หลังจากกวาดแชมป์ในไทยครบแล้วทุกรายการกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด วันนี้อดีตกุนซือจอมแทคติก อเล็กซานเดอร์ กามา พร้อมเดินหน้าหาความท้าทายใหม่แล้วในฐานะฟัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 22 ปี
กามา วัย 51 เปิดหมดเปลือกในบทสัมภาษณ์พิเศษกับ Football-tribe Thailand ทั้งเรื่องการทำงานที่แตกต่าง, นักเตะเก็บตัวไม่ครบ, การเตรียมตัวสู่เป้าหมายรายการชิงแชมป์เอเชีย ยู23 ปี 2020 และอีกมากมาย ไม่ต้องเสียเวลา ไปลุยกันเลย!
FT (Football-Tribe Thailand) : คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกทาบทามให้เข้ามารับงานทีมชาติชุด ยู23? อะไรคือแรงบันดาลใจในการรับตำแหน่งนี้ของคุณ?
AG (Alexandre Gama) : “ผมถูกเรียกเข้าไปคุยกับสมาคมฟุตบอลฯ 15 วันก่อน[รอบชิงชนะเลิศฟุตบอล เอฟเอคัพ 2018] พวกเขาบอกว่าผมเป็นหนึ่งในคนที่ถูกพิจารณาสำหรับตำแหน่งโค้ชทีม ยู23 แต่ก็มีคนอื่นๆ ที่เขาติดต่อไว้เช่นเดียวกัน (ทางสมาคมฯ ไม่ได้เปิดเผยว่ามีใครบ้าง)”
“แต่หลังจากนั้นราว 10 วัน สมาคมฟุตบอลฯ ก็คอนเฟิร์มชื่อผม[ในฐานะโค้ชทีม ยู23] หากวัดที่ความสำเร็จของผมในประเทศไทย ผมคาดหวังว่าตัวเองควรจะถูกพิจารณาสำหรับตำแหน่งกุนซือทีมชาติชุดใหญ่ แต่ก็รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ชุด ยู23”
“แรงบันดาลใจของผมในการรับงานนี้คือความท้าทายในรายการต่างๆ ตลอดปี 2019 และศักยภาพของนักเตะรุ่นนี้”
FT : คุณมีทัวร์นาเมนต์และเกมอุ่นเครื่องไว้ทดลองนักเตะพอสมควร จึงอยากทราบว่าการทำงานกับสโมสร และทีมชาติมีความแตกต่างกันอย่างไร? แล้วคุณปรับตัวกับความรับผิดชอบที่เปลี่ยนไปได้แค่ไหนแล้วครับ?
AG : “จริงอยู่ที่เรามีแมตช์อุ่นเครื่อง แต่ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก ผมแถลงข่าวเปิดตัวเสร็จก็รีบตรงดิ่งไปสนามซ้อมเย็นวันเดียวกันเลย เก็บตัวอยู่ 6 วันก่อนบินไปเมืองจีน ตอนนั้นผมเรียกผู้เล่นที่ต้องการไม่ได้เพราะพวกเขาติดภารกิจกับทีมชาติชุดใหญ่หรือไม่ก็มีอาการบาดเจ็บรบกวน”
“อย่างไรก็ตามผมมองว่ามันเป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมที่ได้ประเมินผลงานนักเตะที่เรียกมาด้วยเกมกับทีมที่แข็งแกร่งกว่าเรา ผมพอใจกับสิ่งเห็นและยิ่งรู้สึกมุ่งมั้นกว่าเดิมอีก[หลังทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องที่จีน]”
“ในเรื่องของการทำงานมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในระดับสโมสรคุณได้อยู่กับผู้เล่นทุกๆ วัน มีเวลาฝึกซ้อมและทำความรู้จักนักเตะได้ลึกซึ้งกว่า ในระดับทีมชาติเรามีเวลาด้วยกันเพียงไม่กี่วันแถมในขณะเดียวกันนักเตะแต่ละคนก็เล่นด้วยปรัชญา วิธีคิดและการฝึกซ้อมที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสโมสร เพราะฉะนั้นเวลาทุกคนมาเก็บตัวร่วมกันเราจึงต้องใช้เวลาจูนให้ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว ผมเป็นโค้ชที่แอคทีฟ ชอบอยู่นำซ้อมเองทุกวัน ผมเคยทำงานทีมชาติมาก่อนและทราบดีว่าตารางนั้นแตกต่างกันแต่ผมก็ยังมีความสุขและมั่นใจในแผนงานที่มี”
“ผมมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่สามารถประสบความสำเร็จกับทีม ยู23 ชุดนี้ พวกเรามีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์เข้ารอบโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว นี้คือเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของผมและเป็นเป้าหมายของนักเตะ ซึ่งพวกเขาต้องการจะมอบให้แฟนบอลชาวไทยเช่นเดียวกัน”
FT : อะไรคือเป้าหมายของคุณในรายการ เอเอฟเอฟ ยู22 แชมเปียนชิพ?
AG : “เราจะคาดหวังเกินความเป็นจริงไม่ได้เพราะเราไม่สามารถส่งทีมชุดที่แข็งแกร่งที่สุด หากผมสามารถพานักเตะจากลิสต์ 38 คนไปเตะได้ เราคงตั้งเป้าที่แชมป์”
“อย่างไรก็ตามในเมื่อผมต้องใช้ชุดผสมเด็กรุ่นอายุไม่เกิน 19, 20 และ 22 ผมก็จะใช้โอกาสนี้ในการประเมินผู้เล่นทุกคน เราต้องต่อกรกับทีมที่มีอายุและเก๋าเกมมากกว่า ซึ่งแฟนบอลชาวไทยต้องทำความเข้าใจในจุดนี้ และช่วยกันส่งแรงเชียร์นักเตะของเรา”
FT : ย้อนกลับไปตอนแรกที่มีการประกาศรายชื่อนักเตะ คุณเลือกที่จะเรียกผู้เล่นมากถึง 38 คนก่อนการตัดตัว ผมอยากทราบว่าคุณมองหาอะไรในตัวผู้เล่นเหล่านี้? และทำไม่จึงเรียกผู้เล่นมาเก็บตัวจำนวนมากขนาดนี้? มันไม่ง่ายกว่าหรือที่จะเรียกนักเตะให้น้อยหน่อย เพื่อจะโฟกัสกับแต่ละคนได้ยิ่งขึ้น?
AG : “รายการนี้จัดผิดที่ผิดเวลา มันไม่ตรงกับ ฟีฟ่าเดย์ เพราะฉะนั้นทีมต่างๆ จึงไม่จำเป็นต้องส่งผู้เล่นมาร่วมทีม ที่ผมส่งลิสต์รายชื่อ[ถึง 38 คน]ก็เพราะอยากใช้เวลาฝึกซ้อมช่วงนี้และรายการชิงแชมป์อาเซียน ยู23 ในการเริ่มแนะนำคอนเซ็ปและไอเดียการเล่นให้นักเตะก่อนถึงศึกชิงแชมป์ เอเชีย ในเดือน มีนาคม นี้ แต่ผมต้องเปลี่ยนแผนเพราะจากที่เรียกไป 38 คน มีเพียง 10 รายที่มารายงานตัวตามนัด จนต้องเรียกแข้ง ยู18, 19 และ 20 มาเสริม”
“ผมเข้าใจสโมสรนะเพราะตารางการแข่งขันมันไม่มาผิดที่ผิดเวลาจริงๆ แต่ทุกฝ่ายก็ต้องเข้าใจด้วยว่า 2019 คือปีที่สำคัญสำหรับชุดโอลิมปิก”
FT : ทีมไหนจะเป็นคู่ปรับของเราในศึก เอเอฟเอฟ ยู23 แชมเปี้ยนชิพ และเพราะอะไร?
AG : “ทุกทีม[คืองานยาก]เพราะเราไม่ได้เอาตัวหลักไปเล่น”
FT : คุณคิดอย่างไรกับการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพรายการ เอเอฟซี ยู23 แชมเปี้ยนชิพ 2020 แต่ยังต้องเล่นรอบคัดเลือกเป็นเหมือนกับโปรแกรมอุ่นเครื่อง ? (ผลการแข่งขันไม่มีผล เพราะไทยเข้าไปเล่นในฐานะเจ้าภาพอยู่แล้ว)
AG : “ใช่[ผมเห็นด้วย] เพราะเราต้องการเกมลองสนามเพื่อที่ทีมจะได้พัฒนาไปด้วยกันในทุกๆ ส่วน แถมเรายังได้เล่นกับชาติที่อาจเข้าไปเจอเราในการแข่งขันจริงอีกด้วย ผมมองว่าการที่ทีมมีเกมเยอะๆ คือเรื่องสำคัญ แต่ทางสโมสรต่างๆ ก็ต้องยอมปล่อยนักเตะมาด้วยเช่นกันเพื่อที่เราจะได้มีโอกาสเตรียมทีม”
FT : นักเตะรุ่น ยู23 ชุดปัจจุบันหลายคนเล่นเป็นตัวจริงอย่างต่อเนื่องกับหลายสโมสรใหญ่ในศึก ไทยลีก 1 มีใครเป็นพิเศษไหมที่คุณตื่นเต้นที่จะได้ร่วมงานด้วย หรือว่ามีศักยภาพเป็นพิเศษ?
AG : “แน่นอนนักเตะหลายคน[ในรุ่นนี้]เป็นตัวหลักของสโมสร ผมตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานกับทุกคน แต่มันก็ยังไม่เกิดขึ้นเพราะนักเตะหลายคนไม่สามารถมาร่วมเก็บตัวได้”
“แต่อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว เด็กรุ่นนี้มีแวว มีความสามารถดีหลายคน ผมไม่อยากเอ่ยชื่อใครเป็นพิเศษเพราะผมให้ความสำคัญกับความเป็นทีม โอเคละ เราต้องการความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะบางคน[เพื่อสร้างความแตกต่าง] แต่สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดในทีมของผมการที่แข้งฝีเท้าดีพวกนี้สามารถเล่นกันเป็นทีม”
FT : คุณอยากบอกอะไรกับแฟนบอลไทยหลายคนยังคงรู้สึกผิดหวังกับผลงานของชุด ยู23 ในปี 2018 ที่ตกรอบแบ่งกลุ่มทั้งรายการชิงแชมป์เอเชีย ยู23 และ เอเชียนเกมส์?
AG : “นี่เป็นที่สำคัญสำหรับทีมชุด ยู23 และพวกเราต้องการแรงสนับสนุนจากแฟนบอลทุกคน ต่อจากนี้เรามาเริ่มต้นกันใหม่ นักเตะใหม่ สต๊าฟใหญ่ ผมหวังว่าประสบการณ์ ความกระหายในชัยชนะ และสไตล์การทำทีมที่เน้นผลการแข่งขันและแชมป์ของผมจะเป็นประโยชน์กับนักเตะทุกคน ผมมาที่นี่เพื่อสิ่งเดียว ‘ชัยชนะ’ พวกเราต้องการแรงสนับสนุนจากแฟนบอลไทยทุกคน”