ก่อนจะถึงแมทช์แห่งศักดิ์ศรีระหว่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เปิดบ้านพบ เอสซีจี เมืองทองฯ ในศึกโตโยต้า ไทยลีก วันศุกร์นี้ (4 พ.ค.2561) ฟุตบอลไทรบ์ ไทยแลนด์ จะพาไปรู้จักกับที่สุดแห่งเกมฟุตบอลของ 10 ลีก 10 ชาติ ในทวีปเอเชียถึง แต่ละคู่จะมีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร ติดตามไปพร้อมกับเรา
10. เตหะราน ดาร์บี้ : เปอร์เซโปลิส เตหะราน – เอสเตกลาล เตหะราน
ดาร์บี้แมตช์เมืองเตหะราน นับเป็นดาร์บี้แมตช์ที่มีความสำคัญมากในทวีปเอเชีย จากการจัดอันดับของ เวิลด์ซอกเกอร์ เมื่อปี 2008 ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความจริง เพราะสองสโมสรจากเมืองหลวงของอิหร่าน เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเปอร์เซีย กัลฟ์ ลีก ลีกสูงสุดของประเทศ หลังเข้าห่ำหั่นกันมานานกว่า 20 ปี แม้จะใช้สนามเหย้าเดียวกันคือ อาซาดี้ สเตเดียม แต่สิ่งที่แตกต่างและนำมาสู่ความบาดหมางเกิดขึ้นจากชนชั้นของแฟนบอล โดยในอดีตนั้น เปอร์เซโปลิส เป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานในเมืองหลวง ขณะที่ เอสเตกลาล เป็นสโมสรที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นปกครองของประเทศ จนเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งดูเหมือนว่าสนามแห่งนี้จะเป็นที่เดียว ที่สาวกชนชั้นแรงงานจะสามารถต่อกรกับสาวกชนชั้นปกครองได้ เป็นเหตุให้มีการกระทบกระทั่งกันของทั้งสองฝ่ายตลอดมา
หากพูดถึงการปะทะกันครั้งใหญ่ที่สุด คงเป็นครั้งที่ทั้งสองทีมพบกันในเดือนธันวาคม ปี 2000 ที่เหตุการณ์ในสนามตึงเครียดตลอดทั้งเกม จนกระทั่งช่วงท้ายเกมผู้รักษาประตูของ เปอร์เซโปลิส ออกอาการฉุนชกเข้าที่หน้าของกองหน้าเอสเตกลาล จนทำให้เกิดการตะลุมบอนในสนาม รวมถึงนอกสนามแฟนบอลทั้งสองทีมเข้าปะทะกันอย่างดุเดือด จนทำให้ร้านอาหารรอบๆสนามเกิดความเสียหายไปด้วย ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าระงับเหตุการณ์และคุมตัวแฟนบอลเลือดร้อนไว้กว่าร้อยชีวิตด้วย
9. เอล กลาซิโก แห่งซาอุดิอาระเบีย : อัล ฮิลาล – อัล อิตติฮัต
สุดยอดเกมระดับ 5 ดาวของสองทีมยักษ์ใหญ่แห่งแดนทะเลทราย ที่พบกันครั้งใดความเข้มข้นก็มักจะเกิดขึ้นเสมอ เนื่องด้วยทั้งสองทีม เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมายในวงการลูกหนังซาอุดิอาระเบีย จากผลงานที่ผ่านมา เป็นทางด้าน อัล ฮิลาล ที่มีสถิติเหนือกว่าเล็กน้อย โดยพวกเขาคว้าแชมป์ลีก 15 สมัย ขณะที่ อัล อิตติฮัต ตามมาที่ 8 สมัย รวมถึงในระดับทวีปอย่างรายการ เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ที่ทั้งสองทีมเคยคว้าแชมป์มาทีมละ 2 ครั้งด้วย
8. เดอะ บิ๊ก บลู แบทเทิล : เมลเบิร์น วิตอรี – ซิดนีย์ เอฟซี
สองทีมยักษ์ใหญ่ในวงการฟุตบอลออสเตรเลียที่เป็นคู่ปรับกันในหลายๆด้าน และเป็นสองทีมที่มีฐานแฟนบอลมากที่สุดในประเทศ แถมยังมีถิ่นฐานอยู่ในเมืองเดียวกัน ซึ่งพวกเขาปะทะกันครั้งแรกในนัดเปิดสนามเกมลีกแดนออสซีในซีซัน 2005-2006 แต่นั่นยังไม่ใช่ตัวชี้ชัดว่าพวกเขาเป็นคู่อริกันสักเท่าใด จนมาถึงปี 2011 ที่ทั้งสองทีมพยายามแสดงพลังในตลาดซื้อ-ขายนักเตะ ด้วยการแย่งกันคว้าตัวแข้งระดับท็อปอย่าง แฮร์รี คีเวลล์ ปีกตำนานทีมซอคเกอร์รูส์ มาเล่นกับทีม โดยผลปรากฏว่า เมลล์เบิร์น สามารถคว้าลายเซ็นของอดีตแนวรุกลิเวอร์พูลได้สำเร็จ ส่วน ซิดนีย์ ก็ไม่น้อยหน้าหันไปล่าตัว แบรตต์ เอเมอร์ตัน มิดฟิลด์ จาก แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส ที่ขณะนั้นกำลังโลดแล่นอยู่ในพรีเมียร์ลีกเข้ามาต่อกรกับทีมคู่ปรับของพวกเขา
กระทั่งในเกมที่ทั้งสองทีมเสมอกันไปแบบไร้สกอร์ ฤดูกาล 2011-2012 มีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของทั้งคู่ โดยในเวลานั้นทีมชาติออสเตรเลียมีโปรแกรมลงสนามเช่นกัน แต่ โฮลเกอร์ โอเซียค กุนซือ ไม่ยอมเรียกนักเตะของทั้งสองทีมมาติดทีมชาติแม้แต่คนเดียว เพราะอยากให้พวกเขาได้ดวลกันด้วยนักเตะชุดที่ดีที่สุด และสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็น บิ๊กแมตช์ อีกอย่างหนึ่งนั่นก็คืออันดับผู้ชมในสนามที่ทั้งสองทีมพบกันมีมากถึง 5 จาก 10 อันดับผู้เข้าชมเกมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า “ถนนหนทางในสองเมืองใหญ่จะเงียบทันที ในวันที่ทั้งสองทีมลงแข่ง” ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้ว ที่จะบอกว่า เดอะ บิ๊ก บลู แบทเทิล คือเกมลูกหนังอันดับ 1 ของออสเตรเลีย
7. ดาร์บี้แมตช์แห่งชาติ : ปักกิ่ง กั๋วอัน – เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว
ดาร์บี้แมตช์ระหว่าง ปักกิ่ง กั๋วอัน และ เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว เรียกได้ว่าเป็นแมตช์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเลยก็ว่าได้ เนื่องจากทีมหนึ่งเป็นทีมเมืองหลวง อีกทีมหนึ่งเป็นทีมของเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศความไม่ถูกชะตากันของแฟนบอล ได้เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งฟุตบอลลีกอาชีพของแดนมังกรเมื่อปี 1994 และเมื่อใดก็ตามที่ทั้งสองทีมพบกัน ไม่ได้ทำให้ความคาดหวังของแฟนๆจากรุ่นสู่รุ่นลดลงเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งความเกลียดชังของเหล่าสาวกก็ไม่ได้อยู่ภายในแค่สนามเท่านั้น แต่ยังลามมาถึงนอกสนามด้วย
ตลอดเวลาที่ทั้งสองทีมปะทะกัน ตั้งแต่ยังไม่เปลี่ยนชื่อจาก เจีย – เอลีก มาเป็น ไชนีส ซูเปอร์ลีก ส่วนใหญ่แล้วทางฝั่ง เสิ่นหัว ที่เป็นฝ่ายเสียหน้าอยู่บ่อยครั้ง เพราะ ปักกิ่ง มีวลีเด็ดที่เป็นไพ่ตายอย่าง คำว่า “เก้า ต่อ หนึ่ง” (9-1) ซึ่งเป็นสกอร์ที่ย่อยยับที่สุดในประวัติศาสตร์ของ เสิ่นหัว ที่พ่ายแพ้ต่อปักกิ่ง ในเกม เอฟเอ คัพ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1997 เรียกง่ายๆว่าโดนล้อตลอดเวลา แม้กระทั่งในทุกวันนี้ก็ตาม
6. ดวลเดือดสองผู้ท้าชิงแชมป์วีลีก : ฮา นอย เอฟซี – ทันห์ กวาง นินห์
มวยเอกคู่จากเวียดนาม ฮา นอย เอฟซี และ ทันห์ กวาง นินห์ ทั้งสองทีมขึ้นชื่อว่ามีรูปแบบ รวมถึงสไตล์การเล่นที่คล้ายกัน แต่หากพูดถึงความสำเร็จคงเป็นทางด้าน ฮา นอย ที่มีชื่อชั้นดีกว่าจากการคว้าแชมป์ วี ลีก 3 สมัยขณะที่ ทันห์ กวาง เพิ่งเลื่อนชั้นจาก วี ลีก 2 ขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดเมื่อปี 2014 โดยในปี 2016 พวกเขาคว้าแชมป์บอลถ้วยของประเทศเป็นสมัยแรก และได้สิทธิ์ไปเล่นฟุตบอล เอเอฟซี คัพ รอบแบ่งกลุ่มเป็นครั้งแรกด้วย
5. ดิ โอลด์ อินโดนีเซีย ดาร์บี้ : เปอร์ซิยา จาการ์ตา – เปอร์ซิบ บันดุง
ความขัดแย้งของเหล่าแฟนบอลนำมาสู่คำว่าทีมคู่ปรับและโศกนาฏกรรมของลีกสูงสุดแดนอิเหนา เมื่อใดก็ตามที่ทีมจากเหมืองหลวงของอินโดนีเซียต้องโคจรมาพบกับยอดทีมจากเมืองบันดุง ความดุเดือดของเหล่าสาวกหัวรุนแรงของ เปอร์ซิบที่เรียกตัวเองว่า ไวกิ้ง มักจะระอุขึ้นมา ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากในยุค 90 ที่บอร์ดบริหารของทีมเปอร์ซิยา มีนโยบายเพิ่มฐานแฟนบอลที่มีอยู่น้อยนิดให้มากขึ้น ด้วยการแจกตั๋วฟรี บริการการรถรับส่ง ทำให้กลุ่ม ไวกิ้ง มองว่าเป็นการซื้อคนดู ไม่ใช่การเชียร์ทีมรักด้วยใจจริงอย่างพวกเขา
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามักจะมีข่าวแฟนบอลของทั้งสองทีมปะทะกันอยู่บ้าง แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ถึงขั้นเสียชีวิตด้วย โดยในปี 2012 ในเกมที่ เปอร์ซิยา เปิดบ้านรับการมาเยือนของ เปอร์ซิบ สถานการณ์ภายในเกมนั้นมีความตึงเครียดและมีการปะทะคารมณ์ของกองเชียร์ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ตลอด จนกระทั้งช่วงท้ายเกม ทีมเยือนทำประตูตีเสมอได้สำเร็จ สาวกเปอร์ซิบ ก็แสดงอาการดีใจกันอย่างสุดเหวี่ยง ซึ่งแน่นอนว่าสาวกเจ้าถิ่นคงไม่ยอมง่ายๆก่อนจะทำให้สนามบอลกลายเป็นสนามรบ
สุดท้าย เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีแฟนบอลไวกิ้งเสียชีวิต 3 ราย ส่งผลให้ทางการอินโดนีเซียประกาศ ห้ามมิให้กองเชียร์เปอร์ซิบ เข้าสนามในเกมที่ทั้งคู่พบกันโดยเด็ดขาด
4. ดาร์บี้แมตช์ราชวงศ์ : ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม – ปะหัง
ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม และ ปะหัง เมื่อพวกเขาพบกัน จะเรียกว่า ดาร์บี้แมตช์ราชวงศ์ ก็ไม่ผิด เพราะทั้งสองทีมล้วนแล้วแต่มีความดูแลภายใต้ราชวงศ์แห่งกษัตริย์มาเลด้วยกันทั้งคู่ แม้จะเป็นทีมเล็กมาก่อน แต่จากการที่มีผู้สนับสนุนชั้นดี อีกทั้งประสบความสำเร็จมาอย่างมากมาย ทำให้มีฐานแฟนบอลในวงกว้าง และนั่นก็เป็นสาเหตุให้เกิดการจลาจลระหว่างแฟนบอลอยู่บ่อยครั้ง
สำหรับเหตุการณ์ที่บ่งบอกถึงศักดิ์ศรีแฟนบอลของทั้งสองทีม เกิดขึ้นในเดือน พฤษภาคม ปี 2013 เมื่อเหล่าสาวกเข้าชมเกมจนล้นสนาม เบียดเสียดลามลงมาถึงลู่วิ่ง พร้อมกับมีเหตุการณ์ขว้างปาสิ่งของใส่กัน จนนักเตะของ ยะโฮร์ ไม่กล้าออกมาจากห้องแต่งตัว เพราะกลัวจะเกิดความไม่ปลอดภัย ในขณะที่แข้ง ปะหัง ออกมารอในสนามแล้ว แม้ สุลต่าน แห่งรัฐปะหัง จะลงมาจากที่ประทับเพื่อขอให้แฟนบอลอยู่ในความสงบด้วยพระองค์เอง แต่กระนั้นเหตุการณ์กลับไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ขณะที่เกมล่าช้าออกไปถึง 2 ชั่วโมง สุดท้ายฝ่ายจัดต้องยกเลิกการแข่งขันในที่สุด สร้างความไม่พอใจให้แก่สาวกปะหัง และเกิดเหตุจราจลย่อยๆกับแฟนยะโฮร์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าควบคุมสถานการณ์
3. ซูเปอร์แมตช์แห่งเกาหลีใต้ : เอฟซี โซล – ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์
ในปี 1996 อัลยาง แอลจี ชีตาร์ เปลี่ยนชื่อมาเป็น เอฟซี โซล พร้อมโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ทางใต้ของเมืองหลวงอย่างกรุงโซล ซึ่งเป็นบ้านของ ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ การแข่งขันของมหาอำนาจลูกหนังแดนโสมขาวก็ได้อุบัติขึ้น
จากผลงานความสำเร็จของสโมสร ซูวอน บลูวิงส์ คว้าแชมป์ลีก 4 สมัย ขณะที่ เอฟซี โซล ทำได้ 6 สมัย แต่หากพูดถึงความสำเร็จระดับทวีป ยอดทีมที่มีซัมซุงเป็นผู้สนับสนุน คว้าแชมป์เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีกมาแล้ว 2 สมัย ส่วนทีมจากเมืองเหลืองทำได้เพียงรองแชมป์ 2 สมัย
ไม่ว่าซูเปอร์แมตช์แห่งเกาหลีใต้เกิดขึ้นเมื่อใด ไม่มีครั้งไหนที่แฟนบอลจะไม่เต็มสนาม โดยเมื่อปี 2007 เอฟซี โซล เปิดสนามเวิลด์คัพ สเตเดี้ยม รับการมาเยือนของ ซูวอน ได้สร้างสถิติผู้ชมเต็มความจุ 55,397 คน ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการลูกหนังเกาหลีใต้ แต่หากพูดถึงเกมที่อยู่ในความทรงจำของเหล่าสาวกแล้วละก็ คงเป็นเกมในรายการลีก คัพ เมื่อปี 2000 ในเกมที่ซูวอนเอาชนะเอฟซี โซลไปแบบสุดมัน 5-4 นั่นเอง
2. สองคู่แค้นแดนอาทิตย์อุทัย : อุราวะ เรดส์ – กัมบะ โอซากา
หากพูดถึงสังเวียนเดือดแดนปลาดิบ ต้องมีชื่อของสองทีมที่เคยคว้าแชมป์ระดับทวีป เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก สองทีมที่เป็นคู่อรินานนับ 10 ปีอย่าง "ปีศาจแดงแห่งเอเชีย" อุราวะ เรดส์ ทีมฝั่งตะวันออก และ "เด็กสายฟ้า" กัมบะ โอซากา ทีมฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น โดยเรื่องราวความบาดหมางของทั้งสองทีมเกิดขึ้นเมื่อปี 2005 ที่ อุราวะ กลับขึ้นมาเป็นยอดทีมของญี่ปุ่นอีกครั้งและกำลังจะคว้าแชมป์เจลีก แต่กระนั้นก็ต้องหลบทางให้กับ กัมบะ ที่สามารถเก็บ 3 คะแนนจากนัดตกค้าง ทั้งที่ในฤดูกาลนั้น อุราวะ เก็บแต้มจาก กัมบะ ได้ถึง 4 คะแนน (ชนะ 1 เสมอ 1) แต่สุดท้ายพวกเขาก็โดนแซงหน้าคว้าแชมป์ไปแบบแสบทรวง
นับตั้งแต่นั้นมา ทั้งคู่ก็เป็นคู่แข่งแย่งแชมป์กันมาตลอด และเมื่อใดที่พบกันความมันจึงบังเกิดขึ้น ด้วยเสียงอันกึกก้องของเหล่ากองเชียร์ของทั้ง 2 ทีม รวมทั้งความดุเดือดในสนามที่มีการปะทะกัน จนมีเรื่องมีราวอยู่หลายครั้ง เรียกได้ว่าไม่มีใครยอมใคร
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน (ฤดูกาล 2018) ทั้งสองทีมมีผลงานและอยู่ในอันดับที่น่าตกใจโดยเรดส์มี 15 แต้มจาก 12 นัด อยู่อันดับ 11 ส่วนกัมบะมี 13 คะแนนจาก 12 นัด อยู่อันดับที่ 15 ของตาราง
1. ศึกสองยักษ์แดนสยาม : บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด – เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด
แม้ปัจจุบันจะมีหลายสโมสรที่ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นบิ๊กทีม แต่ท้ายที่สุดสองมหาอำนาจลูกหนังแห่งสยามประเทศก็คงหนีไม่พ้น ปราสาทสายฟ้า และ กิเลนผยอง ที่ต่างเป็นคู่อริชิงดีชิงเด่นกันมาตลอด โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยอดทีมจากแดนอิสานใต้เติบโตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ต้องการพาทีมก้าวขึ้นมาเป็นสโมสรชั้นนำของประเทศและระดับเอเชีย ขณะที่เมืองทองเรียกได้ว่าเป็นทีมมหาอำนาจมาก่อน ด้วยการเลื่อนชั้นขึ้นมาจาก ดิวิชั่น 2 ต่อเนื่องมาถึงการเป็นม้ามืดคว้าแชมป์ไทยลีกตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ขึ้นชั้น
แต่หากพูดถึงความสำเร็จ ยอดทีมจากแดนอีสานใต้จะดูเหนือกว่ามากที่เคยคว้าแชมป์ทุกรายการรวม 23 ครั้งแบ่งเป็น ไทยลีก 5 สมัย, เอฟเอ คัพ 4 สมัย, ลีกคัพ 5 สมัย, ถ้วยพระราชทาน ก. 4 สมัย, แม่โขง คลับ 2 สมัย และพรีเมียร์ คัพ 3 สมัย ขณะที่กิเลนผยองคว้าแชมป์ไปทั้งสิ้น 11 ครั้ง แบ่งเป็น ไทยลีก 4 สมัย, ลีกคัพ 2 สมัย, ถ้วยพระราชทาน ก. 2 สมัย แม่โขง คลับ 1 สมัย, ดิวิชั่น1 1 สมัย และดิวิชั่น2 1 สมัย
อย่างไรก็ตามแม้ทั้งสองทีมจะเป็นคู่รักคู่แค้นกัน แต่ในสนามแทบไม่มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันระหว่างแฟนบอลและนักฟุตบอลให้เห็นมากนัก แต่ถ้าในโลกออนไลน์ เรียกได้ว่าดุเดือดเลือดเลือดพล่านไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว และน่าติดตามว่าในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ จะเป็นฝั่งสีแดง หรือสีน้ำเงิน ที่จะคว้าชัยชนะในศึกโตโยต้า ไทยลีก ยกแรกไปครอง