เกมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพระดับสูงสุดของญี่ปุ่นอย่าง เจ1ลีก ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานถึงเรื่องของความเป็นลีกการแข่งขันเบอร์หนึ่งของเอเชีย ลีกแห่งนี้ผลิตนักเตะเลือดซามูไรสู่เวทียุโรปมานักต่อนัก มีนักเตะชื่อดังมาค้าแข้งอยู่ก็ไม่น้อย ทั้งยังมีเรื่องน่าตื่นเต้นให้คอยลุ้นคอยติดตามอยู่ตลอดทุกฤดูกาล
และก่อนที่การแข่งขันเจ1ลีก จะเริ่มทำการแข่งขันในฤดูกาล 2018 อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ นี่คือ 10 เรื่องน่าจับตาของวงการลูกหนังระดับลีกสูงสุดแดนอาทิตย์อุทัย
กด Next เพื่ออ่าน
การกลับมาของนาโงยา แกรมปัส
อดีตแชมป์เจ1ลีก ฤดูกาล 2010 ทำผลงานเลื่อนชั้นกลับมาสู่เวทีลีกสูงสุดได้อีกครั้ง และถือเป็นการใช้เวลาคัมแบ็คเพียง 1 ฤดูกาล หลังจากที่ร่วงสู่เจทูในฐานะทีมอันดับ 16 เมื่อซีซัน 2016
ทีมฉายา “วาฬเพชฌฆาต” ทำผลงานจบฤดูกาลในเจทูด้วยอันดับ 3 ต้องมาเล่นเพลย์ออฟลุ้นเลื่อนชั้นกับอวิสปา ฟุคุโอกะ, โตเกียว เวอร์ดี และเจฟ ยูไนเต็ด ชิบะ ก่อนจะคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นกลับสู่ลีกสูงสุด ที่แม้จะมีผลเสมออวิสปาในนัดชิง 0-0 แต่จากอันดับตารางคะแนนเจทูที่พวกเขารั้งที่สามของตาราง และมีแต้มเหนือกว่าคู่แข่งที่อยู่อันดับ 4 นั่นเอง
ปีที่สองของโพลดี้กับโกเบ
ถือเป็นดีลย้ายทีมฮือฮาตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาลก่อน เมื่ออดีตนักเตะทีมชาติเยอรมันชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2014 ตัดสินใจโยกมาค้าแข้งในดินแดนเอเชียหนแรกกับวิสเซล โกเบ ในช่วงเลกสองของฤดูกาล 2017 พร้อมเป้าหมายพาทีมเกาะกลุ่มหัวตารางลุ้นพื้นที่ไปเล่นเอฟเอซี แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาลหน้า
แต่ท้ายสุดโพลดี้กลับไม่อาจพาโกเบสานผลงานตามเป้า เพราะนอกจากทีมจะจบฤดูกาลด้วยอันดับ 9 แบบไม่มีอะไรให้ลุ้น สถิติส่วนตัวของเขาก็ไม่ได้ดูเด่นระดับแถวหน้า เพราะตลอด 15 แมตช์ เขาทำได้แค่ 5 ประตูกับ 1 แอสซิสต์เท่านั้น นั่นจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อในฤดูกาลที่กำลังจะมาถึงนี้ว่า อดีตกองหน้าอาร์เซนอลจะช่วยวิสเซล โกเบ บินสูงตามเป้าที่ตั้งไว้แต่แรกมากน้องเพียงใด
ทีมดังพาเหรดเปลี่ยนกุนซือ
ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูกาล 2017 รวมทั้งช่วงปิดฤดูกาล นอกจากหลายสโมสรจะขยับเสริมตัวผู้เล่นเพื่อเตรียมพร้อมในซีซันหน้าแล้ว ในส่วนของการเลือกตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนก็มีการขยับเปลี่ยนกันเพื่อเป้าหมายที่สูงกว่าเดิม ไล่มาตั้งแต่มิไฮโล เปโตรวิช ที่เข้ามาคุมคอนซาโดเล ซัปโปโร แทนที่ของชูเฮ โยโมดะ, แยน จอนส์สัน แยกทางกับซานเฟรชเช ฮิโรชิมา และเลือกไปคุมชิมิสุ เอสพัลส์ ส่วนหมีมหาภัยได้ตัวฮิโรชิ โจฟุคุ คุมแทน
ขณะที่กัมบะ โอซากา ที่ล้มเหลวจบอันดับ 10 ของตารางก็ไปดึง เลเวียร์ คัลปิ เทรนเนอร์ชาวบราซิลมาคุมทัพแทนที่ของ เคนตะ ฮาเซกาวา ที่อยู่กับสโมรมาตั้งแต่ปี 2013 ส่วนโยโกฮามา เอฟ มารินอส ก็เพิ่งทำฮือฮารวบอันเก้ ปอสเตโคกลู อดีตเฮดโค้ชทีมชาติออสเตรเลียเข้ามาทำหน้าที่แทน เอริค มองต์แบร์ กุนซือชาวฝรั่งเศส นอกนั้นยังคงวางใจให้กุนซือคนเดิมจากฤดูกาลก่อนคุมทัพต่อ รวมทั้ง 3 ทีมน้องใหม่ทั้งโชนัล เบลมาเร, วี-วาเลน นางาซากิ รวมทั้งนาโงยา แกรมปัสต์ ที่ใช้งานเทรนเนอร์ชุดพาทีมเลื่อนชั้นทั้งหมด
โอกาสเปิดกว้างสำหรับแชมป์ลีก
การแข่งขันฟุตบอลเจ1ลีกตลอด 5 ฤดูกาลหลังสุด (รวมฤดูกาลที่เพิ่งจบไป) ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันแบบแบ่งสองสเตจ หรือแบบปกติ จะเห็นว่าทุกทีมมีโอกาสคว้าแชมป์ได้เท่ากันหมด เมื่อเทียบจากการแข่งขันเป็นตารางรวม ไล่มาตั้งแต่ปี 2013 ที่ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา คว้าแชมป์จากการมี 63 คะแนน ส่วนรองแชมป์เป็น โยโกฮามา เอฟ มารินอส มี 62 คะแนน ส่วนปี 2014 แชมป์เป็นของกัมบะ โอซากา ที่มี 63 คะแนน รองแชมป์เป็นอูราวะ เรดส์ มี 62 คะแนน ส่วนอันดับ 3-5 ไล่ตั้งแต่คาชิมา อันท์เลอร์ส, คาชิวา เรย์โซล และซางัน โทสุ มี 60 แต้ม
ด้านฤดูกาล 2015 ที่แม้จะแบ่งการแข่งเป็นสองสเตจ ทว่าเมื่อพิจารณาจากตารางรวม แชมป์คือซานฟรชเช ฮิโรชิมา มีคะแนนรวมที่ 74 แต้ม ส่วนรองแชมป์คืออูราวะ เรดส์ มี 72 คะแนน ส่วนฤดูกาล 2016 อันดับตารางคะแนนรวมก็ถือว่าสูสี เพราะหากไม่นับเกมเพลย์ออฟหาแชมป์ที่ท้ายสุดเป็นอันท์เลอร์ส ทีมอันดับสามที่คว้าแชมป์ได้ จากตารางรวมสองสเตจเป็นอูราวะ เรดส์ มี 74 คะแนน ส่วนคาวาซากิ ฟรอนทาเล ทีมอันดับสองมีถึง 72 คะแนน
ปิดท้ายที่ปี 2017 ที่การแข่งขันยังคงมันมาถึงนัดสุดท้าย ก่อนจะเป็นฟรอนทาเล ที่ปาดหน้าคาชิมา อันท์เลอร์ส คว้าแชมป์ลีกจากการมีผลต่างประตูได้เสียเหนือกว่า แต่ก็มีคะแนนเท่ากันที่ 72 คะแนน
ฤดูกาลประวัติศาสตร์ในเจ1ลีกของวี-วาเรน
นับเป็นการเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร นับตั้งแต่ที่ก่อตั้งทีมมาเมื่อปี 2005 และยังถือเป็นสโมสรอันดับ 31 ที่มีโอกาสโลดแล่นบนลีกสูงสุดของสโมสรวี-วาเลน นางาซากิ ทันทีที่กำชัยชนะเหนือคามาทามาเร ซานุกิในเกมเจทูนัดที่ 41 ของฤดูกาล ไป 3-1 ส่งผลให้พวกเขาเก็บเพิ่มจาก 74 เป็น 77 แต้ม ดีพอที่จะทำให้พวกเขาเลื่อนชั้นสู่เจ1ลีก ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่การแข่งเจทูเหลืออีก 1 เกม และเป็นการโดยมีแต้มเหนือกว่าทีมอันดับ 3 ซึ่งเป็นพื้นที่เพลย์ออฟอย่างอวิสปา ฟุคุโอกะ ในขณะนั้นถึง 4 แต้ม
แข้งสัญชาติญี่ปุ่นกับตำแหน่งดาวซัลโว
เมื่อฤดูกาล 2017 ที่เพิ่งจบไป จะเห็นว่าอันดับดาวซัลโวไล่มาตั้งแต่ 1-5 ล้วนมีแต่กองหน้าชาวญี่ปุ่นอยู่ในทำเนียบยอดดาวยิง ไล่มาตั้งแต่ ยู โคบายาชิ กองหน้ากัปตันทีมฟรอนทาเล เจ้าของดาวซัลโวที่ทำไป 23 ประตู รองลงมาเป็นเคนยุ ซูกิโมโตะ ดาวยิงตัวหลักเซเรโซ โอซากา 22 ประตู ตามด้วยชินโสะ โคโรกิ ศูนย์หน้าของอูราวะ 20 ประตู, เคนโงะ คาวามาตะ ดาวเตะจูบิโล 14 ประตู และปิดท้ายที่อันดับดาวซัลโวร่วม 12 ลูกของมู คานาซากิ สังกัดคาชิมา อันท์เลอร์สรวมทั้ง 2 สตาร์แซมบ้าอย่างราฟาเอล ซิลวา จากอูราวะ เรดส์ และคริสเตียโน ของคาชิวา เรย์โซล
จากผลงานดังกล่าวบ่งบอกเป็นอย่างดีว่าลีกสูงสุดของญี่ปุ่นไม่ได้นิยมใช้แข้งต่างชาติเฉกเช่นกันลีกอื่นร่วมทวีป อีกทั้งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ก่อนปี 2017) มีแข้งชาวญี่ปุ่นสามารถเบียดขึ้นมาคว้าตำแหน่งดาวยิงสูงสุดของลีกได้ถึง 6 ครั้ง นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่น่าจับตาดูต่อว่าในฤดูกาล 2018 นัด หลังจบ 34 เกม ตำแหน่งดาวยิงสูงสุดยังคงเป็นของนักเตะเลือดบูชิโดอยู่หรือไม่
ช่วงบั้นปลายของเหล่าสตาร์ดังซามูไรบลู
ในซีซันที่กำลังจะถึงนี้ บรรดานักเตะมากประสบการณ์ที่เคยผ่านการติดทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ หรือแม้แต่แข้งที่ลงยืนหยัดการลงสนามในลีกสูงสุดแดนซามูไรมาไม่น้อยกว่า 400 เกม ก็ยังคงอยู่ค้าแข้งกับต้นสังกัดของตัวเองครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ยูจิ นาคาซาวา กองหลังวัย 39 ปี ผู้เล่นลงสนามให้โยโกฮามา เอฟ มารินอส มาแล้วกว่า 505 เกม, ชุนสุเกะ นาคามูระ เพลย์เมกเกอร์วัย 39 ปีของจูบิโล อิวาตะ, มิตสึโอะ โอกาซาวาระ กองกลางวัย 38 กะรัตที่ลงสนามให้คาชิมาไม่น้อยกว่า 487 เกม, ยาสุฮิโตะ เอนโด จอมทัพกัมบะ โอซากาในวัย 38 ปี
หรือแม้แต่เคงโงะ นาคามูระ กองกลางวัย 37 ของคาวาซากิ ฟรอนทาเล เจ้าของสถิติลงสนามให้ทีม 490 แมตช์ ตลอดจน 2 สตาร์คอนซาโดเล ซัปโปโรวัย 38 ปีของชินจิ โอโนะ และจุนอิจิ อินาโมโตะ แน่นอนว่าในระหว่างที่กำลังแข่ง ตำนานลูกหนังเหล่านี้จะช่วยต้นสังกัดคว้าความสำเร็จ หรือทำลายสถิติอะไรบางอย่างพร้อมสั่งลาเกมลูกหนังอาชีพเลยหรือเปล่า
ใบเบิกทางของเหล่าแข้งซามูไรสู่ลีกยุโรป
ฤดูกาลที่ผ่านมา มีแข้งชาวญี่ปุ่นถูกสโมสรจากลีกยุโรปตัดสินใจดึงไปเสริมทีมช่วงกลางซีซันถึง 5 ราย ประกอบด้วย ไดซุเกะ มัตสึอิ จอมเก๋าวัย 36 ปีที่มีดีกรีติดทีมชาติชุดใหญ่ 31 เกมย้ายไปอยู่กับโอดรา โอโปเล ในลีกสูงสุดของฮอลแลนด์, โชยะ นาคาจิมะ อดีตทีมชาติชุด U23 ที่เอฟซี โตเกียว ปล่อยไป ให้ปอร์ติโมเนนเซ ทีมจากลีกสูงสุดแดนฝอยทอง ตัดสินใจยื่นข้อเสนอขอยืมไปใช้งานจนถึงเดือนมิถุนายน 2018, ริตสึ โดอัน แนวรุกดาวรุ่งที่ย้ายจากกัมบะ โอซากา ไปอยู่กับ โกรนิงเกน ในเอเรดิวิซีลีก ดัตช์ ด้วยสัญญายืม 1 ปี, ไดอิจิ คามาดะ มิดฟิลด์สังกัดซางัน โทสุ ที่มีโอกาสย้ายไปอยู่กับไอทรัค แฟรงค์เฟิร์ต ที่มีมาโกโตะ ฮาเซเบะอยู่ค้าแข้งด้วย รวมทั้ง ทาคาฮิโร เซคิเนะ ที่เป็นตัวหลักของอูราวะ เรดส์ แม้จะอายุเพียง 22 ปี แต่ได้ลงเล่นไปแล้วไม่น้อยกว่า 100 เกม ก็ถูกอิงโกลสตัดท์ ทีมลีกรองเมืองเบียร์ดึงไปเสริมแดนกลาง
นอกจากนี้ ในช่วงตลาดนักเตะรอบล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ลีดส์ ยูไนเต็ด สโมสรจากอีเอฟแอล แชมเปี้ยนชิพ ตัดสินใจดึงโยซุเกะ อิเดงุจิ ของกัมบะ โอซากา และ ยูตะ โทโยคาวะ ของคาชิมา อันท์เลอร์ส ไปเสริมทีมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ทั้งคู่ทำผลงานเด่นในฤดูกาล 2017 โดยเฉพาะอิเดงุจิ ที่ก้าวขึ้นไปติดทีมชาติญี่ปุ่นมาแล้ว
จากโอกาสที่เปิดกว้างให้กับแข้งทุกรายพร้อมโบยบินสู่เวทีลีกยุโรป อีกทั้งเหล่านักเตะที่เคยไปเล่นมาก่อนก็ทำผลงานโดดเด่น สิ่งเหล่านี้นับเป็นใบเบิกทางที่เปิดโอกาสให้แข้งญี่ปุ่นคว้าสิทธิ์ลุยยุโรปในฤดูกาล 2018 นี้แบบไม่ต้องสงสัย
ฤดูกาลที่สองของชนาธิป
แนวรุกดีกรีทีมชาติไทยมีโอกาสโยกมาค้าแข้งกับคอนซาโดเล ซัปโปโร ทีมในลีกสูงสุดของญี่ปุ่นช่วงเลกสองของฤดูกาลที่เพิ่งจบไปด้วยสัญญายืมตัวเป็นระยะเวลา 1 ปีครึ่ง และได้รับความไว้วางใจถูกชูเฮ โยโมดะ เทรนเนอร์ประจำทีมส่งลงสนามเป็น 11 ตัวจริงในเกมนัดเปิดหัวกับอูราวะ เรดส์ ทันที ส่งผลให้ดาวเตะร่างจิ๋วหมายเลข 18 รายนี้จารึกชื่อเป็นนักเตะไทยคนแรกที่ได้โอกาสลงสนามในเกมลีกสูงสุดของญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ “เจลีก”
จากนั้น “เจ” เริ่มงัดศักยภาพ และฉายแววเด่นผ่านทักษะส่วนตัว เข้ากับเพื่อนร่วมทีมและแผนการเล่นของโค้ชแบบไร้ปัญหา นำมาสู่การได้รับโอกาสลงเป็นตัวจริงต่อเนื่องมากถึง 16 เกม (เป็นตัวสำรองนัดเดียวในเกมชนะคาชิวา เรย์โซล 3-0) นอกจากนี้ อดีตดาวยิงบีอีซี เทโร ศาสน และเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ยังประเดิมแอสซิสต์แรกไปแล้วในเกมพ่ายเซเรโซ โอซากา จะขาดก็เพียงแค่การทำประตูแรกในเจ1ลีก ซึ่งก็น่าเป็นที่จับตาว่าในปี 2018 นี้ แข้งหมายเลข 18 จะสร้างสรรค์เกมรุกจนเปลี่ยนเป็นผลสกอร์แรกของตัวเองได้หรือไม่
โอกาสบนเวทีเจลีกหนแรกของธีรศิลป์-ธีราทร
ธีรศิลป์ แดงดา ซูเปอร์สตาร์ทีมชาติไทย กลายเป็นนักเตะจากไทยคนที่สองต่อจาก ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่ได้ลงเล่นในศึกเจ1ลีก หลังจากที่ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา ตัดสินใจยื่นข้อเสนอดึงมาเสริมเกมรุกด้วยสัญญา 1 ฤดูกาลตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2017 จากนั้นเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ ก็ยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่า ธีราทร บุญมาทัน อีกหนึ่งแบ็คซ้ายแถวหน้าของไทยกลายเป็น สมาชิกใหม่ของ วิสเซิล โกเบ กลายเป็นนักเตะไทยคนที่สามต่อจาก เจ และ มุ้ย ที่จะมีโอกาสลงเล่นในเวทีเจ1ลีก ซีซันหน้า
จากผลงานในสนามเมื่อฤดูกาลก่อน ที่เจทำผลงานช่วยคอนซาโดเลจนเป็นน่าพอใจ สิ่งนี้นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ซานเฟรชเชและโกเบตัดสินใจดึงสองแข้งจากเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ดมาเสริมทีมเพื่อสู้ศึกฤดูกาลที่จะเปิดสนามปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และนับเป็นเรื่องน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งมุ้ยและอุ้มจะได้โอกาสลงสนามช่วยทีมประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด