เอเชีย ยุโรป

TRIBE BEST : 10 ยอดดาวยิงเอเชียในตำนาน

การทำประตูถือเป็นหนึ่งในเสน่ห์ที่สำคัญของเกมลูกหนัง นั่นเป็นเพราะทุกโอกาสที่เหล่านักเตะจากทั่วทุกมุมโลกมีโอกาสได้สร้างสรรค์ออกมาล้วนแต่มีความหมายกับทีม ซึ่งนักฟุตบอลชาวเอเชียหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตำแหน่งกองหน้าตัวเป้า ก็เคยทำโอกาสดังกล่าวและเปลี่ยนผลการแข่งขันให้ออกมาเป็นที่ประทับใจแฟนบอลจนมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวถึงนับตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน จนถึงขั้นได้รับการจารึกว่าเป็นตำนานของชาติมาแล้วหลายราย

และนี่คือ 10 สุดยอดศูนย์หน้าสัญชาติเอเชียที่มีทั้งสร้างผลงานเด่นในการค้าแข้งทั้งในบ้านเกิดและบางคนไปไกลถึงการค้าแข้งในต่างแดนกับสโมสรในยุโรป

กดลูกศรด้านขวาเพื่ออ่านหัวข้อถัดไป

1.มักซิม ชักต์คิคห์ (อุซเบกิสถาน)

นักเตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลของชาวอุซเบกิสถาน เพราะเป็นทั้งดาวซัลโวสูงสุดของทีมชาติ ที่ 34 ประตู ซึ่งยืนหยัดมาจนปัจจุบันนี้

นอกจากกองหน้าที่ปัจจุบันอายุ 39 ปี จะโดดเด่นกับทีมชาติอุซเบกิสถาน ผ่านผลงานติดทีม 61 นัด รวมถึงเคยคว้ารางวัลแข้งยอดเยี่ยมแห่งปีของประเทศมาแล้วถึง 4 สมัย เขายังไปสร้างชื่อการค้าแข้งในยุโรปกับดินาโม เคียฟ แทนที่ตำนานของทีมอย่าง อันเดร เชฟเชนโก ที่ย้ายไปเล่นอิตาลี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และความเคลือบแคลงในฝีเท้าของนักเตะรายนี้

โดยชักต์คิคห์ ตอบคำถามแฟนบอลของทีมจากยูเครน งัดฟอร์มถล่มประตูออกมาสยบทุกเสียงที่เคยพูดถึง หลังกดไป 142 ประตู (ในลีก 97 ประตู) ในทุกรายการ ช่วยให้เคียฟ ครองความยิ่งใหญ่ผ่านการซิวแชมป์ลีกได้ถึง 6 ครั้ง แชมป์ยูเครเนียน คัพ 5 สมัย แชมป์ซูเปอร์ อีก 3 หน พ่วงด้วยรองเท้าทองคำอีก 2 ครั้ง ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่อยู่กับทีม

ในขณะเดียวกัน เขายังสร้างเกียรติประวัติน่าสนใจอีกอย่างกับสโมสรในยูเครน เพราะเป็นนักเตะจากเอเชียคนแรกที่พังประตูได้ในรายการยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก (1999-2000) และเป็นนักเตะเลือดเอเชียคนที่สามที่ทำประตูได้ในรายการของ ยูฟ่า ต่อจาก ชา บอม กอน (ยูฟ่า คัพ 1979-1980) และ มียาร์โล โคซิมอฟ (ยูฟ่า คัพ 1995-1996) อีกด้วย

 

2. อาลี ดาอี (อิหร่าน)

กองหน้าระดับตำนานชาวอิหร่าน ผู้ที่มีส่วนสูงถึง 192 เซนติเมตร มีสถิติการถล่มประตูให้กับทีมให้กับทีมชาติอิหร่านไปกว่า 109 ประตูจากหมวกทีมชาติ 149 ใบที่เจ้าตัวได้รับ และที่สำคัญไปกว่านั้น เขาคือนักเตะเลือดเอเชียคนแรกที่ได้วาดลวดลายโชว์ฝีเท้าในรายการอย่าง ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก

อาลี ดาลีเริ่มต้นค้าแข้งในปี 1988 ก่อนจะมาระเบิดฟอร์มเก่งในศึก เอเชียน คัพ ในปี 1996 ที่ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ด้วยการคว้ารางวัลดาวซัลโวหลังซัดไปถึง 8 ประตูพร้อมช่วยให้อิหร่าน คว้าอันดับที่ 3 ไปครอง จนทำให้เขาได้มีโอกาสได้ย้ายมาค้าแข้งบนผืนแผ่นดินยุโรป กับ อาร์มีเนีย บีเลเฟลด์ ในบุนเดสลีกา เยอรมัน และความโดดเด่นในการจบสกอร์ โดยเฉพาะพิษสงในการเล่นลูกกลางอากาศ ทำให้เขาถูก บาเยิร์น มิวนิค ดึงตัวไปร่วมทัพในปีถัดมา

แต่ด้วยการแข่งขันภายในทีมที่สูง ทำให้เขาไม่ค่อยได้รับโอกาสลงสนามเท่าที่ควร ก่อนตัดสินใจเก็บกระเป๋าย้ายไปซบคู่แข่งร่วมลีกของทีม “เสือใต้” อย่าง แฮร์ธา เบอร์ลิน อีก 3 ฤดูกาล พร้อมกับปิดฉากชีวิตการค้าแข้งในลีกเมืองเบียร์ด้วยสถิติ 25 ประตูจาก 142 นัด

 

3. คาซูโยชิ มิอูระ (ญี่ปุ่น)

“คิง คาซู” คือนักเตะที่เข้ามาเปิดตลาดแข้งสัญชาติเอเชียใน กัลโช เซเรีย อา และยังเคยมีประสบการณ์ไปเล่นในบราซิลกับ 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง ซานโตส และ พัลไมรัส มาแล้ว

หลังจากที่โยกไปหาประสบการณ์ในต่างแดนถึง 4 ปี ตำนานลูกหนังแดนซามูไรรายนี้เลือกกลับมาค้าแข้งบนแผ่นดินแม่อีกครั้งในปี 1990 ก่อนจะเริ่มฉายแววเด่นสุดขีดในปี 1993 จากผลงานการกระซวกตาข่ายคู่แข่งในสีเสื่อเวอร์ดี้ คาวาซากิ (โตเกียว เวอร์ดี้ ในปัจจุบัน) กอปรกับการยิงประตูในสีเสื้อทีมชาติญี่ปุ่น 16 ประตูจากการลงเล่น 16 นัดในปี 1993 ทำให้เจ้าตัวผงาดคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของเอเชียประจำปี 1993 ไปครองได้อย่างยิ่งใหญ่ ถือเป็นนักเตะจากแดนอาทิตย์อุทัยรายแรกที่สามารถคว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ไปครองอีกด้วย

ปัจจุบัน คิง คาซูยังวงวาดลวดลายโชว์ฝีเท้าอยู่บนสังเวียนผืนหญ้ากับโยโกฮามา เอฟซี พร้อมทำสถิติเป็นนักเตะอายุมากที่สุดที่ลงสนามในเวทีเจลีกด้วยวัย 50 ปีกับ 27 วัน รวมถึงเพิ่งทำลายสถิติของตัวเองในฐานะนักเตะอายุมากที่สุดที่ทำประตูได้ในเกมแข่งขันระดับอาชีพ เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการยิงใส่เธสปา คูซัทสึ ด้วยวัย 50 ปีกับอีก 14 วัน ในศึกเจทูซีซัน 2017 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาเคยยิงใส่เซเรโซ โอซากา เมื่อปี 2016 มาในช่วงก่อนหน้า

 

4. ซามี อัล ญาบิร (ซาอุดิอาระเบีย)

อดีตสตาร์ทีมชาติซาอุดิอาระเบียเจ้าของผลงานถล่มประตูในระดับสโมสรกว่า 180 ประตูให้กับอัล ฮิลาล และอีก 46 ประตูจากการรับใช้ชาติ

อัล ญาบิรเริ่มเส้นทางค้าแข้งให้ อัล ฮิลาล ขณะที่มีอายุได้เพียงแค่ 15 ปีเท่านั้น และใช้เวลาเพียงแค่สองปีในการไต่เต้าขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ก่อนจะกลายมาเป็นเสาหลักในการถล่มประตูของทีม หลังพาต้นสังกัดคว้าแชมป์ลีกได้ถึง 7 ครั้ง บวกกับ เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก อีกสองสมัย รวมถึงรายการอื่นๆ ทั้งในประเทศ และระดับทวีปอีกมากมาย สรุปแล้ว อัล ฮิลาล ในยุคของดาวเตะรายนี้คว้าโทรฟีรวมในทุกรายการได้ถึง 25 ถ้วยแชมป์ด้วยกัน

นอกจากนี้ เขายังเคยจรดปากกาเซ็นสัญญาร่วมทัพวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส จนได้รับการจารึกว่าเป็นแข้งซาอุฯ รายแรกที่ได้ลงเล่นฟุตบอลอาชีพในลีกสูงสุดเมืองผู้ดี ก่อนที่จะกลับมาเล่นให้กับ อัล ฮิลาล อีกคำรบจนกระทั่งแขวนสตั๊ดในปี 2008

5. เหา ไห่ ตง (จีน)

เหา ไห่ ตง คือดาวยิงเลือดมังกรดีกรีผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลของชาติ (41 ประตู) รวมถึงเป็นแกนหลักในการพาแข้ง “พญามังกร” ผ่านเข้าไปเล่นในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มาแล้วในปี 2002

ตำนานชาวจีนเริ่มต้นการค้าแข้งกับสโมสร ปาอี ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และใช้เวลาเพียงแค่ 6 ปีในการก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ และเป็นตัวหลักให้กับต้นสังกัดตลอด 11 ปีที่อยู่กับทีม ก่อนจะตัดสินใจย้ายไปซบทีมยักษ์ใหญ่ร่วมลีกอย่าง ต้าเหลียน ชื่อเต๋อ และอยู่ค้าถึง 9 ปีเต็ม พังประตูตอบแทนต้นสังกัด และแฟนบอลได้กว่า 78 ประตู พร้อมกับพาทีมคว้าแชมป์ลีกได้ถึง 5 ครั้ง นอกจากนี้ เหา ยังเคยผงาดคว้านักเตะยอดเยี่ยมของจีน 2 ครั้ง ติดทีมยอดเยี่ยมของลีก 4 ปี แล้วคว้ารางวัลรองเท้าทองคำไปครองได้อีกสามสมัยมาแล้ว

นอกจากนี้ แข้งเจ้าของฉายา “เชียเรอร์ แดนมังกร” ยังเคยมีโอกาสไปค้าแข้งในอังกฤษกับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด แต่น่าเสียดายที่หัวหอกเลือดมังกรรายนี้ถูกปัญหาอาการบาดเจ็บเล่นงานจนไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับฟุตบอลอังกฤษแม้แต่เกมเดียว จนต้องปิดฉากแขวนสตั๊ดในเวลาต่อมา

6. ยูนิส มะห์มูด (อิรัก)

ครั้งหนึ่งอดีตกองหน้าระดับตำนานแห่งทัพสิงโตแห่งเมโสโปเตเมียเคยพาทีมคว้าแชมป์เอเชียได้เป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2007 พร้อมกับคว้ารางวัล MVP และดาวซัลโวสูงสุดมาครองส่วนตัวอีกหนึ่งตำแหน่งที่จำนวน 4 ประตูมาแล้ว

มะห์มูดเริ่มต้นการค้าแข้งกับ อัล-ทาลาบา อยู่ 2 ฤดูกาล ก่อนจะสวมบทแข้งพเนจรด้วยการตระเวนค้าแข้งอยู่ตามแถบตะวันออกกลางอยู่หลายประเทศด้วยกัน และมีประสบการณ์คว้าโทรฟีแชมป์ในการลงเล่นลีกต่างแดนแถบตะวันออกกลางได้ถึง 16 แชมป์จาก 6 สโมสร นอกจากนี้ เขายังทำสถิติติดทีมชาติอิรักมากที่สุดตลอดกาลที่ 148 นัดกับ 57 ประตู แซงหน้าฮุสเซน ซาอีด อีกหนึ่งตำนานของสิงโตแห่งเมโสโปเตเมียเป็นที่เรียบร้อย

7. ฟานดี อาหมัด (สิงคโปร์)

หากจะเอ่ยชื่อของแข้งระดับตำนานชาวสิงคโปร์ ชื่อของ ฟานดี อาหมัด คงจะเป็นตัวเลือกแรกในใจแฟนบอลลอดช่องแบบไม่ต้องสงสัย เพราะตลอดเวลาค้าแข้ง เขามีโทรฟีทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติมาถึง 21 รายการด้วยกัน

ฟานดีเริ่มต้นค้าแข้งกับ สิงคโปร์ เอฟเอ และซัลโวประตูไปถึง 65 ประตูจาก 115 เกม ก่อนจะมาแจ้งเกิดจากการที่ สลังงอร์ เอฟเอ ในมาเลเซียเชิญไปร่วมเตะนัดกระชับมิตรกับ โบคา จูเนียร์ ยอดทีมจาก อาร์เจนตินา และจากโอกาสนี้เอง ทำให้เจ้าตัวได้รับความสนใจจากหลายทีมรวมไปถึง อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม และ ยังบอยส์ เบิร์น ในลีกสวิตเซอร์แลนด์ แต่เจ้าตัวก็ตัดสินใจเซ็นสัญญากับ นิแอ็ค มิตรา ทีมในลีกอินโดนีเซียในที่สุด

อย่างไรก็ดี โชคชะตาฟ้าลิขิตให้เขามาเล่นในลีกลีกเนเธอแลนด์จนได้ เมื่อ มิตรา ต้องถูกแบนจากปัญหานักเตะต่างชาติ ทำให้ฟานดี ได้ย้ายไปอยู่กับโกรนิงเกน พร้อมกลายเป็นแข้งสิงคโปร์คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ค้าแข้งในยุโรป โดยยิงประตูให้ทีมไปถึง 11 ประตูจาก 36 นัด โดยหนึ่งในไฮไลท์สำคัญคือการเหมาคนเดียว 2 ประตูช่วยให้ทีมเอาชนะ อินเตอร์ มิลาน ในศึกยูฟ่าคัพ ก่อนจะกลับมาเล่นให้กับทีมในลีกมาเลเซียและสิงคโปร์ก่อนจะเลิกเล่นฟุตบอลในปี 1999

ส่วนในนามทีมชาติ หลังลงเล่นให้กับสิงคโปร์ด้วยวัยเพียง 17 ปี 3 เดือนกับ 23 วัน พร้อมทำสถิติเป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดของทีมชาติ ฟานดี ก็สามารถยิงประตูให้ทีมได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ หลังซัดไปถึง 55 ประตูจาก 101 แต่น่าเสียดายที่เขากลับพาบ้านเกิดทำได้ดีที่สุดแค่การเป็นรองแชมป์ซีเกมส์ในปี 1983, 1985 และ 1985

 

8. ชา บอม กอน (เกาหลีใต้)

ชา บอม กอน กลายมาเป็นกำลังหลักของทีมชาติเกาหลีใต้ ผ่านผลงานพาทัพโสมขาวกวาดความสำเร็จในเอเชียทั้งเหรียญทองเอเชียนเกมส์ในปี 1978, แชมป์คิงส์ คัพ, เพรสซิเดนซ์ คัพ และ เมอร์เดกา คัพ อีกรายการละ 4 สมัย หนำซ้ำยังเป็นเจ้าของสถิติยิงประตูให้กับทัพ “โสมขาว” ได้มากที่สุดจนถึงทุกวันนี้ที่58 ประตู

ส่วนผลงานในระดับสโมสร ชา บอม กอน ที่ปัจจุบันอายุ 64 ปี เคยมีโอกาสไปค้าแข้งในบุนเดสลีกากับสโมสร ดาร์มชตัดท์ แต่โชคร้ายที่เจ้าตัวต้องบินกลับไปจัดการปัญหาเรื่องการเกณฑ์ทหารอีกครั้ง ทำให้ ชา มีโอกาสได้ลงเล่นให้กับ ดาร์มสตัดท์ เพียงแค่เกมเดียวเท่านั้น ทว่าหลังจากที่ปัญหาทุกอย่างได้รับการสะสาง ชากลับมาวาดลวดลายบนเวทีบุนเดสลีกาอีกครั้ง กับไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต ก่อนจะมาระเบิดฟอร์มเก่งให้กับต้นสังกัดใหม่โดยซัดไปถึง 46 ประตู จาก 122 นัด พร้อมทั้งนำอินทรีแดงดำคว้าแชมป์ยูฟ่า คัพ (ยูโรป้า ลีก ในปัจจุบัน) และเดเอฟเบ โพคาล ได้อย่างละหนึ่งสมัย

ก่อนจะตัดสินใจย้ายไปร่วมทีม ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ทัพห้างขายยาคว้ายูฟ่า คัพได้อีกครั้งในฤดูกาล 1987-1988 และปิดฉากการค้าแข้งในปีถัดมา สรุปแล้ว ชา บอม กอน ทำประตูได้มากถึง 121 ประตู ตลอดชีวิตการค้าแข้ง 11 ปี ในเยอรมัน

 

9. ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน (ไทย)

ศูนย์หน้าเจ้าของฉายา “เพชรฆาตหน้าหยก” ผ่านประสบการณ์การเล่นฟุตบอลทั้งรูปแบบของกึ่งอาชีพและระบบอาชีพมาอย่างโชคโชนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสมัยที่ไปค้าแข้งอยู่กับสโมสร ลัคกี้-โกลด์สตาร์ ฮวางโซ (เอฟซี โซล ในปัจจุบัน) นั้น เจ้าตัวสามารถระเบิดฟอร์มถล่มประตูได้เป็นว่าเล่นจนพาต้นสังกัดคว้าแชมป์ลีกในปี 1985 พร้อมกับคว้ารางวัลดาวยิงสูงสุดมาครองได้ชนิดที่ทำเอาแฟนบอลโสมขาวตาค้างกันเลยทีเดียว เช่นเดียวกับการสร้างปรากฎการณ์ให้กับวงการฟุตบอลลีกของ มาเลเซีย หลังกดไป 70 ประตู ตลอดช่วงเวลา 3 ฤดูกาลในถิ่น ดารูล มักมูร์ ของ ปาหัง

ความยิ่งใหญ่ของแข้งไทยที่มีชื่อว่า ปิยะพงษ์ ทำให้ครั้งหนึ่งสโมสรยักษ์ใหญ่ของเบลเยียมอย่าง อันเดอร์เลชท์ ติดต่อเข้ามาเพื่อที่จะดึงไปอวดฝีเท้าบนแผ่นดินยุโรปให้ได้ แต่น่าเสียดายเพราะท้ายสุดแล้วดีลนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้เราอดเห็นยอดศูนย์หน้าเลือดไทยรายนี้ไปสร้างตำนานบทต่อไปในลีกอาชีพที่สูงกว่าอย่างน่าเสียดาย

ขณะที่ผลงานในนามทีมชาติไทย “เดอะ ตุ๊ก” พาช้างศึกครองความเป็นจ้าวซีเกมส์ได้ถึง 6 ครั้ง พร้อมกับถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ อีก 5 สมัยด้วยกัน

 

10. เปาลินโญ อัลคันทารา (ฟิลิปปินส์)

ดาวเตะเลือดฟิลิปิโน – สแปนิช ผู้นี้มีดีกรีเป็นถึงอดีตเจ้าของสถิติการยิงประตูให้กับบาร์เซโลนา ในเวทีลาลีก้าทุกรายการได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 369 ประตู (ก่อนที่สถิติดังกล่าวจะถูกทำลายโดยลิโอเนล เมสซีเมื่อปี 2012)

เปาลินโญ เกิดในเมือง อิโออิโลของฟิลิปปินส์ ก่อนจะอพยพมายัง สเปน เมื่ออายุได้เพียงแค่ 3 ขวบ ด้วยจนกระทั่งถูกอาซูลกรานาจับเซ็นสัญญาเมื่ออายุเพียง 15 ปี 4 เดือน 18 วันเท่านั้น ก่อนที่ดาวเตะเจ้าของส่วนสูง 170 เซนติเมตรจะได้โอกาสลงสนามให้กับยอดทีมแห่งคาตาลันไปทั้งสิ้น 357 นัด พกสถิติรัวสกอร์ได้มากถึง 369 ประตู

นอกจากนี้ เจ้าตัวยังเป็นนักเตะอีกหนึ่งรายที่ผ่านการรับใช้ชาติมาหลายทีม ทั้ง คาตาโลเนีย (คาตาลุนญา) ฟิลิปปินส์ รวมถึงสเปน โดยในขณะลงเล่นให้ทีมตากาล็อก เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมชุดบุกไปถล่มทีมชาติญี่ปุ่น ถึงกรุงโตเกียว ด้วยสกอร์สุดช็อค 15-2 ถือเป็นความพ่ายแพ้ที่ย่อยยับที่สุดในประวัติศาสตร์วงการลูกหนัง ญี่ปุ่น จนถึงปัจจุบัน และยังเป็นชัยชนะที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ ฟิลิปปินส์ ในระดับนานาชาติอีกด้วย