ส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการฟุตบอลเจลีกเป็นลีกที่น่าติดตาม จนได้รับการขนานนนามว่าเป็นลีกชั้นนำของเอเชีย นั่นคือมาตรฐานของบรรดา 18 ทีมในลีกที่ไม่ต่างกันมาก ซึ่งหลายครั้งเรามักจะเห็นทีมที่มีโอกาสลุ้นแชมป์ หรือลุ้นหนีตกชั้นสลับเปลี่ยนผลงานกันได้ทุกปี ไม่มีทีมใดที่เรียกเต็มปากว่าเป็นทีมลุ้นแชมป์อยู่ตลอด และนี่คือ 10 สโมสรที่เคยทำผลงานขึ้นๆลงๆในการแข่งขันเกมลีกสูงสุดแดนอาทิตย์อุทัย
กด Next เพื่ออ่าน
1. เวกัลตะ เซนได
ภายหลังที่ทีมจากเมืองเซนไดคัมแบ็คสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งในฤดูกาล 2010 พวกเขาทำอันดับในตารางเจลีกซีซันดังกล่าวอยู่ที่ 14 ของตาราง ทว่าพอเข้าสู่ปีที่สองและสาม เซนไดกลับทำผลงานผงาดขึ้นมาจบท็อปโฟร์ในปี 2011 และจากนั้นอีก 1 ปี อดีตแชมป์เจทู 1 สมัยสร้างประวัติศาสตร์สโมสรด้วยการจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งรองแชมป์ ด้วยการมี 57 คะแนน และถือเป็นการคว้าแต้มสูงสุดในประวัติศาสตร์สโมสร อย่างไรก็ดี หลังจากประสบความสำเร็จชนิดก้าวกระโดดสองปีติด ฤดูกาลถัดจากนั้นพวกเขาก็กลับมาอยู่ในอันดับเลขสองตัวต่อเนื่องจวบจบปัจจุบัน
2. อูราวะ เรด ไดมอนส์
อดีตแชมป์เจลีก 1 สมัย ถือเป็นอีกหนึ่งทีมยักษ์ใหญ่ในวงการลูกหนังลีกสูงสุดลูกพระอาทิตย์ เห็นได้จากการทำอันดับจบในฤดูกาลเจลีกนับตั้งแต่ที่ก่อตั้งในฐานะทีมท็อปโฟร์มากถึง 9 สมัย อย่างไรก็ตาม ตลอดการแข่งขันก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ฟอร์มของทัพปีศาจแดงแห่งเอเชียล้มเหลว อย่างปี 2010-11 ที่ทีมจากไซตามะจบฤดูกาลในเจลีกด้วยที่ 10 และ 15 ถือเป็นความล้มเหลวอยู่ไม่น้อย เพราะช่วงก่อนหน้าระหว่างปี 2004-2007 พวกเขามีดีกรีเป็นแชมป์เจลีก 1 สมัยและรองแชมป์ลีกถึง 3 สมัย และแม้จะมีปีที่ผลงานดิ่งติดต่อกัน ทว่าพอเข้าสู่การแข่งซีซัน 2012 พวกเขากลับมาฟอร์มแกร่งรั้งอันดับท็อปทรีอีกครั้ง และรักษามาตรฐานเลขตัวเดียวต่อเนื่องมาจนถึงฤดูกาล 2017 ที่เพิ่งผ่านไป
3. คาชิวา เรย์โซล
หลังจากหล่นชั้นสู่เวทีเจทูในปี 2010 จากการจบอันดับในปี 2009 ด้วยอันดับ 16 ซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายสู่เวทีลีกรอง ทีมฉายาเจ้าชายสุริยะคัมแบ็คกลับมาเล่นในลีกสูงสุดอีกครั้งจากการเป็นแชมป์เจ2 ก่อนจะมาสร้างเซอไพรส์คว้าแชมป์ลีกสูงสุดในปี 2011 ต่อทันที ด้วยสถิติเก็บได้ 72 แต้มจากการลงสนาม 34 นัด ถือเป็นปีเดียวที่สร้างโอกาสคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ เพราะหลังจากนั้นเรย์โซลจบอันดับท็อป 10 มาโดยตลอด
4. เอฟซี โตเกียว
แม้สโมสรดังแห่งเมืองหลวงของญี่ปุ่นจะไม่เคยประสบความสำเร็จก้าวไปถึงการเบียดลุ้นคว้าแชมป์ลีก แถมอันดับในตารางก็ยังไม่เคยก้าวมาถึงทีมลุ้นคว้าแชมป์ได้ ทว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยประสบความสำเร็จถึงขั้นขยับขึ้นรั้งท็อปโฟร์ในลีกมาแล้วในฤดูกาล 2015 ซึ่งเป็นผลของความสำเร็จมาจากการคว้ารองแชมป์เจลีกสเตจแรก แต่หลังจากฤดูกาลดังกล่าว ยอดทีมจากกรุงโตเกียวก็กลับมาวนจบฤดูกาลด้วยอันดับกลางตารางค่อนไปท้ายเช่นเดิม
5. ชิมิสุ เอสพัลส์
ทีมจากจังหวะชิสุโอกะถือเป็นอีกหนึ่งสโมสรยุคบุกเบิกของเจลีก และเคยก้าวขึ้นไปประสบความสำเร็จถึงขั้นติดท็อปโฟร์มาแล้วถึง 7 ครั้ง โดยเฉพาะฤดูกาล 1998 และ 1999 ที่ติดอันดับท็อป 3 และรองแชมป์ ตามลำดับ และแม้ช่วงเวลาต่อจากนั้นชิมิสุจะเริ่มกลายเป็นทีมกลางตาราง ซึ่งจบอันดับในฤดูกาล 2003-2005 ที่ 11, 14 และ 15 ทว่าพอเข้าสู่ปี 2006 และ 2007 ดูเหมือนว่าชิมิสุจะกลับมาวนอยู่ในเส้นทางเดิมเฉกเช่นอดีต นั่นคือการติดอันดับ 4 เป็นเวลาสองปีติดต่อกัน และถือเป็นการติดท็อป 4 รอบสุดท้าย ก่อนที่ทีมจะรูดลงมาอยู่กลางตารางเช่นเคย มิหนำซ้ำยังเคยจบฤดูกาลด้วยอันดับ 17 และหล่นชั้นลงสู่เจทูในปี 2015 มาแล้ว
6. นาโงยา แกรมปัส
ย้อนกลับไปช่วง 10 ปีที่แล้ว ทัพวาฬเพชฌฆาตทำอันดับจบในฤดูกาลเจลีกด้วยอันดับ 3 ถือเป็นสถิติที่โดดเด่นที่สุดในรอบกว่าทศวรรษที่ทำได้ (หนล่าสุดคือรองแชมป์ปี 1996) แม้ในปีต่อมาจะผลงานรูดจบอันดับ 9 ของตาราง ทว่าพอเข้าสู่ฤดูกาล 2010 นาโงยาสร้างประวัติศาสตร์ซิวโทรฟีเจลีกได้เป็นหนแรกในประวัติศาสตร์สโมสร แถมยังสานความสำเร็จต่อเนื่อง เพราะในปี 2011 ที่แม้จะไม่สามารถป้องกันแชมป์ลีกได้ แต่ก็เป็นการต่อยอดฟอร์มเก่งจากผลงานคว้ารองแชมป์ และนี่คือโอกาสจบอันดับบนของตารางหนสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นนาโงยากลับกลายเป็นทีมระดับกลาง ก่อนจะกลายเป็นทีมท้ายตารางในฤดูกาล 2016 และกระเด็นตกชั้นสู่เจทูในเวลาต่อมา
7. กัมบะ โอซากา
ในช่วงเวลา 10 ฤดูกาลหลังสุดของกัมบะนับตั้งแต่ปี 2002-2012 พลพรรคเด็กสายฟ้าเคยผงาดรั้งอันดับท็อปทรีมากถึง 8 ฤดูกาล ก่อนจะทำช็อคแฟนบอลชนิดที่ล้มเหลวถึงขั้นกระเด็นตกชั้นสู่เจทูหลังจบฤดูกาล 2012 ด้วยตำแหน่งรองบ๊วย ทว่าพวกเขาก็ใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวในการกลับมาเล่นลีกสูงสุด จากการคว้าแชมป์เจทู ก่อนจะหยิบตำแหน่งแชมป์ลีกได้เป็นหนสองในประวัติศาสตร์สโมสร เพียงตั้งแต่ปีีแรกที่ตกลงไปลีกรองในปี 2014 อีกทั้งในฤดูกาลต่อมา ทีมดังจากภูมิภาคคันไซก็ยังไว้หน้าการตกชั้นเมื่อปี 2013 ด้วยการจบอันดับสองในซีซัน 2015
8. เซเรโซ โอซากา
แม้จะไม่ประสบความสำเร็จก้าวถึงแชมป์ลีกเฉกเช่นกับทีมร่วมเมือง ทว่าขุนพลซากุระก็เคยมีดีกรีจบอันดับตารางเจลีกไม่น้อยหน้ากัมบะ เห็นได้จากการผงาดรั้งท็อป 3 ในปี 2010 ทั้งๆที่เพิ่งจะเลื่อนชั้นมาจากเจทู รวมถึงฤดูกาลน่าจดจำของแฟนบอล หลังจบที่ 4 ในปี 2013 ซึ่งเป็นซีซันที่ทีมร่วมเมืองโลดแล่นในอยู่ในเจทู อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็มีช่วงเวลาที่ฟอร์มดิ่งลงเช่นกัน เพราะภายหลังที่จบอันดับท็อปโฟร์ ในฤดูกาลถัดมา (2014) เซเรโซกลับผลงานดร็อปร่วงสู่เจทูจากการจบอันดับรองบ๊วย ในขณะที่กัมบะผงาดถึงแชมป์ลีก แต่ภายหลังที่กลับมาเล่นในเจลีกอีกครั้งในปี 2017 เซเรโซก็กลับมาฟอร์มดีอีกครั้งจากการจบฤดูกาลด้วยอันดับ 3 แถมยังมึโทรฟีลูวานคัพและบอลถ้วยจักรพรรดิมาประดับทีมหนแรกอีกด้วย
9. ซางัน โทซุ
ทันทีที่ก้าวขึ้นมาเล่นในศึกเจ1ลีก อย่างเป็นทางการหนแรก หลังคว้าสิทธิ์ขึ้นมาในฐานะรองแชมป์ฟุตบอลเจทูเมื่อปี 2011 พลพรรค “นกเมจิโร” เดินหน้าประสบความสำเร็จตั้งแต่ซีซันแรก หลังทำอันดับจบที่ 5 ของตาราง ด้วยการมี 53 แต้มจาก 34 นัด มีแต้มตามทีมอันดับ 3 ของอูราวะ เรดส์ ในพื้นที่โควตาฟุตบอลเอเชียเพียง 2 คะแนนเท่านั้น แม้ฤดูกาลถัดมา (2013) ทีมจากจังหวะซากะจะจบด้วยอันดับที่ 12 แต่ก็กลับมาจบท็อป 5 ของตารางได้อีกครั้งในปี 2014 ชนิดที่มีคะแนนสูงถึง 60 คะแนน เท่ากับทีมพื้นที่สุดท้ายของโควตาเตะเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก รอบคัดเลือกอย่างคาชิวา เรย์โซล แต่กลับเป็นเจ้าชายสุริยะที่คว้าสิทธิ์ไปเพราะผลเฮดทูเฮดที่ทำได้ดีกว่า
10. ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา
ต้นสังกัดของธีรศิลป์ แดงดา คือทีมที่ประสบความสำเร็จจากผลงานซิวแชมป์ลีกมากสุดในรอบ 6 ปีหลังสุด ไล่มาตั้งแต่จากเป็นแชมป์เจลีกหนแรกในประวัติศาสตร์สโมสรเมื่อปี 2012 ก่อนจะเดินหน้าสานความสำเร็จต่อจากผลงานป้องกันแชมป์ได้ในปี 2013 และแม้ซีซัน 2014 อันดับจะหล่นมาอยู่ที่ 8 ของตาราง แต่อีก 1 ฤดูกาลต่อมา ทีมหมีมหาภัยก็กลับมาซิวแชมป์เจลีกได้อีกครั้ง ต่อมาพวกเขาหล่นมาอยู่ที่ 6 ของตารางในปี 2016 ทว่าพอเข้าสู่ปี 2017 พลธนูม่วงกลับทำผลงานดิ่งในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ที่จบอันดับ 16 ในปี 2007 และต้องตกชั้นไปเจทู หลังจากที่ต้องเป็นฝ่ายดิ้นรนอย่างหนักกับการหนีตาย ก่อนจะรอดแบบเฉียดฉิวจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งเหนือโซนตกชั้น 1 อันดับ (ที่ 15) กระทั่งปี 2018 นี้ ทีมจะกลับมาทำผลงานดีอีกครั้ง หลังผ่าน 8 เกม พวกเขากำลังรั้งจ่าฝูงของตารางชนิดทิ้งรองจ่าฝูงถึง 7 คะแนน