ไฮฟอง เอฟซี - เวียดนาม
ไฮฟอง เอฟซี หรือชื่อเดิม ไฮฟอง โปลิส เอฟซี เป็นสโมสรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 67 ปี พวกเขาประสบความสำเร็จพอสมควรช่วงต้นยุค 2000 คว้าแชมป์ เนชั่นเนล คัพ 2005 และ แชมป์ลีกฤดูกาล 2003 ทว่าปัจจุบัน ผลงานของ “ขุนศึกหางนกยูง” ค่อนข้างขึ้นๆ ลงๆ และมักจบโซนกลางตารางเป็นส่วนใหญ่
ต้นฤดูกาล ไฮฟอง เอฟซี เป็นที่จำตาของกูรูทั้งหลายว่าจะสามารถยืนระยะได้หรือไม่ เมื่อต้องเสียผู้เล่นคีย์แมนไปถึง 3 คน ไม่ว่าจะเป็น ผู้รักษาประตูดีกรีทีมชาติ ดัง วาน ลัม, เลอ วาน ฟู กองหลัง กาน่าผู้โอนสัญชาติมาเป็นเวียดนาม และ แอนโทนี่ สตีเฟ่น อดีตหัวหอกทีมชาติจาไมก้า จอมถล่มประตูประจำสโฒสร
อย่างไรก็ดี ไฮฟอง เอฟซี กลับออกสตาร์ทซีซั่นได้อย่างร้อนแรง เก็บได้ 9 จาก 4 นัด ทะยานยึดอันดับ 4 ของตารางอยู่ ณ ตอนนี้
แม้จะแพ้นัดเปิดสนามต่อ โฮจิมินห์ ซิตี้ แต่เพราะโครงสร้างเดิมที่ไม่ได้เปลี่ยนไปไหน (นอกจาก 3 ตัวหลักที่กล่าวไปแล้ว) บวกกับแข้งดาวรุ่งวัยห้าวที่น้อยคนคิดว่าจะสอดแทรกขึ้นมาได้ ไฮฟอง เอฟซี ก็สามารถพลิกกลับมาเก็บชัยได้ 3 นัดรวด อีกทั้งล่าสุดพวกเขายังทะลุเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายของศึก เนชั่นเนล คัพ อีกด้วย
มะละกา ยูไนเต็ด - มาเลเซีย
มะละกา ยูไนเต็ด ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1924 และถือเป็นสโมสรประจำรัฐมะละกา พวกคว้าแชมป์ดิวิชั่น 2 และ 3 รวดในซีซั่น 2015 และ 2016 เลื่อนชั้นขึ้นมาสู่ มาเลเซีย ซุปเปอร์ ลีก ลีกระดับสูงสุดของประเทศได้ครั้งแรกในรอบ 9 ปี
ฤดูกาลนี้ทัพ “กระจงเขียว” ยกเครื่องทีมงานสต๊าฟโค้ชใหม่หมด โดยมีหัวใจหลักคือการแต่งตั้ง ไซนัล อาบิดีน กุนซือมากประสบการณ์ผู้เคยร่วมงานกับทีมใหญ่ๆ มาแล้วมากมายอาทิเช่น ปาหัง เอฟเอ, เซลังงอร์ และ ปีนัง เอฟเอ
การเข้ามาของ ไซนัล อาบิดีน กลายเป็นข้อต่อรองให้ มะละกา ยูไนเต็ด สามารถดึงสตาร์มากประสบการณ์หลายคนมาร่วมทีมเช่น ลิริดอน คราสนิซิ ตัวรุกดีกรีทีมโคโซโซ หรือ ซาฟิค ราฮิม อดีตจอมทัพ ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม และดาวซัลโว เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ 2014 ของทีมชาติมาเลเซีย
ถึงตอนนี้ มะละกา ยูไนเต็ด มี 11 คะแนนจาก 8 นัด รั้งอันดับ 6 ของตาราง แต่ก็ห่างจากอันดับ 3 ถึง 5 เพียงแต้มเดียว
เชียงใหม่ เอฟซี - ไทย
ก่อตั้งในปี 1999 สโมสรเล็กจากแดนเหนือใช้เวลาส่วนใหญ่โลดแล่นอยู่ในลีกระดับล่าง แต่หลังจากต่อสู้ในลีกรองอยู่ราว 5 ฤดูกาล ในที่สุด เชียงใหม่ เอฟซี ก็ก้าวขึ้นมาแสดงฝีเท้าบน โตโยต้า ไทยลีก ไปสำเร็จ พวกเขาไม่แพ้ใครใน 9 นัดสุดท้าย จบฤดูกาลในฐานะทีมอันดับ 3 เมื่อฤดูกาล 2018
ด้วยเหตุนี้ จึงน่าทึ่งไม่น้อยที่ ณ ตอนนี้เหล่า “พยัคฆ์ล้านนา” รั้งอันดับ 11 ของตาราง ตามหลังอันดับ 10 พีทีที ระยอง แชมป์ เอ็ม-150 แชมเปี้ยนชิพ 2018 เพียงแต้มเดียว ทั้งที่เตะไปเพียง 5 จาก 7 นัดเท่านั้น น้อยกว่าทีมไหนในลีก เนื่องด้วยปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5
หากลูกทีมของ คาร์ลอส เอดูอาร์โด้ เปไรร่า เก็บแต้มจาก 2 เกมตกค้างกับ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด และ ตราด เอฟซี ได้ พื้นที่ปลอดภัยกลางตารางก็ไม่ใช้เรื่องไกลเกินฝัน
สูตรลับความสำเร็จของ เชียงใหม่ เอฟซี คือการให้ความสำคัญกับทีมเวิค และบรรยากาศภายใจทีมเหนือสิ่งอื่นได้ หากมีนักเตะคนใดที่ออกอาการฟึดฟัด งองแง หรือโดดซ้อม ทางสโมสรก็พร้อมจะยกเลิกสัญญาทันที เพื่อรักษาไว้ซึ่งทีมสปิริต อย่างที่เห็นในกรณีของ ดาบิด บาลา ที่ถูกตัดหางปล่อยวัดหลังแสดงกิริยาไม่เหมาะสมใส่ คาร์ลอส เอดูอาร์โด้ เปไรร่า เมื่อถูกเปลี่ยนตัวออกในเกมพ่าย เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด
คัลเต็ง ปุตรา เอฟซี - อินโดนีเซีย
คัลเต็ง ปุตรา เอฟซี ปรับเปลี่ยนขุมกำลังกันยกใหญ่หลังจากเลื่อนชั้นจาก ลีกา 2 สู้ ลีกา 1 อินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นแข้งจอมเก๋า วัย 30 อัพ ที่เคยผ่านเวทีทีมชาติมาแล้วอย่าง แพทริค วางกาย (อดีตกองหน้า เปอร์ซิบ บันดุง) และ อิ เกเด่ ซูคาดานา (อดีตกองกลาง บาหลี ยูไนเต็ด) บวกกับ ราฟาเอล บอมฟิน และ ดิโอโก แคมโปส 2 แข้งบราซิลจอมพเนจร
ในส่วนของกุนซือ ทัพ “นกใหญ่บอร์เนียว” เพิ่งแต่งตั้ง โกเมซ เดอ โอลิเวรา เฮดโค้ชชาวบราซิลผู้คลุกคลีอยู่กับฟุตบอลอินโดนีเซียเป็นเวลากว่า 10 ปี
คัลเต็ง ปุตรา เอฟซี คว้าแชมป์กลุ่ม ซี ในศึก Piala Presiden ทั้งที่อยู่ร่วมกลุ่มกับยักษ์ใหญ่เช่น เปอซิปูร่า จายาปูรา และ พีเอสเอ็ม มากัสซาร์
พวกเขาทำผลงานเกินดีคาดในรอบน็อคเอาท์ด้วยการชนะจุดโทษทีมดัง เปอร์ซิจา จาการ์ตา เป็นทีมนอกเกาะชวา ทีมเดียวที่หลุดเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศก่อนพลาดท่าพ่ายให้ อารีม่า เอฟซี ในที่สุด