ไทยลีก ฟุตบอลอาเซียน

ผลงาน/เม็ดเงิน/แฟนบอล : ลีกไทยอยู่ตรงไหนของเอเชีย?

เกมการแข่งขันลีกฟุตบอลสูงสุดแดนสยามอย่างโตโยต้า ไทยลีก ปิดฉากในฤดูกาล 2017 ไปแล้ว แน่นอนว่าในปีนี้มีทั้งความสำเร็จ ล้มเหลวของแต่ละสโมสร เกิดสถิติและเหตุการณ์น่าสนใจต่างๆนานา รวมถึงมาตรฐานความเป็นมืออาชีพที่เริ่มมีการจัดการอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับนโยบายที่สหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียกำหนดไว้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งภูมิภาค

ฟุตบอลไทรบ์ ประเทศไทย ชวนผู้อ่านมาดูภาพรวมของวงการลูกหนังบ้านเรากับบรรดาลีกชั้นนำของทวีปเอเชียโซนตะวันออกอย่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมถึงลีกชั้นนำร่วมภูมิภาคอาเซียนอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ว่าตลอดการจัดการแข่งขันปีที่ผ่านมา ภาพรวมวงการฟุตบอลลีกของไทยอยู่ตรงไหนบรรดาชาติร่วมทวีปอย่างไรบ้าง

กด Next เพื่ออ่าน

จำนวนแฟนบอล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงเชียร์อันกึกก้องของแฟนบอลแต่ละสโมสรที่พร้อมใจเดินทางสู่สนามแข่งเพื่อเข้าให้กำลังใจทีมรักคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกมฟุตบอลมีสีสัน กระตุ้นนักเตะในสนามมานักต่อนัก สำหรับศึกโตโยต้า ไทยลีก 2017 นี้ แม้จะมีจำนวนผู้ชมลดลงจากปี 2015 ที่มียอดรวมในสนาม 1,926,278 ล้านคน เหลือเพียงประมาณ 1,399,728 คน เฉลี่ยต่อเกมที่ 4,604 คน จากเหตุผลที่สื่อหลายสำนัก หรือแฟนบอลลงความเห็นต่างๆนานา อาทิ โปรแกรมจัดถี่ ค่าตั๋วแพง เศรษฐกิจไม่ดี ฯลฯ

ขณะที่ลีกา 1 อินโดนีเซียมียอดผู้ชมสูง 2,664,789 คน หรือเฉลี่ยนัดละ 8,708 คน ส่วนวีลีกของเวียดนาม มียอดผู้ชมในสนามตก 1 ล้านคน หรือเกมละ 5,500 คน ส่วนมาเลเซีย มียอดรวม 881,178 คน หรือ 6,676 คน ในแต่ละเกม

ด้านจำนวนแฟนบอลในสนามของลีกดังในเอเชียอย่างเคลีก คลาสสิค, ไชนีส ซูเปอร์ลีก และเจ1ลีก ผลปรากฏว่า ลีกสูงสุดแดนอาทิตย์อุทัยมีค่าเฉลี่ยแฟนบอลสูงถึง 5,778,178 คน เฉลี่ยแต่ละเกมมียอดผู้เข้าชม 18,883 คน รองลงมาเป็นเกมลีกสูงสุดแดนมังกร ซึ่งมียอดผู้ชมในสนาม 3,330,530 คน (เฉลี่ยนัดละ 25,231 คน) ปิดท้ายที่ลีกสูงสุดโสมขาว ที่มียอดผู้ชมในสนาม 1,483,150 คน หรือเฉลี่ยที่ 6,505 คน

โควตานักเตะต่างชาติ

ทุกลีกในภูมิภาคอาเซียนเปิดโอกาสให้แต่ละทีมใช้โควตาผู้เล่นต่างชาติลงสนาม 3+1 โดยจำนวนบวกคือโอกาสของนักเตะเอเชียร่วมภูมิภาค เว้นแต่ลีกสูงสุดของอินโดนีเซีย ที่มีโควตา มาร์คี (marquee) เปิดโอกาสให้แต่ละทีม สามารถดึงนักเตะที่อายุไม่เกิน 35 ปี ที่เคยผ่านการเล่นในฟุตบอลโลก หรือลีกระดับสูงของโลกมาร่วมทีมได้ เช่นการย้ายมาร่วมทีมเปอร์ซิบ บันดุงของ มิคาเอล เอสเซียง อดีตกองกลางทีมชาติกานาและเชลซี หรือปีเตอร์ โอเด็มวิงกี อดีตสตาร์พรีเมียร์ลีกมาอยู่กับมาดูรา ยูไนเต็ด

และหากเจาะลึกลงโควตาต่างชาติของไทย ปีนี้ไทยลีกให้ลงทะเบียนในทีม 5 คน และมีแค่นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี ที่ใช้แข้งต่างชาติเพียง 4 ราย โดยมีเปลี่ยนแปลงเพียงแค่กลางเลก จาก เคิร์สเต เวลโคสกี มาเป็น เปาโล รานเกล เท่านั้น

ส่วนลีกแดนดาวทอง ปีนี้มีเพียง ฮานอย เอฟซี ทีมเดียว ที่ใช้โควตาแข้งนอกครบจนจบฤดูกาล แต่ปีนี้มีนักเตะต่างชาติถึง 9 คนที่ลงสนามจากการถือสัญชาติเวียดนาม ด้านลีกสูงสุดแดนเสือเหลืองใช้โควตาแข้งต่างชาติครบทุกทีม โดยมีเพียงเกดะห์ ที่ยึด 4 แข้งนอกจนจบฤดูกาล ในขณะที่อินโดนีเซียมี 4 สโมสรที่ไม่ใช้โควตาดึงนักเตะดังมาเสริมทีม

ขยับมายังลีกดังแดนเอเชีย ในปีนี้ลีกจีนได้รับไฟเขียวให้เซ็นนักเตะจากต่างชาติ 5 คน และอย่างน้อยหนึ่งคนต้องเป็นนักเตะของชาติในเอเอฟซี ซึ่งนอกจากจะมีเหล่าแข้งดังที่พาเหรดมาโกยเงินหยวนแล้ว ในโควตาเอเชียมีนักเตะชาวเกาหลีใต้เดินทางมาค้าแข้งให้มากสุดที่จำนวน 12 คน ในขณะที่ศึกเคลีก คลาสสิค ในฤดูกาลนี้มีเพียงแดกู เอฟซี, กวางจู เอฟซี และโปฮัง สตีลเลอร์ ที่ไม่มีนักเตะโควตาเอเชีย ส่วนชุนบุค แชมป์ลีกที่แม้จะมีแข้งบราซิลในทีม 3 คน ทว่า เอแดร์ ผู้เล่นตำแหน่งกองหน้าได้ถือสัญชาติเป็นชาวปาเลสไตน์

ปิดท้ายที่ลีกแดนปลาดิบ ยังคงยึดมั่นใช้งานแข้งในประเทศเป็นแกนหลักแทบจะทุกทีม แม้จะให้สิทธิ์ใส่ชื่อได้ 5 คน และให้สิทธิ์นักเตะจากชาติพันธมิตรอันได้แก่ ไทย, เวียดนาม, เมียนมา, กัมพูชา, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย,มาเลเซีย, กาตาร์ และอิหร่านลงเล่นได้แบบไม่ยึดเป็นโควตาต่างชาติ ซึ่งในฤดูกาล 2017 นี้ อูราวะ เรดส์ และจูบิโล อิวาตะ คือสองทีมที่ใช้นักเตะต่างชาติเพียง 3 คน ขณะที่คอนซาโดเล ซัปโปโร ที่ดึงชนาธิป สรงกระสินธิ์มาร่วมทีมในเลกสอง ส่งผลให้ยอดทีมจากฮอกไกโดคือทีมเดียวที่ใช้สิทธิ์ดังกล่าวครบโควตา

ผลงานใน ACL

เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ตัวแทนหนึ่งเดียวของไทยในเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก 2017 สร้างประวัติศาสตร์สโมสรทะลุสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายได้เป็นหนแรก และเป็นตัวแทนจากไทยรอบ 3 ปีที่ทำได้ต่อจากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ไปไกลถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในปี 2013

โดยในเกมรอบแบ่งกลุ่ม เมืองทองดุดันถึงขั้นเก็บชัยชนะ 2 จาก 3 เกมต่อทีมดังร่วมทวีป แบ่งเป็นการเปิดบ้านชนะคาชิมา อันท์เลอร์ส 2-1 และเกมอัดอุลซาน ฮุนได 1-0 อย่างไรก็ตาม พอมาถึงรอบน็อคเอาท์ กิเลนผยองไม่อาจต้านความแกร่งของคาวาซากิ ฟรอนทาเลได้ และเป็นฝ่ายแพ้ด้วยสกอร์รวม 7-2

ส่วนสุโขทัย แชมป์ร่วมช้าง เอฟเอ คัพ ผ่าน ยาดาร์นาบอน ในรอบคัดเลือก จากผลงานถล่มยับ 5-0 ก่อนจะมาพ่ายต่อเซียงไฮ้ เอสไอพีจี ในรอบเพลย์ออฟ 0-3 ขณะที่แบงค็อก ยูไนเต็ด แพ้การดวลจุดโทษยะโฮร์ฯ 4-5 ตั้งแต่รอบคัดเลือกรอบสอง

ขณะที่ลีกร่วมอาเซียนยังคงล้มเหลวกับรายการดังกล่าว เริ่มจากยะโฮร์ ที่ผ่านแข้งเทพในรอบคัดเลือก ทว่าพามาเจอกัมบะ โอซากา พวกเขาบุกไปพ่าย 3-0 ในขณะที่ฮานอย เอฟซี จอดรอบคัดเลือกรอบ 2 จากการพ่ายคิตฉี ทีมในฮ่องกงด้วยสกอร์ 3-2 ก่อนจะแพ้อุลซาน ฮุนได 2-3 ในรอบเพลย์ออฟ

ด้านผลงานในรอบคัดเลือกหาตัวแทนทะลุรอบแบ่งกลุ่ม 32 ทีมสุดท้าย  3 ทีมจากลีกดังแดนตะวันออกมีเพียงเซียงไฮ้ เสินหัว ที่ตกรอบจากการพ่ายบริสเบน รอร์ 0-2 ขณะที่สโมสรจากเคลีกก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลังในรอบแบ่งกลุ่มเป็น 3 จาก 4 ทีมของเคลีกอย่างเอฟซี โซล, อุนซาน ฮุนได, และซูวอน บลูวิงส์ ที่ตกรอบ ขณะที่เจจู ยูไนเต็ด ก็ไปไกลถึงแค่รอบ 16 ทีมสุดท้ายเท่านั้น

สำหรับทีมจีนที่เหลืออย่าง กวางโจว เอเวอร์แกรนด์ มาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนโดนเซียงไฮ้ เอสไอพีจี ที่เอาชนะเซียงจู ซูหนิง ในรอบ 16 ทีมมาด้วยสกอร์รวม 5-3 เอาชนะจากจุดโทษ 5-4 ก่อนที่ทีมของอังเดร วิลาส-โบอาส (ในขณะนั้น)จะตกรอบรองชนะเลิศ ด้านทีมจากญี่ปุ่น มีเพียงกัมบะ โอซากา ที่จอดแค่รอบแบ่งกลุ่ม ด้านคาชิมา ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย และเป็นคาวาซากิที่ปิ๋วรอบตัดเชือก ส่วนอูราวะ ไปไกลถึงการสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ในรอบ 10 ปี  

 

การเปลี่ยนแปลงเก้าอี้กุนซือ

ในไทยลีกปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนมากถึง 14 ครั้ง โดยซุปเปอร์ พาวเวอร์ สมุทรปราการ คือทีมที่ใช้โค้ชเปลืองที่สุดที่จำนวน 4 รายด้วยกัน ประกอบด้วย เฉลิมวุฒิ สง่าพล, เจสัน วิธ, อภิสิทธิ์ ไข่แก้ว และ สุขสันต์ คุณสุทธิ์ ส่วนเทิดศักดิ์ ใจมั่น (ชลบุรี เอฟซี), สก็อตต์ คูเปอร์ (อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด), โชเซ ปาเชต้า (ราชบุรี มิตรผล เอฟซี) และสมชาย ชวยบุญชุม (ราชนาวี) คือ 4 กุนซือที่ยุติบทบาทกับทีมหลังจบฤดูกาล ขณะที่อเล็กซ์ซานเดร กามา ของเชียงราย ยูไนเต็ด, มาโน โพลกิ้ง แบงค็อก ยูไนเต็ด, ธชตวัน ศรีปาน เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และมิลอส โยซิค ของนครราชสีมา มาสด้า เอฟซี คือ 4 กุนซือที่อยู่คุมทีมจนจบ 34 เกม

ขยับมาที่ลีกอาเซียน เริ่มจากวีลีก ปี 2017 นี้มีการเปลี่ยนแปลงกุนซือ 6 คนด้วยกัน ส่วนอีก 8 สโมสรมีโค้ชคุมทีมจนจบฤดูกาล ส่วนลีกมาเลเซียมีการเปลี่ยนกุนซือทั้งสิ้น 15 ครั้ง โดยเฟลด้า ยูไนเต็ด, มะละกา, ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม และปีนัง คือ 4 ทีมที่มีการใช้งานโค้ช 2 คนใน 1 ฤดูกาล ปิดท้ายที่ลีกแดนอิเหนา ในปีที่คัมแบ็คกลับมาแข่งเกมลีกอีกครั้ง มีการขยับตัวหัวหน้าผู้ฝึกสอนถึง 34 ครั้ง แบ่งเป็นสโมสรเปอร์ซิบา บาลิคปาปัน รองบ๊วยมีการเปลี่ยนตัวกุนซือมากถึง 4 ครั้ง ส่วนพีเอสเอ็ม มากัสซาร์ ทีมอันดับ 3 และมาดูรา ยูไนเต็ด อันดับ 5 ที่มีมีการเปลี่ยนเฮดโค้ชเลย

ด้าน 3 ลีกใหญ่ของเอเชียตะวันออก ทั้งเจ1ลีกและเคลีก คลาสสิค มีการเปลี่ยนตัวกุนซือ 8 ครั้งเท่ากัน โดยลีกซามูไรบลูมี โอมิยะ อาดิจา ที่ใช้งานโค้ช 2 คนใน 1 ฤดูกาล รวมถึงการโบกมือลาตำแหน่งอูราวะ เรดส์ของมิไฮโล เปโตรวิช ส่วนศึกเคลีกมีการเปลี่ยนแปลงกุนซือ 8 ครั้ง ไฮไลท์สำคัญคือมีการขยับเปลี่ยนเฮดโค้ชระหว่างฤดูกาลเพียงรายเดียว คืออังเดร แกสปา กุนซือชาวบราซิลของแดกู เอฟซี ที่เข้ามาคุมทีมแทน ซน ฮยอน-จุน

สำหรับไชนีส ซูเปอร์ลีก คืออีกหนึ่งลีกที่ขยับเปลี่ยนโค้ชกันว่าเล่น โดยปีซีซัน 2017 นี้ ลีกสูงสุดแดนมังกรขยับการทำหน้าที่ของเฮดโค้ชมากถึง 18 ครั้งจาก 9 สโมสร แบ่งเป็นเทียนจิน ไท่ต๋า ขยับเปลี่ยนโค้ชเยอะสุดที่ 4 ครั้ง ส่วนกวางโจว อาร์แอนด์เอฟ, เทียนจิน ฉวนเจียน, เหอเป่ย ไชนา ฟอร์จูน, ซานตง ลู่เหนิง, ฉงชิ่ง หลี่ฟ่าน และหยานเตี้ยน ฟูเต๋อ คือ 6 สโมสรที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโค้ชตลอดฤดูกาลที่ผ่านมา

ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด

ทรูวิชันส์ ยังคงได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก โดยเป็นการต่อลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาตั้งแต่ปลายปี 2015 ไปจนถึงปี 2020 เป็นจำนวน 4,200 ล้านบาท ซึ่งในฤดูกาล 2017 นี้ แต่ละสโมสรบนลีกสูงสุดได้รับเงินสนับสนุนลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดจากทรูวิชันส์เป็นเวลา 3 งวดด้วยกัน แบ่งเป็นงวดแรก ทีมละ 7 ล้านบาท ในวันที่ 9 มีนาคม บวกกับเงินสนับสนุนพิเศษจากสมาคมฯอีกทีมละ 5 ล้านบาท ส่วนงวดสองจ่ายเงินสนับสนุนและลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดวันที่ 29 มิถุนายน โดยสโมสรในไทยลีก 1 จะได้รับเงินสนับสนุนงวดที่ 2 เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 7 ล้านบาท ส่วนงวดสุดท้ายเกิดเมื่อ 9 ตุลาคม ทีมจากไทยลีก 1 ได้ไปทีมละ 6 ล้านบาท เบ็ดเสร็จแล้วค่าลิขสิทธิ์จากทรูวิชันส์ที่ให้ 18 ทีมอยู่ที่ 20 ล้านบาท

ต่อกันที่ลีกเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ส.บอลลูกหนังแดนเสือเหลืองจับมือเป็นพันธมิตรกับ MP & Silva บริษัทด้านการสื่อสารมวลชนชื่อดังของอังกฤษ ผ่านการจัดตั้งบริษัท Football Malaysian Liability Partnership (FMLLP) ขึ้นเพื่อจัดการลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเกมลีกมาเลย์โดยเฉพาะ ซึ่ง MP & Silva สนับสนุนส.บอล เป็นจำนวน 70 ล้านริงกิต หรือ 560 ล้านบาท ในระยะเวลาสัญญาปี 2016 ไปจนถึง 2021 พร้อมกับแผนงานระยะยาวเพิ่มในอนาคต โดยจำนวนเงิน 70 ล้านริงกิตจะแบ่งร้อยละ 40 ให้สมาคมไปพัฒนาฟุตบอลท้องถิ่น อีกร้อยละ 40 ให้สโมสรในสังกัด ร้อยละ 15 นำไปให้ฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลลีก และอีกร้อยละ 5 เพื่อพัฒนาด้านอื่นๆ

ขณะที่เจลีก ทำการเซ็นสัญญากับ DAZN ที่มี Perform Group หนึ่งในผู้นำในแวดวงสื่อและกีฬารูปแบบดิจิทัลเป็นเจ้าของ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2016 ด้วยมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 577,530,283 ล้านบาท ในสัญญา 10 ปีด้วยกัน  

ส่วนไชนีส ซูเปอร์ลีก ปีนี้มีต่างชาติขอลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมากถึง 84 ประเทศ ภายใต้บริษัทสื่อ 27 แห่ง โดยในประเทศเองมี PPTV ของกลุ่มทุนซูหนิง รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด CSL ฤดูกาล 2017 โดยจะรับสิทธิ์ถ่ายทอดสด 240 นัด บนช่องทางออนไลน์สัญญา 1 ปี ด้วยเม็ดเงิน 1.35 พันล้านหยวน หรือ 6,754,982,239 บาท ส่วน Ti'ao Dongli สื่อกีฬาชื่อดังของปักกิ่งคว้าสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ในประเทศ เป็นระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ 2016-2020 ด้วยวงเงินกว่า 8 พันล้านหยวน (40,029,524,380 บาท)