แม้จะเปิดตัวในฐานะกุนซือชุด ปรีโอลิมปิกส์ ด้วยการพ่ายให้กับเจ้าบ้าน จีน ด้วยสกอร์ 1-0 แต่เชื่อว่าแฟนบอลไทยหลายท่านคงพอใจกับรูปเกมและทรงบอลของ อเล็กซานเดอร์ กาม่า ในนัดแรกไม่น้อย วันนี้ฟุตบอลไทรบ์จึงขอสรุป 4 สิ่งที่เราได้รู้จากเกมประเดิมสนามของยอดโค้ชจอมแทคติกรายนี้กัน
แข้งฟอร์มแรง ไทยลีก ปรับตัวและโชว์ศักยภาพบนเวทีนานาชาติได้
ทีมชาติไทย ชุดปรีโอลิมปิกส์ ที่เดินทางไปลุยศึก 4 เส้ามีการเรียกนักเตะฟอร์มแรงจาก ไทยลีก ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีชื่อในชุด เอเชียนเกมส์ มาเสริมหลายตำแหน่งตั้งแต่ผู้รักษาประตูยันศูนย์หน้า ไม่ว่าจะเป็น กรพัฒน์ นารีจันทร์ ที่ชิงมือหนึ่ง บีจีเอฟซี มาจาก นริศ ทวีกุล ได้เมื่อช่วงท้ายซีซั่นที่แล้ว
ไปจนถึงกองหลัง ศรายุธ สมพิมพ์ กัปตัน แอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล วัย 21 ปี หรือ สหรัฐ สนธิสวัสดิ์ มิดฟิลด์ ชลบุรี เอฟซี ที่ปีนี้แจ้งเกิดเต็มตัวด้วยผลงาน 4 ประตูกับ 6 แอสซิสต์ ในทุกรายการ
จริงอยู่ที่ผู้เล่นเหล่านี้ต่างเคยร่วมงานกันมาแล้วในรุ่นอายุอื่นๆ ทั้งในระดับทีมชาติและฟุตบอลนักเรียน แต่สิ่งที่ห้ามมองข้ามคือเกรดฟุตบอลระดับปรีโอลิมปิกส์ที่เป็นรองแค่ชุดใหญ่เท่านั้น จนเกิดคำถามที่ว่าพวกเขาจะปรับตัวเข้ากับเพื่อน คู่ต่อสู้ และแทคติกของโค้ชใหม่ ได้หรือไม่ เพราะนักเตะเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างทีมยุค “โค้ชโย่ง” วรวุฒิ ศรีมะฆะ หรือ โซรัน ยานโควิช ตลอด 2 ปีที่ผ่านเลย
ในเกมแรกกับเจ้าภาพ ทีมชาติจีน ศรายุธ สมพิมพ์, สหรัฐ สนธิสวัสดิ์ หรือแม้แต่วิงแบ็คซ้าย อภิสิทธิ์ โสรฎา ทำผลงานได้โอเค และน่าสนใจว่า กาม่า จะเลือกส่งนักเตะใหม่พวกนี้ลงตัวจริงอีกหรือในเกมถัดไป
ดาวเด่นชุด ยู19 สามารถแบกอายุขึ้นมาสร้างความแตกต่างในชุดนี้
นอกจากนักเตะใหม่ในรุ่นอายุนี้ กาม่า ยังเลือกดึงดาวเด่นจาก ชุด19 อย่าง กรวิชญ์ ทะสา ดาวซัลโว ทีมชาติไทย จากชุดชิงแชมป์ เอเชีย รุ่น ยู19 และ เอกนิษฐ์ ปัญญา มิดฟิลด์จอมเทคนิคจาก สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ขึ้นมาทดลองฝีเท้าในศึก 4 เส้าครั้งนี้ด้วย
ดาวรุ่งทั้ง 2 คนมีฤดูกาลที่ยอดเยี่ยมทั้งกับสโมสรและทีมชาติจึงไม่แปลกใจที่พวกเขาจะได้รับโอกาสนี้ ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือพวกเขาจะได้ลงเล่นมากน้อยแค่ไหนเมื่อต้องแบกอายุมาเล่นกับรุ่นพี่ในตำแหน่งเดียวกันเช่น วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ และ สรวิทย์ พานทอง
โดยกุนซือชาวบราซิลเลี่ยนแสดงความเชื่อมั่นในฝีเท้าของน้องเล็กทั้ง 2 รายเป็นอย่างดีด้วยการส่ง “เจ้าซัน” กรวิชญ์ ทะสา ลงสนามในฐานะกองหน้าตัวเป้าตั้งแต่ต้นเกม ซึ่ง กรวิชญ์ ก็ประสานงานกับตัวทำเกมหลักของทีมอย่าง วรชิต ได้ดีและมีโอกาสได้ลุ้นสกอร์เหมือนกัน
ในขณะที่ เอกนิษฐ์ ปัญญา ซึ่งลงสนามเป็นสำรอง ก็ได้สัมผัสบอลอย่างต่อเนื่องและมีจังหวะได้ส่องไกล 1 ครั้ง
แม้ฟอร์มของ กรวิชญ์ กับ เอกนิษฐ์ จะไม่ได้ว่าจัดจ้านอะไรเป็นพิเศษ แต่ก็ถือว่าสอบผ่านสบายๆ ชวนให้คิดว่าในอนาคตเราจะได้เห็นแข้ง ยู19 คนอื่นๆ อย่าง กฤษดา กาแมน หรือ สิทธิโชค ภาโส ข้ามชั้นขึ้นมาโลดแล่นในชุดของ กาม่า ด้วยหรือไม่
อเล็กซานเดร กาม่า และระบบ 3-5-2 คู่ใจ
หากพูดถึงทีมของ อเล็กซานเดอร์ กาม่า ภาพแรกๆ ที่เด้งเข้ามาในหัวหลายๆ คนคงจะเป็นระบบการเล่น 3-5-2 คู่ใจของกุนซือบราซิลเลี่ยนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมายกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด
จึงน่าสนใจว่านักเตะชุดนี้ปรับเข้าหาระบบของ กาม่า ได้แค่ไหนเนื่องจากมีเวลาเตรียมตัวกันไม่กี่วันและพวกเขาเองก็แทบจะไม่เคยเล่นด้วยระบบหลัง 3 หรือมีวิงแบ็คในยุคของ “โค้ชโย่ง” วรวุฒิ ศรีมะฆะ และ โซรัน ยานโควิช เลย
ข้อเสียและโจทย์ที่ยากสุดของฟุตบอลทีมชาติคือการสร้างปรัชญาและระบบการเล่นที่ไหลลื่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (เป็นเพราะเวลาเก็บตัวน้อย) เราจึงเห็นหลายทีม เช่น อาเจนติน่า ในฟุตบอลโลก 2014 หรือ โปรตุเกส ชุดแชมป์ ยูโร 2016 ซึ่งประสบความสำเร็จ ด้วยการโฟกัสไปที่การเล่นแบบตั้งรับแล้วโต้กลับ ถึงแม้พวกเขาจะมีนักเตะเกมรุกที่เก่งแค่ไหนก็ตาม
ถึงแม้จะเป็นเพียงเกมแรกหลังการเก็บตัวแค่ 10 วัน แต่เห็นได้ชัดว่าทีมชาติไทยมีการยืนตำแหน่งที่รัดกุมขึ้นกว่าในทัวร์นาเมนต์ก่อนมาก วิงแบ็คทั้ง 2 ข้างถอยลงมายืนเป็นหลัง 5 ได้ถูกจังหวะในเกมรับแทบตลอดทั้งเกม (ครั้งเดียวที่เราถอยลงมาไม่ทัน คือจังหวะเสียประตู) และเดิมไปครอสบอลเข้ากลางได้ในเกมรุกอยู่เหมือนกัน
ทรงบอลสุดเขี้ยวในรอบชิง โตโยต้า ลีก คัพ และ ช้าง เอฟเอ คัพ ที่ผ่านน่าจะเป็นเครื่องบ่งบอกได้ดีว่าฟุตบอลของ กาม่า คืออะไร และทีมสามารถประสบความสำเร็จได้ขนาดไหนหากสามารถซึมซับแก่นแท้แทคติกฟุตบอลของจอมวางแผนรายนี้ ตอนนี้เราเริ่มเห็นโครงสร้างการยืนตำแหน่งที่ชัดเจนแล้ว ต้องรอดูกันว่าใน 2 เกมข้างหน้า กาม่า เสริมรูปแบบการเข้าทำอะไรมาเพิ่มบ้าง
แทคติก “หลังสูง หน้าใหญ่ กลางเดิมเร็ว”
เอกลักษณ์ฟุตบอลไม่ได้เกิดจากระบบการยืนตำแหน่งเท่านั้น แต่ลักษณะนักเตะในทีมก็เป็นส่วนผสมสำคัญที่ช่วยกำหนดเอกลักษณ์ฟุตบอลของทีมทีมหนึ่งเช่นเดียวกัน
อเล็กซานเดอร์ กาม่า ไม่ใช่กุนซือเดียวที่ใช้ระบบ 3-5-2 แต่สิ่งที่โดดเด่นในระบบ 3-5-2 ของเขาคือการมีเซ็นเตอร์แบ็คตัวสูง มิดฟิลด์บ็อกซ์ ทู บ็อกซ์ที่วิ่งขึ้นลงทั้งรับและรุกได้ตลอดเกม และศูนย์หน้าร่างใหญ่ไว้คอยเก็บบอลสักคน
ในทีมชุดนี้ กาม่า เลือกใช้ มาร์โก บัลลินี่ จาก ชัยนาท ฮอร์นบิล ซึ่งเป็นเซ็นเตอร์แบ็คร่างโย่ง เล่นลูกกลางอากาสได้ดีเช่นเดียวกับที่เขาเคยใช้ วิคเตอร์ คาร์โดโซ่ (สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด) และ อันเดรส ตูเญซ (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด)
ด้านมิดฟิลด์ กาม่า มีกองกลางสไตล์บ็อกซ์ ทู บ็อกซ์ระดับท็อปของเมืองไทยให้เลือกใช้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น จักรพันธ์ แก้วพรม (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด) หรือ ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ (สมัยอยู่ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด) และถึงแม้จะไม่มีนักเตะสไตล์เดียวกันให้ใช้ในชุดนี้ แต่ “เจ้าแจ๊บ” สหรัฐ สนธิสวัสดิ์ ก็เป็นตัวเลือกที่ใกล้เคียง แถมเรายังเห็น กาม่า ใช้ สรวิทย์ พานทอง ในบทบาทมิดฟิลด์ตัวรุกคล้ายๆ กับ ศิวกรณ์ เตียตระกูล ของ เชียงราย ยูไนเต็ด อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งที่น่าปวดหัวที่สุดสำหรับ กาม่า คงจะเป็นตำแหน่งศูนย์หน้าที่ยากเหลือเกินที่จะหากองหน้าตัวใหญ่ๆ มาเก็บบอลในรุ่นอายุนี้
การมีกองหน้าที่เก็บบอลได้ดีจะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อทีมชาติไทยต้องหนีเกมเพรสซิ่งของคู่แข่ง ยกตัวอย่างแทคติกของ กาม่า ที่ เชียงราย ยูไนเต็ด ซึ่งเขามักวางบอลยาวจากแนวรับไปยัง อัครวินท์ สวัสดี ด้านหน้า เพื่อให้เป็นตัวคอยพักบอลและเชื่อมเกมกับมิดฟิลด์ตัวรุกหรือวิงแบ็คที่เติมมาด้านข้างได้เล่นเกมรุกต่อด้วยกัน
น่าสนใจว่า กาม่า จะเลือกปรับแทคติกด้านหน้าเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะกับนักเตะที่มีอยู่ หรือว่าจะรอหากองหน้าที่ตรงสเปคของตัวเองมาติดทีมในอนาคต