เอเชีย ฟุตบอลทีมชาติ

ก่อนลุยรัสเซีย: 6 ที่สุดผลงานซาอุฯในเวทีฟุตบอลโลก

 

ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียใกล้จะเปิดฉากอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้าแล้ว โดยเกมประเดิมสนามกลุ่มเอ ครั้งนี้มีชาติตัวแทนของทวีปเอเชียอย่าง ซาอุดิอาระเบีย ที่จะลงดวลกับทีมชาติรัสเซีย เจ้าภาพ ในวันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายนนี้ และก่อนจะเห็นผลงานของทีมฉายาเหยี่ยวมรกตบนดินแดนหมีขาว นี่คือผลงานของพวกเขาในเวิลด์คัพครั้งที่ผ่านๆมา

เลื่อนลูกศรทางขวาเพื่ออ่าน

 

ผลงานดีที่สุด : ฟุตบอลโลกปี 1994

การคว้าสิทธิ์กลับมาเล่นในเวิลด์คัพปี 2018 นี้ ถือเป็นโอกาสกลับมาเล่นรอบสุดท้ายอีกครั้ง หลังจากที่ทีมกรีน ฟอลคอนส์ เคยคว้าสิทธิ์ลงเตะเมื่อปี 1994, 1998, 2002 และ 2006 โดยผลงานที่ดีที่สุดของชาติตะวันออกกลางทีมนี้คือ ฟุตบอลโลกสมัยแรกที่สหรัฐอเมริกา ที่พวกเขาก้าวเข้ามาเล่นในฐานะทีมอันดับ 1 จาก 6 ชาติ ของรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย

โดยตลอดผลงานบนแผ่นดินลุงแซม ซาอุฯถูกจับให้มาอยู่ในกลุ่ม เอฟ ที่มีฮอลแลนด์, เบลเยียม และโมร็อคโค เป็นเพื่อนร่วมสาย ซึ่งพวกเขาเดินหน้าทำผลงาน ชนะ 2 เสมอ 1 แบ่งเป็นการประเดิมพ่ายอัศวินสีส้ม 1-2 ชนะโมร็อคโค 2-1 และปิดท้ายรอบแบ่งกลุ่มด้วยผลงานเชือดเบลเยียม 1-0 ดีพอที่จะทะลุเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ตั้งแต่ครั้งแรก และยังคงสถิตินี้มาจนปัจจุบัน

 

ผลงานแย่ที่สุด : ฟุตบอลโลกปี 2002

ในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกที่ถูกจัดในทวีปเอเชียเป็นหนแรก ซาอุดิอาระเบียยังคงเป็นชาติตัวแทนเอเชียที่ผ่านเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ทว่าจากการถูกจับให้มาอยู่ในกลุ่มแข็งอย่าง กลุ่มอี ที่มีทั้ง เยอรมัน, สาธารณรัฐไอร์แลนด์ และ แคเมอรูน เป็นเพื่อนร่วมสาย ก่อนจะจอดป้ายแค่รอบแรกด้วยผลงานแย่ที่สุดในรอบสุดท้าย ซาอุฯถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 32 ในการแข่งครั้งนี้จากผลงานโดนอินทรีเหล็กถล่มยับ 8-0, โดนหมอผีเฉือน 1-0 และปิดท้ายด้วยการพ่ายยักษ์เขียว 0-3 แถมยิงคู่แข่งไม่ได้เลย

 

แข้งฟอร์มเด่นที่สุด : ซามี อัล จาเบอร์

นี่คือดาวเตะเลือดซาอุฯที่มีสถิติติดทีมชาติลงเล่นฟุตบอลโลกมากที่สุดที่ 4 สมัย ไล่มาตั้งแต่ปี 1994, 1998, 2002 และ 2006 แถมยังมีโอกาสลงสนามเกมรอบสุดท้ายเป็นอันดับสองร่วมที่ 9 นัด โดยตลอดผลงานของอัล จาเบอร์ เจ้าตัวทำไป 3 จาก 9 ประตูที่ทีมทำไว้ในรอบสุดท้าย แบ่งเป็นการยิงใส่โมร็อคโคในปี 1994, ยิงใส่แอฟริกาใต้ในเกมส่งท้ายรอบแบ่งกลุ่มของศึกฟร้านซ์ 1998 และยิงในเกมเสมอตูนิเซีย 2-2 เมื่อปี 2006 ก่อนประกาศอำลาทีมชาติอย่างเป็นทางการหลังจบทัวร์นาเมนต์

 

แข้งฟอร์มดับที่สุด : กองหลังซาอุดิอาระเบีย ชุดฟุตบอลโลก 2002

ตลอดการลงเล่น 3 นัดของซาอุฯในฟุตบอลโลก 2002 ที่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ จากที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าเหยี่ยวมรกตผลงานบู่พ่ายทั้ง 3 นัด แถมโดนคู่แข่งยิงรวมถึง 12 ประตู สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงแผงรับที่ยวบและต้านความแข็งแกร่งของคู่ต่อสู้ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการใช้แท็คติกหลัง 4 คนในเกมพ่ายเยอรมัน 0-8, ปรับมาใช้กองหลัง 5 คนในเกมพ่ายหวิวแคเมอรูน 0-1 และใช้แนวรับ 3 คนในเกมแพ้ไอร์แลนด์ 0-3 ซึ่งตลอด 3 แมตช์ เรดาห์ ทูการ์, อับดุรเลาะห์ ซูโบรมาวี และ ฮุสเซน ซูลิมานี คือ 3 ผู้เล่นที่โชคร้ายถูกบันทึกอยู่ในสถิติลงสนามครบทุกนัด

 

แมตช์ประทับใจที่สุด : ชนะเบลเยียม 1-0 ฟุตบอลโลก 1994

แม้ในเวิลด์คัพหนแรก ซาอุฯจะถูกจับให้มาอยู่ในกลุ่มที่มีคู่ต่อกรแข็งแกร่งทั้ง ฮอลแลนด์ (อันดับ 2 ฟีฟ่าแรงกิ้ง), เบลเยียม (อันดับ 27 ฟีฟ่าแรงกิ้ง) และ โมร็อคโค (อันดับ 28 ฟีฟาแรงกิ้ง) แม้จะพ่ายในเกมแรกต่อทัพดัตช์ แต่ซาอุ ที่ในขณะนั้นอันดับโลกอยู่ที่ 34 แถมไม่มีผู้เล่นค้าแข้งนอกทวีปเอเชียเลย กลับหักปากกาเซียนเริ่มจากชนะโมร็อคโค 2-1 กลายเป็นโอกาสสำคัญที่มีลุ้นทะลุรอบ 16 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรก ซึ่งเงื่อนไขสำคัญตอนนั้นคือต้องชนะหรือมีแต้มในเกมเจอปีศาจแดงแห่งยุโรปนัดส่งท้าย เพื่อลุ้นคว้าที่สองของกลุ่ม หรือลุ้นเฮดทูเฮดเป็น 4 จาก 6 ทีมที่จบอันดับสาม

สุดท้ายทัพกรีน ฟัลคอนส์ รวมพลังทะลุรอบสุดท้ายด้วยการเป็นอันดับสองของกลุ่ม หลังเป็นฝ่ายเฉือนชนะเบลเยียม 1-0 จากประตูชัยของ ซาอิด อัล โอไวราน กรุยทางสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายเป็นหนแรกไปเจอกับสวีเดนในรอบต่อไปทันทีที่ผู้ตัดสินเป่านกหวีดหมดเวลา

 

แมตช์แย่ที่สุด : แพ้เยอรมัน 0-8 ฟุตบอลโลก 2002

แม้ก่อนลุยฟุตบอลโลกบนผืนแผ่นดินเอเชีย ซาอุฯจะเคยมีโอกาสดวลกับชาติยักษ์ใหญ่ในรอบสุดท้ายมาทั้ง ฮอลแลนด์ ที่แพ้ 1-2 และ ฝรั่งเศส ซึ่งแพ้ไป 0-4 ทว่าในเกมรอบแบ่งกลุ่มปี 2002 ในสังเวียนซัปโปโร โดม ขุนพลเหยี่ยวมรกตต้านความแข็งแกร่งของรองแชมป์ปีนั้นไม่ไหว ด้วยการพ่ายยับเยิน 0-8 กลายเป็นสถิติไม่น่าจดจำที่สุดของทีมมาจนถึงตอนนี้