เอเชีย ฟุตบอลญี่ปุ่น

YOU NEED TO KNOW : 10 เรื่องน่ารู้ฟุตบอลเจ3

หลังจากที่สิทธิโชค ภาโส และ จักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ เป็นสองนักเตะไทยที่มีโอกาสลงสนามในฟุตบอลลีกอาชีพระดับล่างสุดของญี่ปุ่นอย่าง เจ3 เมื่อซีซันที่แล้ว ในฤดูกาล 2018 ที่จะถึงนี้ก็จะมีแข้งไทยอีกรายที่จะมีโอกาสสัมผัสเกมการแข่งขันระดับนี้เช่นกัน คือ เชาววัฒน์ วีระชาติ กับสังกัดเซเรโซ โอซากา U23 และนี่คือ 10 เรื่องน่ารู้ของลีกการแข่งขันระดับล่างสุดแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย

กด Next เพื่ออ่าน

1. ก่อตั้งเมื่อปี 2014

การแข่งขันฟุตบอลระดับเจ3 จัดเป็นการแข่งลูกหนังรูปแบบลีกระดับล่างสุดของประเทศญี่ปุ่น รองจาก เจ1 และ เจ2 เริ่มมีแนวคิดมาจากการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานและรูปแบบเกมการแข่งขัน หลังจากที่ลีกแดนซามูไรมียอดผู้ชมในสนามลดลงจากช่วงแรกที่ก่อตั้ง เห็นได้ชัดจากปี 1997 ที่มีแฟนบอลเข้าชมเฉลี่ยต่อเกมเหลือเพียงแค่ 10,131 คนเท่านั้น ทั้งที่ปี 1994 ซึ่งช่วงถือกำเนิดเคยมีแฟนบอลชมเกมมากถึง 19,000 คน

โดยหนึ่งในหนทางการปรับระบบการแข่งขันเกิดขึ้นในปี 1999 คือการกำหนดให้ 9 สโมสรจากลีกกึ่งอาชีพ JFL และอีก 1 สโมสรจากเจลีก ร่วมสร้างเจลีก ดิวิชัน 2 ทำการแข่งขันในปีนั้น พร้อมแผนงานผลักดันให้ลีกอันดับสองอย่าง JFL กลายเป็นลีกระดับ 3 ในอนาคต

จากนั้นพอเกิดลีกรองขึ้นมา วงการลูกหนังญี่ปุ่นกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งการที่ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดเวิลด์คัพ 2002 รวมถึงการผ่านเข้าไปเล่นบอลโลกต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1998 อีกทั้งสโมสรในประเทศทำผลงานเด่นในรายการเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก นำมาสู่การเกิดขึ้นสโมสรมากมายกระจายทั่วภูมิภาคในยุคทศวรรษ 2000 ทำให้เจทูมีทีมเพิ่มมากถึง 22 ทีมในปี 2012 กระทั่งมีนโยบายผลักดันการแข่งเจ3 ขึ้นในปี 2014 โดยมี 12 ทีมร่วมการแข่งขัน ก่อนจะขยายเพิ่มมาเรื่อยๆ จนฤดูกาลใหม่ที่จะถึงนี้ (2018) มีทีมร่วมชิงชัยถึง 16 สโมสร

2. ให้สิทธิ์พิเศษโควตาอาเซียนเหมือนลีกบน

ในโควตาต่างชาติของทีมในเจ3 มีความแตกต่างจากเจ1ลีก ที่ให้สิทธิ์ใส่ชื่อได้ 5 คน ตรงที่สโมสรลีกล่างของประเทศถูกกำหนดให้มีแข้งต่างแดนในทีม 3 ราย ทว่ากับโควตาแข้งจากชาติพันธมิตรทั้งในอาเซียนและเอเชียทั้งไทย, เวียดนาม, เมียนมา, กัมพูชา, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย,มาเลเซีย, กาตาร์และอิหร่าน เจ3 เปิดโอกาสให้แต่ละทีมมีแข้งจากชาติเหล่านี้อยู่ในทีมได้ 1 คน อย่างฤดูกาลก่อนที่คาโงชิมา ยูไนเต็ด มีสิทธิโชค ภาโส ค้าแข้งในทีม, ฟูจิเอดะ เอ็มวาย เอฟซี มี จัน วัฒนากา รวมถึงจักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ ของเอฟซี โตเกียว U23

อีกทั้งในฤดูกาล 2018 นี้ ก็จะมีเชาว์วัฒน์ วีระชาติ อีกหนึ่งนักเตะไทยที่จะมีโอกาสลงสนามให้เซเรโซ โอซากา U23

3. เคยมีทีมชาติชุดเยาวชนลงเล่นในลีก

ครั้งหนึ่งสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นเคยมีแพลนให้ขุนพลนักเตะทีมชาติชุดอายุไม่เกิน 22 ปี ลงทำการแข่งขันในเกมลีกเจ3 ในฤดูกาล 2014 และ 2015 เพื่อการเตรียมทีมสู่การแข่งขันโอลิมปิก 2016 ที่บราซิล

สำหรับผลงานของแข้งชุด U22 ในซีซันแรกของการก่อตั้งเจ3 พวกเขาจบฤดูกาลด้วยอันดับ 10 และในซีซันถัดมาจบฤดูกาลด้วยอันดับ 12 ก่อนจะพกประสบการณ์ดังกล่าวลงดวลสนามจริงในรายการชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี เมื่อปี 2016 และประสบความสำเร็จกรุยทางสู่การแข่งขันรอบสุดท้ายที่ริโอ เดอ จาเนโร ในฐานะแชมป์เอเชียสมใจอยาก

4. เวทีบ่มเพาะแข้งเยาวชน

นอกจากจะเคยเปิดโอกาสให้ทีมชาติชุดเตรียมลุยริโอ เกมส์ ลงเล่นในเกมลีกเป็นเวลา 2 ซีซัน ศึกเจ3 ก็ยังเปิดโอกาสให้บรรดานักเตะเยาวชนในประเทศมีโอกาสพิสูจน์ฝีเท้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีฤดูกาล 2016 เริ่มกำหนดให้สโมสรจากเจ1ลีกส่งทีมชุดอายุไม่เกิน 23 ปี เข้าร่วมการแข่งขัน J3 ซึ่งทีม U23 ที่จะลงแข่งในแต่ละเกมนั้น จะอนุญาตให้มีนักเตะอายุเกินได้ไม่เกิน 3 คน และ 1 ใน 3 จะต้องเป็นผู้เล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตู และจะไม่มีสิทธิ์เลื่อนชั้นไป J2 ซึ่งหลังกำหนดโอกาสดังกล่าวขึ้นมา มีทีมจากลีกบนที่ส่งนักเตะเยาวชนมีลงไปแล้ว 3 ทีมด้วยกัน คือ เซเรโซ โอซากา, กัมบะ โอซากา และเอฟซี โตเกียว

จากการเปิดโอกาสให้แข้งวัยรุ่นได้มีโอกาสวาดลวดลายในสนาม ก่อให้เกิดสถิติน่าจดจำผ่านผลงานของ ทาเคฟุสะ คุโบะ แข้งฉายา “เมสซีญี่ปุ่น” เจ้าของผลงานนักเตะที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ลงเล่นในเจลีก ในวัย 15 ปี 5 เดือนกับอีก 1 วัน เมื่อซีซัน 2016 รวมถึงผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่ยิงประตูได้ในเจลีกด้วยวัย 15 ปี 10 เดือนกับอีก 15 วัน เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

5. เอฟซี ริวกิว สโมสรอาชีพแห่งเดียวจากเกาะโอกินาวา

เอฟซี ริวกิว คือสโมสรระดับอาชีพทีมเดียวของโอกินาวา จังหวัดชื่อดังทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ที่นอกจากจะเป็นทั้งเมืองพักร้อนของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังมีความหลากหลายในเรื่องของภาษา วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตที่ต่างจากผู้คนบนเกาะใหญ่ และมีระยะห่างจากกรุงโตเกียว หากเดินทางโดยเครื่องบินประมาณ 1536 กิโลเมตร

สโมสรแห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2003 ก่อนจะก้าวขึ้นมาเล่นในเกมลีกอาชีพหนแรกพร้อมกับการก่อตั้งเจ3 เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยตลอดระยะเวลาการยืดหยัดในลีกอาชีพระดับล่างของประเทศ โดย ริวกิว ทำผลงานจบอันดับกลางตารางมาโดยตลอด ไล่มาตั้งแต่ปี 2014 และ 2015 ที่จบฤดูกาลด้วยอันดับ 9 ปี 2016 จบฤดูกาลอันดับ 8 และซีซันที่เพิ่งจบไป คว้าอันดับ 6 ของตาราง

6. สโมสรเกินครึ่งตั้งอยู่บนเกาะฮอนชู

14 จาก 17 ทีมในศึกเจ3 (นับจากฤดูกาล 2018) ตั้งอยู่บนพื้นที่ของเกาะฮอนชู ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมด ประกอบไปด้วย 4 ทีมจากเขตนครโตเกียวอย่างเอซี โตเกียว U23, วายเอสซีซี โยโกฮามา, เอสซี ซากามิฮาระ และเธสปา คูซัทสึ ที่เพิ่งหล่นชั้นจากเจทูซีซันก่อน รวมถึง 2 ทีมจากโอซากาอย่าง เซเรโซ โอซากา U23 และกัมบะ โอซากา U23

นอกนั้นเป็นสโมสรที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดบนเกาะฮอนชูทั้งจังหวัดชิสุโอกะ ที่มี อซูส คราโร นูมาซู (เมืองนูมาซู) และ ฟูจิเอดะ เอ็มวายเอฟซี (เมืองฟูจิเอดะ), เบลาบลิทซ์ อาคิตะ ในเมืองอาคิตะ, ฟุคุชิมะ ยูไนเต็ด (เมืองฟุคุชิมะ), ไกนาเร โตโตริ (เมืองโตโตริ), กรุลลา โมริโอกะ สโมสรจากเมืองโมริโอกะ ในจังหวัดอิวาเตะ, คาเตอเลอร์ โตยามา (เมืองโตยามา), เอซี นากาโนะ ปาร์เซียโร (เมืองนากาโน)

ส่วน กิราวานซ์ คิตะคิวชู และ คาโงชิมา ยูไนเต็ด คือสองทีมที่ตั้งอยู่บนเกาะคิวชู ด้าน เอฟซี ริวกิว คือทีมอาชีพทีมเดียวของโอกินาวา ทางตอนใต้สุดของประเทศ

7.ทีมแชมป์แต่ละฤดูกาลยังไม่เคยตกชั้น

นับตั้งแต่ที่ก่อตั้งเจ3 ขึ้นมา ยังไม่เคยมีทีมใดที่เป็นแชมป์ คว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นสู่เวทีเจทู และหล่นชั้นลงมาเล่นในลีกอาชีพระดับล่างสุดของประเทศเลย ไล่มาตั้งแต่ทีมแชมป์ปีแรกอย่าง ชไวเกน คานาซาวะ, เรโนฟา ยามางุจิ แชมป์ปี 2015, โออิตะ ทรินิตะ ในฤดูกาล 2016

นอกจากนี้ มาชิดะ เซลเวียร์ รองแชมป์เจ3 ประจำซีซัน 2015 ก็เป็นอีกหนึ่งทีมที่เมื่อคว้าสิทธิ์ลุยเจทูแล้ว ก็ยังไม่เคยตกชั้นกลับมายังลีกเจ3เช่นกัน

8.แข้งญี่ปุ่นครองดาวซัลโวทุกซีซัน

ลีกอาชีพระดับล่างสุดของญี่ปุ่นนับเป็นอีกหนึ่งเวทีวัดความคมของเหล่าแนวรุกเลือดบูชิโด โดยตลอดฤดูกาลที่ผ่านมา เจ3 มีนักเตะชาวญี่ปุ่นติดทำเนียบดาวยิงสูงสุดมาโดยตลอด ขณะที่รายชื่อของแข้งต่างชาติก็มีเพียง ยู อิน-ซู แข้งชาวเกาหลีใต้ของเอฟซี โตเกียว U23 คนเดียวเท่านั้นที่มีชื่อติดอันดับท็อป 5 ในฤดูกาล 2016

สำหรับฤดูกาล 2014 โคจิ ซูซูกิ ดาวยิงสังกัดมาชิดะ เซลเวียร์ ครองดาวซัลโวที่จำนวน 19 ประตู ซีซันถัดมาเป็นของ คาซุฮิโตะ คิชิดะ ของทีมเรโนฟา ยามางุจิ ที่กระหน่ำมากถึง 32 ประตู พาทีมจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งแชมป์ ส่วนโนริอากิ ฟูจิโมโต ของคาโงชิมา ยูไนเต็ด เป็นเจ้าของสถิติครองดาวซัลโวติดต่อกัน 2 ฤดูกาล โดยในปี 2016 ยิงไป 15 ประตู ส่วนซีซันล่าสุดซัดไป 24 ประตู

9.ยอดผู้รวมชมในสนามสูงขึ้นทุกปี

แม้จะเป็นลีกอาชีพระดับล่างสุดของประเทศ ทว่ายอดผู้ชมในสนามของเจ3 ก็นับว่ามีจำนวนยอดผู้ชมไม่น้อย และหากนำไปเทียบกับเกมลีกรองของชาติร่วมภูมิภาคอย่าง ไชนา ลีกทู ของจีน ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกันอย่างชัดเจน โดยลีกดิวิชัน 3 แดนมังกรเมื่อฤดูกาล 2017 มียอดผู้ชมในสนามฤดูกาลที่แล้วจำนวน 1,857,359 คน หรือเฉลี่ยที่ 2,515 คน

สำหรับซีซันแรกของศึกเจ3 มียอดผู้ชมในสนาม 444,966 คน เฉลี่ยที่ 2,247 คน ต่อมาในฤดูกาล 2015 มียอดผู้ชม 569,016 เฉลี่ย 2,432 คน ส่วนปี 2016 อยู่ที่ 709,640 คน หรือเฉลี่ย 2,957คน ปิดท้ายที่ฤดูกาลล่าสุด (2017) มียอดผู้ชมในสนาม 710,621 มีค่าเฉลี่ยที่ 2,613 คน

10. ค่าเฉลี่ยทำประตูต่อนัดไม่น้อยกว่า 2 ลูก

อีกหนึ่งความมันตลอดการแข่งขันในแต่ละฤดูกาลของเจ3 คือการทำประตูในแต่ละเกม ซึ่งเมื่อเทียบการทำเกมรุกเร้าใจที่เปลี่ยนผลเป็นค่าเฉลี่ยสกอร์กับลีกระดับสูงกว่าทั้งเจ1 และเจ2 จะเห็นว่าค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อเกมมีความมันไม่แพ้กัน สำหรับเจ1ลีก ฤดูกาล 2017 มีค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อนัดที่ 2.59 ลูก จากจำนวน 793 ประตูของการแข่งขันทั้งหมด 306 เกม ส่วนเจทูมีค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อนัดที่ 2.59 นัด ของจำนวนการยิง 1,198 นัดจาก 462 เกม

ในเจ3 ฤดูกาล 2014 มีค่าเฉลี่ยการกดสกอร์ที่ 2.5 ลูกต่อเกม จากจำนวน 495 ประตู ตลอดการลงเล่น 198 นัด ซีซัน 2015 มีค่าเฉลี่ยการกดสกอร์ที่ 2.5 เช่นกัน จากจำนวนการยิงทั้งหมด 586 ลูก ใน 234 เกม ส่วนปี 2016 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.47 ประตูต่อเกม จากการยิงทั้งหมด 592 ประตูใน 240 แมตช์ ปิดท้ายที่ฤดูกาล 2017 มีค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อนัดที่ 2.57 ลูก หรือทั้งหมดที่ 698 ประตู จากจำนวนประตูของการแข่งขันทั้งหมด 272 เกม