ในปี 2008 ฟุตบอลไทยลีกเริ่มกลับมาบูมอีกครั้งหลังจากที่มีการยุบรวมระหว่างไทยลีก กับ โปรวินเชี่ยลลีก จนกระแสลูกหนังไทยกลับมาเบ่งบานอีกครั้ง หลายสโมสรก่อตั้งขึ้นมาใหม่ บ้างก็เป็นสโมสรเก่า หลายทีมยังยืนหยัดถึงทุกวันนี้ บางทีมก็หายไปกับการเวลา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การตกชั้นคือสาเหตุหลักที่ทำให้หลายทีมต้องหายหน้าหายตาไป
ปลายทางของฟุตบอลลีก บนยอดสุดนอกจากทีมที่คว้าแชมป์ หรือทำอันดับสูงๆแล้ว อีกด้านของตารางจะต้องพบกับความชอกช้ำระกำใจเมื่อจะต้องมีทีมที่จะต้องตกชั้นเพราะทำได้ไม่ดีพอ และเป็นการเปิดโอกาสให้ทีม ที่ดิวิชั่นต่ำกว่าได้สับเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นมาเล่น บ้างก็ตกชั้นแล้วก็กลับมาได้อย่างรวดเร็ว บ้างก็ใช้เวลา และมีไม่น้อยที่ไม่สามารถกลับมาได้เลย ไม่ว่าจะต้องอยู่ในลีกที่ต่ำกว่า หรือบางสโมสรโชคร้ายหายไปสารบบของฟุตบอลไทยไปเลยก็มีหลังจากที่ทีมตกชั้นถือว่าเป็นจุดล่มสลาย
กดลูกศรทางด้านขวาเพื่อร่วมติดตามไปกับเรา
ศรีราชา เอฟซี
ก่อนหน้านี้แฟนบอลในจังหวัดชลบุรี ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีฟุตบอลดีๆให้ดูเสมอ เมื่อครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมีทีมอยู่บนลีกสูงสุดพร้อมกัน ในปี 2009 ที่พวกเขามี ชลบุรี เอฟซี, พัทยา ยูไนเต็ด ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อและย้ายรังเหย้าจาก โค้กบางพระ และ ศรีราชา ยูไนเต็ด ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาให้เลือกเชียร์กัน
โดยทีม เดอะบูลมาลิน ที่มีรากมาจาก สโมสรชลบุรี-สันนิบาตสมุทรปราการ (ก่อตั้งปี 1997) และใช้เวลา 2 ปีในการไต่ขึ้นสู่ไทยลีก ในขวบปีกแรกพวกเขาสามารถอยู่บนลีกสูงสุดได้แค่ 1 ฤดูกาลเท่านั้น แม้จะมีนักเตะอย่าง สุจริต จันทกล, นันทพล ศุภไทย, สุพจน์ วงษ์หอย, อรรถพงษ์ หนูพรหม และ เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ กับแข้งต่างชาติอย่าง กัสตัน ราอูล และ ฮิโรโนริ ซารูตะ ก่อนที่จะร่วงตกชั้น โดยที่มีแต้มเท่ากับ แบงค็อก ยูไนเต็ด และ ราชนาวี คือ 30 แต้ม
แต่นั่นยังไม่ใช่จุดล่มสลายของพวกเขา เมื่อศรีราชา เอฟซี สามารถต่อสู้จนขึ้นมาโลดแล่นบนลีกสูงสุดได้อีกครั้ง ในเวลาแค่ 1 ปี ภายใต้การนำทัพของ โค้ชแดง ทรงยศ กลิ่นศรีสุข ในชื่อ ศรีราชา ซูซูกิ เอฟซี แต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งของไทยลีกที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆได้ จนตกชั้นอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาก็ประสบปัญหาเรื่องการเงิน จนต้องเอานักเตะในอคาเดมีของชลบุรี เอฟซี ที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ซึ่งกระดูกยังสู้ทีมอื่นๆไม่ได้และร่วงตกชั้นสู่ดิวิชั่น 2 และจากนั้นสโมสรได้ปรับโครงสร้าง และโอนสิทธิ์ทำทีมไปให้ ทวีวัฒนา ทีมจากถ้วย ค. ปัจจุบัน ไม่มีชื่อของ ศรีราชา เอฟซีอีกแล้ว และปัจจุบันได้กลายเป็น สโมสรนครราชสีมา ห้วยแถลง ยูไนเต็ด ในศึกยูโร่ เค้ก ลีก (T4) โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ยาสูบ เอฟซี
ทีมที่อยู่กับวงการลูกหนังไทยมาอย่างยาวนาน และเคยสร้างปรากฏการณ์คว้าแชมป์ไทยลีกมาแล้ว ก่อนที่จะกลายเป็นทีมที่จะต้องพเนจรไปหลายที่ทั้ง สมุทรสาคร,เชียงใหม่, พิจิตร รวมไปถึงเปลี่ยนชื่อ และย้ายถิ่นฐานอีกหลายต่อหลายครั้ง
ทีมที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2506 ถือว่าเป็นทีมเก่าแก่ ของไทยลีก ไต่เต้ามาตั้งแต่ในระดับถ้วย ง. จนกระทั่งได้แชมป์ไทยลีกในปี 2003-04 จากการนำทีมของโจเซ่ อัลเวส บอร์จีส โดยมีนักเตะอย่าง พนิพล เกิดแย้ม, ชัยวุฒิ วัฒนะ, อิทธิพล พูลทรัพย์, หัตฐพร สุวรรณ, สุชมน์ สงวนดี, เจษฎา จิตสวัสดิ์ สร้างความสำเร็จ
ในปี 2009 ที่กระแสไทยลีกกลับมาบูมอีกครั้ง และทีมจากภูมิภาคกำลังได้รับความนิยมทำให้ ทีมที่ไม่มีสนามเหย้าต้องย้ายไปผนึกรวมกับจังหวัด จ.สมุทรสาคร ในชื่อ “ทีทีเอ็ม-สมุทรสาคร” และสามารถจบอันดับ 8 ของตาราง แต่อีก 1 ปีให้หลัง ยาสูบ ทำช็อคแฟนบอลด้วยการย้ายไป ทีทีเอ็ม พิจิตร ในช่วงฤดูกาล 2010-2011 นั่นอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดก้าวแรกของทีมยาสูบ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นทีทีเอ็ม เชียงใหม่ แต่ก็ต้องร่วงตกชั้น
คราวนี้พวกเขาจะย้ายไปจังหวัดลพบุรี แต่ติดปัญหาเรื่องสนามทำให้ต้องกลับมาใช้สนามบุญยะจินดา ซึ่งสามารถอยู่รอดได้ และไปผนึกรวมกับ ศุลกากร ยูไนเต็ด ในชื่อทีม “”ยาสูบ-ศุลกากร” จบอันดับ 11 ของตาราง แต่ปีต่อมาทางสองฝ่าย ต่างขอแยกทางกันทำทีม โดย ศุลกากร กลับไปเริ่มต้นใหม่ในดิวิชั่น 2 ในชื่อ MOF ศุลกากร ยูไนเต็ด
ซึ่งถึงตรงสโมสรจึงเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อ สโมสรฟุตบอลยาสูบ ซึ่งพวกเขาตกชั้นอีกครั้งสู่ดิวิชั่น 2 ตามมาด้วยข่าวประกาศพักทีมเนื่องจากมีข้อขัดกับกฏหมายของกระทรวงการคลังทำให้ปัจจุบัน ไม่มีสโมสร ยาสูบ อีกต่อไป
บีบีซียู เอฟซี
ถ้าเป็นแฟนบอลรุ่นเก่าๆอาจจะไม่คุ้นชื่อของ บีบีซียู เอฟซี แต่อาจจะคุ้นชื่อของ สโมสร สินธนาเจ้าของฉายาทีมหมู่บ้านจัดสรร ในยุคก่อตั้ง พวกเขาถือว่าเป็นทีมที่มีนักเตะฝีเท้าดีมากมาย อาทิ นิเวส ศิริวงษ์, เสกสันต์ ปิตุรัตน์ , กิตติศักดิ์ ระวังป่า, เดชา เกื้อหนุน และ ธนัญชัย บริบาล และเคยคว้าแชมป์ไทยลีกมาแล้วเมื่อปี 1998
ในระยะหลังไทยลีกเข้มข้นขึ้น และเงินทุนที่ใช้ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่หลังจากที่ทีมใช้เงินทุนของ มนตรี สุวรรณน้อย ผู้ก่อตั้งทีม เลยตัดสินใจประกาศวางมือ จนได้ “ดร.เหลือง” จุฬา ติงศภัริย์ ที่เสนอตัวเข้ามาบริหารทีมต่อด้วยการใช้นักเตะจาก จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย โดยมีนักเตะอย่าง วุฒิชัย ทาทอง, กิตติพล ปาภูงา, อดิศักดิ์ กานู, ปกาศิต แสนสุข, ปิยะชาติ ถามะพันธ์ ที่ช่วยให้ทีมกลับมาเล่นใน ไทยลีกได้อีกครั้ง โดยมี เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตศิษย์เก่า รับหน้าที่กุนซือ และพาทีมจบอันดับที่ 8
และมีการจดทะเบียนใหม่ในแบบนิติบุคคล จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น บีบีซียู เอฟซี ในฉายา เดอะบิ๊กแบง ทีมก็ขึ้นๆลงกับ ไทยลีก โดยได้เลื่อนชั้น ในปี 2012 แต่ก็ไม่ดีพอที่จะอยู่รอด และตกชั้นไปอีกกว่า 3 ปี จนได้เลื่อนชั้นขึ้นมาในปี 2016 แต่ก็ตกชั้นด้วยตำแหน่งบ๊วย แต่จุดจบของ บีบีซียู เดินทางมาอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดเมื่อ ผู้บริหารได้ยื่นหนังสือ ขอถอนทีมออกจากแข่งขันกลางฤดูกาลหลังผ่านเกมไปแค่ 11 นัดเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุเหตุผล และยืนยันว่าไม่ส่งทีมไปแข่งในเกมเอ็ม-150 แชมเปียนชิพ กับ สงขลา ยูไนเต็ด ในวันที่ 29 เมษายน อย่างแน่นอน จนเป็นเหตุให้ถูกปรับแพ้ 0-2 และปรับเงินอีก 33,333 บาท ทำให้ทั้งวงการเกิดอาการช็อค และที่ช็อคที่สุดคงหนีไม่พ้นนักเตะ ที่ทราบข่าวร้ายก่อนที่จะลงฝึกซ้อม และต้องกลายเป็นแข้งไร้สังกัดกลางฤดูกาล จนต้องรีบหาต้นสังกัดใหม่ แต่ละคนกระจัดกระจายไปตามทางของตัวเอง
เพื่อนตำรวจ
อีกหนึ่งทีมเก่าแก่ของวงการลูกหนังไทย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1960 ในยุคก่อตั้งไทยลีก แต่ก็วนเวียนกับการเลื่อนชั้นและตกชั้น มาตลอด จนผ่านเวลามาถึงในปี 2009 ทีมจดทะเบียนสโมสรอาชีพ ในปี 2009 และมีระบบการจัดการแบบฟุตบอลอาชีพเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ทีมมีความแข็งแกร่ง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเพื่อนตำรวจ โดยมีนักเตะอย่าง สุรชาติ สารีพิมพ์, ชาคริต บัวทอง กฤษฏี ประกอบของ รวมถึงดาวรุ่งอย่าง ปกเกล้า อนันต์, ปกรณ์ เปรมภักดิ์
ทีมเพื่อนตำรวจกลายเป็นทีมแกร่งในไทยลีก โดยมี ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล อดีตกองกลางฮีโร่ ทีมชาติไทยในศึกเอเชี่ยนเกมส์ คุมทัพ และดึงนักธุรกิจหนุ่มไฟแรงอย่าง “เสี่ยบิ๊ก” สัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ที่เข้ามาเป็นประธานบริหารตั้งแต่ปี 2014 แต่ว่าในปี 2015 ที่ไทยลีกมีกฏปรับทีมตกชั้น 5 ทีม ภายใต้การทำทีมของ อรรถพล บุษปาคม เพื่อนตำรวจกลายเป็นทีมโควตาสุดท้ายที่ร่วงตกชั้น
เมื่อร่วงลงไเล่นในดิวิชั่น 1 เริ่มมีกระแสข่าวที่ไม่ดีของทีม ว่าทีมค้างค่าเหนื่อยนักเตะกว่า 6 เดือน แต่ว่าทุกคนยังคงลงเล่น ด้วยความเป็นมืออาชีพ จนสามารถเลื่อนชั้นขึ้นสู่ไทยลีกได้สำเร็จ ด้วยการทำแต้มหนีห่าง อันดับสองแบบมองไม่เห็นฝุ่น แต่ใครจะรู้ ว่าการกลับมารอบนี้ เพื่อนตำรวจไม่ได้โชว์ตัวในลีกสูงสุดเมื่อมีข่าวช็อคว่า “เสี่ยบิ๊ก” สัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ถูกจับกุมข้อหาฉ้อโกง ทำให้การเงินของทีมสะดุด และมีปัญหาเรื่องการเงินตามมา กระทั่งมีคำสั่งพักทีม เพื่อนตำรวจ เป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากคลับไลเซนซิงไม่ผ่าน รวมถึงยังไม่สามารถหาเงิน 50 ล้านบาทมาการันตี การทำทีม 1 ปี ได้ ทำให้ทีมต้องยุติการทำทีมและปล่อยนักเตะออกจากทีม และพยายามที่จะไปรวมกับ บีอีซี เทโร ศาสน แต่ก็ต้องใช้เวลารอเอเอฟซีอนุมัติในอีก 2 ปี เท่ากับว่าตอนนี้ เพื่อนตำรวจเหลือแค่เพียงชื่อเท่านั้น
ทีโอที เอสซี
เจ้าของฉายา “ฮัลโหล” หรือองค์การโทรศัทพ์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1981 โดยคณะกรรมการกีฬา องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จากนั้นได้เข้าร่วมกับ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย โดยเริ่มต้นไต่เต้ามาจากการลงเล่น ถ้วย ง. ในปี 1982
จนกระทั่งขึ้นมาเล่นในไทยลีก แต่ก็วนเวียนกับการเลื่อนชั้น และตกชั้น อยู่ตลอด แต่ทีมที่ก่อตั้งในตอนแรก ได้รับผลกระทบจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็น บมจ.ทีโอที ทำให้ทีมต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น ทีโอที เอสซี ในปีที่พวกเขาตกชั้นเป็นครั้งแรกในปี 2002-03 แต่ก็ใช้เวลาแค่ 1 ปีเลื่อนชั้นกลับมาสำเร็จ
หลังจากนั้นอีก 2 ปี ทีโอที ถูกคลื่นลูกใหญ่ซัดอีกครั้งเมื่อ ไทยลีก ได้กำหนดคุณสมบัติของทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำให้ทีมองค์กร ที่เคยมีรายได้หลักจากการสนับสนุนของ บมจ.ทีโอที พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย และในปี 2010 ทีมมีการเปลี่ยนแปลง นักเตะตัวหลักอย่าง สุเชาว์ นุชนุ่ม, กีรติ เขียวสมบัติ ย้ายไปอยู่กับ บุรีรัมย์ พีอีเอ แถมทีมมีการเปลี่ยนไปใช้สนามกลีบบัว จังหวัดกาญจนบุรี และกลับมาใช้สนาม ทีโอที ตามเดิม
จากนั้นก็ เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ทีโอที เอสซี และดึงอดีตนักเตะลูกหม้อเก่าอย่าง สมชาย ทรัพย์เพิ่ม เข้ามาคุมทีม ด้วยงบประมาณไม่มากแต่ทีมก็อยู่รอดมาได้ ฤดูกาล กระทั่ง โค้ชชายแยกทางออกไป และทีมเริ่มเจอกับปัญหาหนี้สะสม จนค้างเงินเดือนนักเตะ เมื่อปัญหานอกสนามรุมเร้า ในสนามก็อ่อนแรงตามไปด้วย พวกเขาตกชั้นสู่ดิวิชั่น 1ด้วยอันดับบ๊วย และถูกสมาคมฟุตบอลสั่งพักทีมเนื่องจากไม่ผ่านคลับไลเซนซิ่ง จนทำให้ชื่อทีม ทีโอที เอสซีหายไปจากสารบบลุกหนังไทย
สระบุรี เอฟซี
ทีมจากภูธร ที่เคยสร้างความคึกคักให้กับชาวจังหวัดสระบุรีทั้งจังหวัด นับตั้งแต่ยุคก่อตั้งในปี 2009 จากลีกรากหญ้า และสร้างความฮือฮาในวงการฟุตบอลเมื่อตัดสินใจดึง ธชตวัน ศรีปาน อดีตกองกลางทีมชาติไทย ที่ตอนนั้นมีประสบการณ์คุมทีม บีอีซี เทโรศาสน ในระยะสั้นๆ ให้กลับมารับใช้ทีมบ้านเกิดในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอน และสามารถพาทีมคว้าแชมป์โซนและคว้าตั๋วขึ้นสู่ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ
แต่การเลื่อนชั้นจาก ดิวิชั่น 2 มายังดิวิชั่น 1 เพื่อที่จะเป็นทางผ่านไปไทยลีกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นพวกเขาเลยต้องใช้เวลากว่า 4 ฤดูกาลในลีกรองในการเพาะบ่มประสบการณ์ของตัวเอง จนกระทั่งสามารถที่จะคว้าโควตาเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในไทยลีกได้สำเร็จ ด้วยการคว้าอันดับที่ 2 แต่ด้วยรากฐานจากลีกรากหญ้า ขุนศึกพบปัญหามากมายโดยเฉพาะเรื่องของสนามแข่งขัน
ทั้งเรื่องไฟส่องสว่าง และเรื่องการต่อเติมอัฒจรรย์ให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้สปอนเซอร์อย่าง กัลฟ์ ยังมาถอนตัว ส่งผลกระทบเรื่องงบประมาณ เท่านั้นยังไม่พอ โค้ชแบน กุนซือที่อยู่กับทีมมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ดิวิชั่น 2 ก็แสดงสปิริตลาออก จากตำแหน่งหลังทีมทำผลงานไม่ได้ตามเป้า โพลทุกสำนักต่างลงความเห็นว่า สระบุรี เอฟซี ไม่มีทางรดอตกชั้นแน่นอน
หลังการลาออกของ ธชตวัน ศรีปาน ทีมตัดสินใจดึง “โค้ชเบ๊” ไพโรจน์ บวรรัตนดิลก อดีตโค้ชโอสถสภา-สระบุรีฯ มาคุมทีมแทน แต่ใครจะไปเชื่อว่า พวกเขาจะค่อยๆเก็บแต้ม จนมาถึงนัดสุดท้ายคือไฮไลท์ประจำฤดูกาล พวกเขาต้องลงเล่นด้วยเงื่อนไข ง่ายๆในทางทฤษฎี คือเอาชนะคู่แข่งให้ได้ แต่ในทางปฏิบัติพวกเขา จะต้องบุกไปเอาชนะ ชลบุรี เอฟซี รองจ่าฝูงให้ได้
แต่โค้ชเบ๊และลูกทีมทำมิสชั่นอิมพอสสิเบิ้ล สำเร็จด้วยฟอร์มที่ยอดเยี่ยมของทีม โดยบุกไปถล่มเอาชนะ ฉลามชลด้วยสกอร์ขาดลอย 3-0 ขึ้นมาจบอันดับ 14 รอดตกชั้นได้แบบพลิกนรก ส่งผลให้ การท่าเรือ, บีอีซี เทโรศาสน ร่วงตกชั้นตาม ทีโอที เอสซี ไป แต่ว่าเป็นที่น่าเสียดายเมื่อ การต่อสู้ในสนามพวกเขาทำได้ดี แต่ว่านอกสนามกลับน่าผิดหวัง เพราะว่าทีมประสบปัญหาทางการเงิน และไม่สามารถหาผู้สนับสนุนได้ จนทำให้บอร์ดบริหารตัดสินใจถอนทีมออก และเป็น บีอีซี ที่ได้รับส้มหล่นอยู่ในลีกสูงสุดต่อไป ส่วนสระบุรี เอฟซี เหลือแต่ชื่อ