ฟุตบอลญี่ปุ่น เจลีก

นามนี้มีที่มา: เจาะลึกความหมายชื่อสโมสรเจลีก 2018 (ตอน 1)

จากการที่ฟุตบอลลีกอาชีพสูงสุดของญี่ปุ่นในนาม “เจ1ลีก” มีสามนักเตะทีมชาติไทยไปค้าแข้งในซีซัน 2018 ไม่ว่าจะเป็น ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่ลงเล่นให้คอนซาโดเล ซัปโปโร เป็นฤดูกาลที่สอง ธีรศิลป์ แดงดา กองหน้าป้ายแดงที่ประเดิมสกอร์แรกให้ซานเฟรชเช ฮิโรชิมาไปแล้ว ส่วนอีกคนคือ ธีราทร บุญมาทัน ที่ย้ายมาอยู่กับ วิสเซล โกเบ สิ่งนี้จึงทำให้ลีกสูงสุดแดนอาทิตย์อุทัยเริ่มเป็นที่สนใจของแฟนบอลไทยมากขึ้น

และเนื่องจากชื่อทีมในเจ1ลีก ล้วนแต่มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ ไม่เหมือนลีกอื่นที่เรามักเห็นแต่ชื่อทีมที่ลงท้ายด้วย เอฟซี หรือ ยูไนเต็ด และนี่คือที่มาของ 18 ชื่อสโมสรในเจ1ลีก ตอนที่ 1

กด Next เพื่ออ่าน

คอนซาโดเล ซัปโปโร

สโมรปัจจุบันของชนาธิป สรงกระสินธ์เดิมทีเริ่มก่อตั้งจากทีมบริษัทของโตชิบา โดยพวกเขาก่อตั้งขึ้นในปี
1935 ภายใต้ชื่อ โตชิบา โฮริคาวะ-โชะ ฟุตบอลคลับที่จังหวัดคานางาวะ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น โตชิบา ซ็อคเกอร์คลับในปี 1980 กระทั่งบริษัทย้ายฐานขึ้นเหนือไปที่เมือง ซัปโปโร บนเกาะฮอกไกโด พร้อมการโอนสิทธิ์ทีมไปสู่บริษัทฮอกไกโด ฟุตบอลคลับ จึงเกิดชื่อใหม่ของสโมสร ที่ไม่ได้อิงกับโตชิบาอีกต่อไปในนาม คอนซาโดเล ซัปโปโร

โดย คอนซาโดเล ซัปโปโร มีที่มาจากคำว่า Dosanko ที่แปลว่าคนฮอกไกโด แต่มาอ่านกลับหลัง (do-sa-n-ko = ko-n-sa-do) บวกกับคำว่า Ole ในภาษาสเปน แล้วใส่ชื่อเมืองลงไปจึงกลายเป็น Condadole Sapporo

เวกัลตะ เซนได

เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมี “เทศกาลทานาบาตะ" ที่คนแดนปลาดิบจะเขียนคำอธิษฐาน อวยพร สืบเนื่องมาจากตำนานความรักของเจ้าหญิงทอผ้า โอริฮิเมะ หรือดาวเวก้า (Vega) กับ ฮิโกโบชิ ชายเลี้ยงวัว หรือดาวอัลแตร์ (Altair) ที่เจออุปสรรคอุปสรรคเรื่องความรักบนสรวงสวรรค์ ที่ท้ายสุดแล้วทั้งสองจะมีโอกาสได้กลับมาพบกันสมดังใจที่คิดถึงและปรารถนาเพียง 1 ครั้งต่อปี ในวันที่ทางช้างเผือกจะออกมาปรากฏบนท้องฟ้าของประเทศญี่ปุ่น ทุกๆวันที่ 7 เดือน 7 (กรกฏาคม)

จากตำนานและเทศบาลดังกล่าว ถูกสานต่อมายังการก่อตั้งที่มาของทีมจากเซนได โดยสาวทอผ้าในนามของดาวเวก้า "Vega" กับชายเลี้ยงวัวก็คือ ดาว "Altair" ที่เมื่อเอาคำว่า Vega รวมกับ Altair มาผสมกัน พร้อมกับเอาชื่อเมืองทิ้งท้าย จึงเป็นคำว่า เวกัลตะ เซนได (Velgata Sendai)

คาชิมา อันท์เลอร์ส

ทีมจากจังหวัดอิบารากิเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเจลีก จากผลงานคว้าแชมป์ลีกมากถึง 8 สมัย โดยชื่อเดิมคือ สุมิโมโตะ เมทัล เอฟซี ลงเล่นในลีกสมัครเล่นเมืองโอซากา ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่เมืองคาชิมาและเปลี่ยนชื่อทีมในปี 1975 พวกเขาได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทดังที่เกี่ยวกับเหล็กอย่าง บริษัท นิปปอน สตีล & สึมิโมโตะ เมทัล จนกลายมาเป็น คาชิมา อันท์เลอร์ส

ที่มาของ Antlers แปลว่า เขากวาง ซึ่งมาจากคำว่า (鹿嶋市) ส่วนคาชิมาเมื่อเขียนด้วยตัวคันจิแล้ว แปลว่า เกาะกวาง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ตราสโมสรมีสัญลักษณ์เป็นรูปหัวกวาง ขณะที่มาสคอตก็ใช้ครอบครัวสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ โดยตัวผู้มีชื่อว่า “ชิคาโอะ” ตัวเมียชื่อ “ชิคาโกะ” ส่วนลูกกวางชื่อ “อันทอน”

อูราวะ เรดส์

ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่าอูราวะ เรดส์ ในปัจจุบัน ย้อนไปเมื่อปี 1950 กับระบบการแข่งขันฟุตบอลลีกซามูไรเมื่อครั้งที่เป็นระบบกึ่งลีกอาชีพ พวกเขาใช้ชื่อว่า “Shin-Mitsubishi Heavy Industries” โดยมีที่มาของชื่อจากบริษัท Mitsubishi (มิตซูบิชิ) ในฐานะบริษัทแม่ กระทั่งก้าวเข้าสู่ระดับอาชีพ สโมสรดังแถบกรุงโตเกียวถือหนึ่งในสโมสรยุคบุกเบิกของการแข่งขันฟุตบอลเจลีก ในปี 1993 และเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า อูราวะ เรดส์แทน ซึ่งนิยามของทีมยุคเจลีก มีความหมายตรงตัวว่า เพชรแดง (เรด ไดมอนส์) ที่มาจากโลโก้รูปเพชรสีแดง 3 เม็ดของมิตซูบิชิ ทั้งยังเอกลักษณ์รูปเพชรแดงยังคงไว้ในลายเสื้อแข่งอยู่ทุกฤดูกาล

คาชิวา เรย์โซล

ทีมแรกและทีมเดียวในญี่ปุ่นที่สามารถคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ทันทีที่เลื่อนชั้นขึ้นมาเมื่อปี 2011 ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1940 โดยเริ่มเเรกนั้นเป็นทีมฟุตบอลของบริษัท Hitachi (ฮิตาชิ) โดยตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ก่อนที่ฮิตาชิทางบริษัทย้ายฐานการผลิตมาที่เมืองคาชิวา ในจังหวัดชิบะ ทำให้ทีมฟุตบอลย้ายฐานตามมาด้วย เเต่ประสบปัญหาในช่วงเเรกจึงยุบทีมลงไป ก่อนที่จะมีการตั้ง คาชิวา เรย์โซล โดยการสนับสนุนของบริษัทฮิตาชิเช่นเดิมเมื่อปี 1993

สำหรับที่มาของชื่อทีม เกิดจากคำผสมระหว่าง “Reys” ในภาษาสเปนที่แปลว่า พระราชา และ “sol” ในภาษาโปรตุเกสที่แปลว่า “พระอาทิตย์” เมื่อนำมารวมกันจึงกลายเป็นความหมายว่า ราชาแห่งพระอาทิตย์ หรือ เจ้าชายสุริยะ อีกทั้งชื่อของบริษัท ฮิตาชิ คำว่า “ฮิ (Hi)” ในภาษาญี่ปุ่นก็แปลว่า ดวงอาทิตย์ เช่นกัน

เอฟซี โตเกียว

ในขณะที่ทีมร่วมลีกมีินิยาม และความหมายของการก่อตั้งสโมสรอันเป็นเอกลักษณ์ ทว่าสโมสรจากเมืองหลวงกลับใช้ชื่อทีมที่ยึดเพียงบริษัทแม่อย่าง โตเกียว แก๊ส บริษัทผู้ผลิตแก๊สธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศเป็นเจ้าของในชื่อเดิมนามว่า โตเกียว แก๊ส เอฟซีั ตั้งแต่ปี 1935 จนกระทั่งปี 1998 ที่ฟุตบอลลีกของญี่ปุ่นเริ่มมาสู่ความเป็นมืออาอชีพอย่างเต็มตัว การบริหารทีมเริ่มเป็นมืออาชีพมากขึ้น และได้เปลี่ยนทีมบริหารมาเป็นบริษัท โตเกียว ฟุตบอลคลับแทน และยังคงโลโกของสโมสรยังคงมีรูปเปลวเพลิงจากบริษัทแม่ มาจนปัจจุบัน

คาวาซากิ ฟรอนทาเล

ทีมฟุตบอลประจำเมืองคาวาซากิ ในจังหวัดคานางาวะ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว ก่อตั้งมาในปี 1955 ในนามของ ฟูจิทสี ฟุตบอล คลับ เพราะเป็นทีมฟุตบอลที่บริษัทฟูจิทสึ (Fujitsu) สนับสนุน ก่อนที่แผนกของฟูจิทสึที่ก่อตั้งทีมฟุตบอล ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า คาวาซากิ ฟรอนทาเล ในปี 1997 จากการที่ลีกอาชีพญี่ปุ่นจะเปลี่ยนมาเป็นระบบฟุตบอลลีกเเบบในปัจจุบัน โดยนิยามของคำว่า ฟรอนทาเล ยึดมาจาก "Frontal" ในภาษาอิตาลีที่แปลว่า "ก้าวไปข้างหน้า" อีกทั้งสีประจำสโมสรอย่างฟ้า-ดำ รวมถึงตัวมาสคอต “ฟรอนทา” ที่เป็นโลมา แสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองท่าริมน้ำของคาวาซากิ

โยโกฮามา เอฟ มารินอส

ทีมจากเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เริ่มก่อตั้งสโมสรในปี 1972 ครั้งแรกพวกเขาใช้ชื่อสโมสรว่า นิสสัน มอเตอร์ส เอฟซี ซึ่งเป็นบริษัทที่มีฐานการผลิตอยู่ที่เมือง ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น โยโกฮามา เอฟ มารินอส 1998 โดยที่มาของชื่อสโมสรมาจากการที่ทีมตั้งอยู่ในเมือง โยโกฮามา เมืองท่าแดนอาทิตย์อุทัย ถือเป็นการเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามาก หนึ่งในนั้นคือการเปิดรับกีฬาฟุตบอลโดยทหารเรือแห่งกองทัพอังกฤษ ในช่วงศตวรรษที่ 19 จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองนี้จะมีชื่อเรียกว่า "มารินอส" หรือ "Sailors (เซเลอร์ส)" ในภาษาสเปน ซึ่งหมายถึง กะลาสี หรือ ทหารเรือ ขณะที่ “เอฟ” มาจากการรวมทีมกับ โยโกฮามา ฟูลเกลส์ เมื่อปี 1999

โชนัน เบลล์มาเร

เนื่องด้วยพื้นที่ของเมืองโชนัน อยู่ติดกับอ่าวซะกะมิ (Sagami Bay) ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองมีแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับผืนน้ำเป็นสำคัญ สิ่งนี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่โยงมาถึงทีมสโมสรประจำเมืองนามว่า โชนัน เบลล์มาเร ไม่ว่าจะเป็นโลโกที่มีรูปเกลียวคลื่นและง่ามสามแฉก ไปจนถึงตัวมาสคอตสโมสรอย่าง “King Bell the First” ที่ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทพกรีกอย่างโพเซดอน ที่มีทั้งมงกุฎและสามง่าม เพื่อเป็นตัวแทนของเมืองแถบชายฝั่งอย่างโชนัน

สำหรับชื่อของ "Bellmare" เกิดจากการผสมคำ 2 คำในภาษาอิตาลีระหว่าง "Bello" แปลว่า "สวยงาม" และ "Mare" ที่แปลว่า "ทะเล" นำมาสู่การผสมกันว่า "Bellmare" หรือชื่อไทยคือ ทะเลสวยงาม นั่นเอง