมื่อแปลงเป็นตัวเลขจากปี 2017 ผู้ตัดสินจากไทยลีกเป่าให้ใบเหลืองนักเตะมากถึง 1,157 ใบ, ใบเหลือง-แดง 27 ใบ, ใบแดงโดยตรงมากถึง 32 ใบ และให้จุดโทษ 100 ครั้ง

 

6. ดาวซัลโวเป็นแข้งท้องถิ่น

ลีกฟุตบอลในเอเชียส่วนใหญ่นิยมใช้แข้งต่างชาติ หลายคนก้าวขึ้นมาเป็นกองหน้าตัวหลักประจำทีม ชนิดที่แข้งสัญชาติลีกนั้นๆไม่มีโอกาสลงสนาม โดยไทยลีกก็เป็นอีกหนึ่งลีกที่นิยมใช้ผู้เล่นต่างชาติลงเป็นแดนหลักในแนวรุก เห็นได้จากลิสต์ดาวซัลโวไทยลีกนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ชื่อของแข้งต่างชาติล้วนแต่เป็นดาวซัลโวประจำลีกทั้งสิ้น (ปี 2012 มีเคลตัน ซิลวา และธีรศิลป์ แดงดา เป็นดาวซัลโวร่วมที่ 24 ประตู)

แต่ความนิยมใช้ศูนย์หน้าต่างชาติกับไม่เกิดขึ้นในวงการลูกหนังลีกสูงสุดแดนซามูไรมากนัก หากมองที่สถิติดาวซัลโว จะเห็นว่าในช่วง 6 ปีหลังสุด (2012-2017) มีผู้เล่นเลือดเนื้อเชื้อไขลูกพระอาทิตย์มีชื่อเป็นดาวยิงสูงสุดมากถึง 5 ฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โยชิโตะ โอคุโบะ อดีตกองหน้าทีมชาติญี่ปุ่น ที่ครองดาวซัลโวเจลีกได้ถึง 3 สมัยติดต่อกันในปี 2013-2015 ในสีเสื้อของคาวาซากิ ฟรอนทาเล

 

7. การถ่ายทอดสด

ปัจจุบันเจลีกมี DAZN ของ Perform Group หนึ่งในผู้นำในแวดวงสื่อและกีฬารูปแบบดิจิทัลเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดตั้งแต่เจ1, เจ2 และ เจ3 ด้วยมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.6 พันล้านบาท ในสัญญา 10 ปี แทนที่ของเดิมอย่างการถ่ายทอดสดผ่านทางเคเบิ้ลทีวี โดย DAZN ครอบคลุมการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาแบบ on-demand ให้แฟนบอลทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติติดตามทุกความเคลื่อนไหวในการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้มุมกล้องของการถ่ายทอดสด ตลอดจนค่าสถิติต่างๆของเกมการแข่งขันมักปรากฎในขณะที่การแข่งยังคงอยู่เสมอ อีกทั้งช่วงระหว่างพักครึ่ง ยังสอดแทรกบทสัมภาษณ์ของโค้ชกับเกมใน 45 นาทีแรก ตลอดจนสกู๊ปสั้นๆของอดีตนักเตะดังที่เคยสัมผัสเวทีลีกสูงสุดของประเทศ ให้แฟนบอลได้ติดตามอีกด้วย

 

8. แฟนบอลเลือกเชียร์ทีมจากท้องถิ่นตัวเอง

แฟนฟุตบอลชาวไทยส่วนใหญ่อาจจะมีทีมเชียร์มากกว่าหนึ่งสโมสร แฟนฟุตบอลชาวญี่ปุ่น เป็นปกติที่แต่ละคนจะเลือกให้กำลังใจสโมสรที่มาจากท้องถิ่นที่ตนเองอยู่ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จและตกชั้น ใครเกิดเมืองไหน ก็จะเชียร์ทีมประจำเมืองนั้น ตัวอย่างเช่น สโมสรโอมิยะ อาดิจา ทีมอันดับสุดท้ายในเจ1ลีก 2017 ที่แม้จะตกชั้นก่อนจะจบซีซัน แต่ก็มีค่าเฉลี่ยผู้ชมในสนามตลอด 34 แมตช์มากถึง 11,464 คน หรือแม้แต่สโมสร เธสปาคุซัตสึ กุนมะ อันดับสุดท้ายในเจทู 2017 ที่มีอันต้องตกชั้นสู่เจ3ชนิดที่หลังจบฤดูกาลมีแต้มตามหลังรองบ๊วยถึง 17 คะแนน ทว่าก็ยังมีค่าเฉลี่ยแฟนบอลให้กำลังใจในสนามเฉลี่ยต่อเกมมากถึง 3,832 คน

 

9. ยอดผู้ชมในสนาม

อีกหนึ่งเสน่ห์ของการแข่งขันเจ1ลีกคือเสียงเชียร์กระหึ่มที่พร้อมจะให้กำลังใจทีมไม่ว่าจะเจอกับผลชนะหรือแพ้ชนิดที่ไม่มีหมด 90 นาทีของแฟนบอล ทั้งในวันที่สนามแต่ละแห่งมีทั้งแบบเต็มความจุและไม่เต็มความจุ สิ่งนี้สะท้อนผ่านตัวเลขของแฟนบอลแดนซามูไรที่เข้ามาให้กำลังใจทีมรักของตัวเองเมื่อปี 2017 ปรากฏว่าลีกสูงสุดแดนอาทิตย์อุทัยมีค่าเฉลี่ยแฟนบอลสูงถึง 5,778,178 คน เฉลี่ยแต่ละเกมมียอดผู้เข้าชม 18,883 คน

ในขณะที่วงการลูกหนังบ้านเรา หากสังเกตด้วยตาเปล่าผ่านการถ่ายทอดสด จะเห็นถึงยอดผู้ชมในหลายสนามค่อนข้างบางตากว่าก่อน จากเหตุผลที่สื่อหลายสำนัก หรือแฟนบอลลงความเห็นต่างๆนานา อาทิ โปรแกรมจัดถี่ เศรษฐกิจไม่ดี ตลอดจนทีมที่เชียร์ผลงานดร็อปลง ฯลฯ เห็นชัดจากตัวเลขยอดผู้ชมไทยลีกปีที่แล้ว มียอดแฟนบอลในสนามประมาณ 1,399,728 คน เฉลี่ยต่อเกมที่ 4,604 คนเท่านั้น

 

10. การเผยแพร่ข่าวสารของสโมสร

ปัจจุบันทุกสโมสรในไทย ต่างเลือกนำเสนอ เผยแพร่ข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆในทีมผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก จากพฤติกรรมการใช้งานของคนไทยที่มีมากกว่า 49 ล้านยูสเซอร์ (Users) โดยผลสำรวจช่วงต้นปี 2018 และแทบจะมีโพสต์ความเคลื่อนไหวตลอด 1 วัน ครอบคลุมทั้งเรื่องในและนอกสนาม ยกตัวอย่างสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด (2,280,343 ไลก์ มากสุดที่ไทย) ที่เมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน มีโปรแกรมการแข่งขันไทยลีกนัดกลางสัปดาห์ สโมสรโพสต์ข้อความลงมากกว่า 10 ครั้ง มีทั้งการรายงานผลการแข่งขัน ตลอดจนบรรยากาศก่อน-หลังเกม

แต่กับเจลีก ช่องทางการนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของแต่ละสโมสรกับการปรากฏผ่านเฟซบุ๊กนั้นมีให้เห็นน้อยเมื่อเทียบกับสโมสรในไทย ยกตัวอย่าง คอนซาโดเล ซัปโปโร (56,342 ไลก์) ที่เมื่อวันที่ 12 เมษายน ก็มีโปรแกรมเจลีกทำการแข่งขัน ทว่ากลับมีโพสต์ความเคลื่อนไหวออกมาเพียง 3 โพสต์เท่านั้น นั่นเป็นเพราะสโมสรในเจลีกมักเลือกประชาสัมพันธ์ข่าวสารผ่านช่องทางทวิตเตอร์เป็นหลัก (มีมากถึง 40 ล้าน Users ในปี 2017) ซึ่งทีมนกเค้าแมวเมืองเหนือมีความเคลื่อนไหวของสโมสรยกตัวอย่างในวันที่มีการแข่งเจลีกนัดที่ 7 มากกว่า 10 ทวิต ครอบคลุมทั้งเรื่องในและนอกสนามเช่นกัน

นอกจากนี้ การเผยแพร่ข่าวสารสโมสรในญี่ปุ่น ก็มักจะนำเสนออัพเดทข่าวทั่วไปเกี่ยวกับทีมเท่านั้น เช่น ใครเจ็บ ใครย้าย ตารางการฝึกซ้อม ตารางอีเวนท์ที่สโมสรหรือนักเตะไปจัดกิจกรรมร่วมกับท้องถิ่น ส่วนวันที่มีแมตช์การแข่งขัน การรายงานผลการแข่ง 1 นัดจะรวมไปอยู่ในรีพอร์ทเดียว ทั้งผลการแข่งขัน สถิติหลังเกม ตลอดจนความเห็นของนักเตะและโค้ช ในขณะที่บ้านเรามักจะทำเป็นข่าวแยก อย่างการแยกเป็นผลการแข่ง หรือบทสัมภาษณ์ทั้งก่อนและหลังเกม เป็นต้น