ฟุตบอลไทย ยุโรป

ก่อนถึงกวินทร์ : ย้อนรอย 5 แข้งไทยลุยลีกยุโรป

กลายเป็นดีลฮือฮาสำหรับตลาดซื้อขายแข้งชาวไทยเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว หลังจากที่สโมสรโอเอช ลูเวิน ที่ในลีกรองของเบลเยียมยื่นข้อเสนอคว้าตัว กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ นายด่านดีกรีช้างศึกจากเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ด้วยสัญญาซื้อขาดพร้อมกับค่าตัวแพงที่สุดในสโมสร ทำให้ “ตอง” มีลุ้นเป็นแข้งไทยรายล่าสุดที่จะมีโอกาสลงสนามในลีกยุโรปต่อจาก 5 นักเตะรุ่นพี่เหล่านี้ ที่เคยมีประสบการณ์ลงเล่นในลีกยุโรปมาก่อน และประสบความสำเร็จต่างกันออกไป

กด Next เพื่ออ่าน

(หมายเหตุ – นับเฉพาะนักเตะไทยที่ย้ายจากลีกไปยุโรป และได้ลงสัมผัสเกม)

วิทยา เลาหกุล - แฮร์ธา เบอร์ลิน (เยอรมัน, 1979-1981), เอฟซี ซาร์บรู๊คเคน (เยอรมัน, 1982-1984)

นักเตะไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ค้าแข้งในทวีปยุโรปในเยอรมันจนได้รับฉายาว่า "ไทยบูม" ที่ก่อนจะมาเล่นในเมืองเบียร์ สตาร์จากจังหวัดลำพูนมีโอกาสไปโลดแล่นต่างแดนมาแล้ว กับการแข่งขันลีกกึ่งอาชีพของญี่ปุ่นกับยันมาร์ ดีเซล หรือ เซเรโซ โอซากา

เนื่องจากลีกของปลาดิบยุคนั้น (ทศวรรษ 70) เป็นการแข่งแบบกึ่งอาชีพ ที่วิทยาไม่ได้วาดฝันว่าจะยืนหยัดระบบฟุตบอลดังกล่าวนี้จนนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต จนโอกาสล้ำค่าในเส้นทางฟุตบอลจะนำพาให้เขาก้าวไปเล่นบนลีกยุโรปหนแรก หลังแมวมองจากเมืองเบียร์ชวนให้ไปเล่นกับแฮร์ธา เบอร์ลิน ลุยลีกยุโรปสมใจ

แม้ช่วงแรกจะใช้เวลาปรับตัวอย่างยากลำบาก ทว่าวิทยาก็เริ่มค่อยๆเรียนรู้ศาสตร์ลูกหนังที่เยอรมันจนกลายเป็นที่ยอมรับในทีมมากขึ้น ทว่าก็ยังได้รับโอกาสการลงสนามเป็นตัวหลักกับสโมสรเมืองหลวงของเยอรมันตะวันตกกลับไม่เกิดขึ้น ก่อนที่ชาร์บรู๊คลิน ทีมในระดับล่างที่ตัดสินใจดึงไปเสริมทัพ จากการชักชวนของอูเว คลีมันน์ อดีตกุนซือที่เคยคุมทีมหญิงชรา ก่อนที่โค้ชเฮงจะปรับตัวเข้ากับทีมอย่างรวดเร็ว จากการผ่านการลงซ้อมกับทีมลีกสูงกว่า ทำผลงานเด่นพาทีมไต่สู่การแข่งระดับบุนเดสลีกามาแล้ว

วรวรรณ ชิตะวณิช - เฟเดอริคส์เฮาน์ (เดนมาร์ก, 1986-1987), วีบอร์ก (เดนมาร์ก, 1987-1990)

กองกลางเจ้าของฉายามิดฟิลด์อัจฉริยะแจ้งเกิดในเส้นทางลูกหนังอาชีพกับทัพราชประชา ทีมที่ปลุกปั้นเจ้าตัวจนก้าวขึ้นมาเป็นเยาวชนทีมชาติ ชุดชิงแชมป์เอเชีย ตลอดจนมีชื่อติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ในทุกรายการตั้งแต่อายุ 17 ปี และกลายเป็นใบเบิกทางสู่การค้าแข้งในต่างแดนกับทีมในญี่ปุ่นอย่าง เทยีน มัตซึยามา (เอฮิเมะ เอฟซี) เมื่อปี 1985 และโดดเด่นถึงขั้นคว้ารางวัลจอมแอสซิสต์ประจำปีของลีกมากถึง 34 ครั้ง

กระทั่งโอกาสสำคัญก้าวมาถึง เมื่อ “ปั้ม” ตัดสินใจย้ายไปค้าแข้งในยุโรปในประเทศเดนมาร์ก ตามการแนะนำของโค้ชเลือเดนส์รายหนึ่ง จนได้รับสัญญาอาชีพหนแรกกับทีมระดับดิวิชัน 3 อย่าง เฟเดอริคส์เฮาน์ ซึ่งเป็นสโมสรในระดับกึ่งอาชีพ ทว่าจากประสบการณ์ค้าแข้งระดับทีมชาติและมีเกมลูกหนังเป็นอาชีพ ทำให้วรวรรณก้าวขึ้นไปอยู่กับวีบอร์ก สโมสรดัง ที่ในช่วงนั้นโลดแล่นในลีกรองคว้ามาร่วมทีม ก่อนจะเป็นแกนสำคัญผ่านฝีเท้าอัจฉริยะอยู่ช่วยสโมสรจนเลื่อนชั้นสู่ระดับดิวิชัน 1 ทว่าจากความเปลี่ยนแปลงเมื่อสู่ลีกสูงสุด ทำให้เขาไม่ค่อยได้โอกาสบนลีกสูงสุด และเลือกกลับไทยช่วงปี 1990

โกวิทย์ ฝอยทอง - เอสเพา โลโฮฟ (เยอรมัน, 1998-1999)

อดีตแบ็คซ้ายทีมชาติไทยตัดสินใจย้ายไปเก็บประสบการณ์ในต่างแดนบนผืนแผ่นดินเมืองเบียร์เป็นเวลา 2 ปี กับทีมลีกนอกของเยอรมัน จากทุนของสโมสรสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต้นสังกัดที่แท้จริง และแม้ว่าเป้าหมายหลักของเจ้าตัวจะเป็นการศึกษาเรื่องการบริหารจัดการฟุตบอล ทว่าความกระหายและฝีเท้าที่ทาบแข้งเยอรมันแบบไร้ที่ติ กอปรกับมีประสบการณ์ในนามทีมชาติมาแล้ว ทำให้ “เอ๋” ตัดสินใจลงทดสอบฝีเท้ากับหลายสโมสรในแคว้นบาวาเรียน จนไปเข้าตา เอสเพา โลโฮฟ และมีโอกาสลงเล่นฟุตบอลอาชีพเยอรมัน ในระดับเรกิโอนัลลิกา

แม้ในช่วงแรก แข้งฉายา “ซิกล้วย” จะไม่ได้รับการยอมรับในฝีเท้า และโดนดูถูกจากเพื่อนร่วมทีม แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเก็บเกี่ยวศาสตร์ลูกหนังแดนอินทรีเหล็ก เจ้าตัวเริ่มงัดฟอร์มเด่นออกมาจนกลายเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมทีม และมีส่วนสำคัญในการพาสโมสรเลื่อนชั้นสู่ เรกิโอนัลลิกา ซุด (ลีกระดับ 3) ได้สำเร็จ จากนั้นเจ้าตัวมีโอกาสไปทดสอบฝีเท้ากับ 1860 มิวนิค แม้ช่วงแรกจะยังไม่มีท่าทีจะเซ็นสัญญา จนต้องกลับมาอยู่ที่ไทย แต่หลังจากนั้น เจ้าตัวกลับถูกสโมสรติดต่อให้ไปทดสอบฝีเท้าอีกครั้ง แต่ก็เลือกปฏิเสธโอกาส และเลือกทำงานประจำที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สโมสรที่สร้างเขาขึ้นมา

ธีรเทพ วิโนทัย - เค ลีร์เซ (เบลเยียม, 2008-2010)

ทันทีที่พาบีอีซี เทโร ศาสน จบฤดูกาลในไทยลีกซีซัน 2008 ด้วยอันดับ 3 พร้อมซิวตำแหน่งดาวยิงสูงสุดร่วมอันดับสามที่ 12 ลูก นำมาสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในเส้นทางค้าแข้งอีกครั้งบนผืนแผ่นดินยุโรป ทวีปที่ครั้งหนึ่ง “ลีซอ” เคยผ่านประสบการณ์เป็นเด็กสร้างคริสตัล พาเลซ รวมถึงฝึกฟุตบอลกับเอเวอร์ตันมาก่อน เพราะในวัย 24 ปี เขาได้รับการทาบทามจาก เค ลีร์เซ สโมสรในลีกเบลเยียม เมื่อซีซัน 2009 ด้วยสัญญา 1 ปีครึ่ง

อย่างไรก็ตาม ธีรเทพกลับไม่ได้รับโอกาสลงเล่นในทีมชุดใหญ่มากนัก ส่วนมากจะถูกส่งลงเล่นช่วงท้ายเกม จนถูกส่งลงไปเล่นทีมสำรองของสโมสร ซึ่งภายใต้การลงสนามในเกมสำรอง เจ้าตัวกลับทำผลงานโดดเด่นให้เห็นอยู่หลายครั้ง อย่างการตะบันแฮททริกพร้อมกับทำอีก 1 แอสซิสต์ใส่ OHL ทีมใหม่ของกวินทร์ จนแฟนบอลของทีมต้องยกมือไหว้ แสดงความชื่นชมถึงความสามารถผ่านคลิปวิดีโอลงยูทูปมาแล้ว ก่อนจะตัดสินใจย้ายกลับมาเล่นในบ้านเกิดอีกครั้งกับเมืองทอง ยูไนเต็ด, บีอีซี เทโร ศาสน, บางกอกกล๊าส, เพื่อนตำรวจ รวมถึงแบงค็อก ยูไนเต็ด ทีมในปัจจุบัน

ธีรศิลป์ แดงดา - แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (อังกฤษ, 2007-2008), อูเด อัลเมเรีย (สเปน, 2014-2015)

ก่อนหน้าที่มุ้ยจะโยกไปค้าแข้งกับสังกัดใหม่แดนซามูไรอย่างซานเฟรชเช ฮิโรชิมา เพื่อสู้ศึกฤดูกาล 2018 นี้ กองหน้าระดับท็อปทีมชาติไทยรายนี้เคยทำฮือฮากระฉ่อนวงการลูกหนังไทยด้วยการย้ายไปร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้  เมื่อปี 2007ร่วมกับเกียรติประวุฒิ สายแวว และสุรีย์ สุขะ ก่อนจะถูกส่งให้กราสส์ฮอปเปอร์ ซูริก ในสวิตเซอร์แลนด์ ยืมตัว แต่ก็ได้โอกาสลงสนามในนามทีมสำรองของสโมสรเท่านั้น กระทั่งหมดสัญญากับเรือใบสีฟ้าในปีถัดมา และกลับมาอยู่ไทยอีกครั้งกับเมืองทอง ยูไนเต็ด จากนั้นเจ้าตัวก็มาได้โอกาสกลับไปรีเทิร์นลีกยุโรปอีกครั้ง หนนี้เป็น อูเด อัลเมเรีย ที่ในขณะนั้นโลดแล่นอยู่ในลาลีกา ด้วยสัญญายืมตัว 1 ปี เมื่อฤดูกาล 2014-15

ภายใต้สังกัดจากแคว้นอันดาลูเซีย “มุ้ย” ได้โอกาสลงเล่นทั้งหมด 132 นาที แบ่งเป็น เกมลาลีกา สเปน 6 นัด ทำประตูไม่ได้ ทว่ากับโอกาสลงเล่นในบอลถ้วยโกปา เดลเรย์ เจ้าตัวสร้างสถิติน่าจดจำผ่านผลงานลงสนาม  4 นัดยิงได้ 1 ประตู กระทั่งถูกยกเลิกสัญญากับทีมแล้วกลับมาอยู่กับกิเลนผยองอีกครั้งในศึกไทยลีกฤดูกาล 2015 ก่อนที่ 3 ซีซันถัดมาเขากำลังจะเป็นสมาชิกใหม่ของทัพหมีมหาภัยแห่งวงการลูกหนังซามูไร