ทีมชาติไทย ฟุตบอลทีมชาติ

TRIBE BEST XI : 11 ออลสตาร์ทีมชาติไทยลุยคิงส์คัพ

ผู้รักษาประตู

สมปอง นันทประภาศิลป์

ทัวร์นาเมนต์คิงส์คัพครั้งที่ 15 ที่ว่ากันว่าเป็นครั้งแรกที่คู่แข่งในรอบแบ่งกลุ่ม รอบสอง ไปจนถึงนัดชิงชนะเลิศอย่างทีมชาติเกาหลีใต้ชุดใหญ่ที่เตรียมลงแข่งขันฟุตบอลโลก 1982 มาเล่นเต็มอัตรา และแม้ในเกมรอบแบ่งกลุ่มรอบสอง (ไทยผ่านเข้ามาในฐานะแชมป์กลุ่มเอ ขณะที่เกาหลีใต้เป็นแชมป์สายบี) ทัพนักเตะแดนสยามจะมิอาจต้านความแข็งแกร่งของพลพรรคพลังโสมขาวได้ จากผลสกอร์พ่ายยับ 0-3 แต่ในเกมนัดชิงชนะเลิศที่ทั้งคู่มีโอกาสลงดวลกันอีกครั้ง ถือเป็นเกมแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของนายด่านเจ้าของฉายา “เสือใหญ่” หรือ สมปอง นันทประภาศิลป์

นายทวารจากสโมสรราชประชาโชว์การเซฟลูกยิงของแข้งแดนกิมจิ ที่เดินเกมรุกกดดันใส่เป็นส่วนใหญ่ และเหนียวหนึบพอที่จะพาไทยจบด้วยผล 0-0 ในเวลา 120 นาที ก่อนจะกลายเป็นฮีโร่ของชาติ ทันทีที่เซฟลูกยิงของผู้เล่นเกาหลีใต้ พร้อมส่งไทยเฉือนชนะการดวลจุดโทษ 4-3 คว้าแชมป์คิงส์คัพ สมัยที่ 5 มาครองอย่างยิ่งใหญ่ และถือเป็นแชมป์รายการนี้สมัยที่ 2 ของตนเอง หลังจากที่เคยได้เมื่อปี 1981 มาแล้ว

ก่อนที่สมปองจะร่วมสร้างเกียรติประวัติของตนเองด้วยการคว้าแชมป์คิงส์ คัพ ได้อีกถึง 4 สมัย ในปี 1983, 1989, 1990 และ 1992

 

กองหลัง

สุทิน ไชยกิตติ

อีกหนึ่งตำนานแบ็คขวาผู้ล่วงลับของทีมชาติไทย ที่ได้รับโอกาสลงสนามในนามทีมชาติมายาวนานกว่า 150 นัด เป็นอีกหนึ่งนักเตะที่มีเกียรติประวัติในฟุตบอลคิงส์คัพที่น่าสนใจไม่น้อย

ในตำแหน่งประจำการอย่างแบ็คขวาของทีมชาติไทย แนวรับเจ้าของฉายา “แบ็คหนวดหิน” ร่วมสร้างประวัติคว้าแชมป์รายการดังกล่าวได้ถึง  6 สมัยด้วยกัน แบ่งเป็นปี 1980, 1981, 1982, 1983, 1989 และ 1990 โดย 2 ครั้งลุดท้ายที่ได้ ถือเป็นการชูถ้วยในบทบาทของกัปตันทีมธงไตรรงค์ต่อจากวิทยา เลาหกุลอีกด้วย

นอกจากนี้ 1 ใน 2 ประตู ที่สุทินจารึกไว้ในสีเสื้อทีมชาติ  ก็มาจากรายการคิงส์ คัพ หนที่ 21 ในปี 1990 โดยเจ้าตัวทำได้ในเกมที่ไทยชนะเซียงไฮ้ เสิ่นหัว สโมสรจากประเทศจีน 4-2

 

อำนาจ เฉลิมชวลิต

บรรดาสื่อมวลชน คนในวงการลูกหนัง รวมถึงแฟนชาวไทยต่างยกย่องในเรื่องของฝีเท้าของ พลตรี อำนาจ เฉลิมชวลิต เซนเตอร์ฮาล์ฟจอมแกร่งผู้ผ่านสังเวียนลงสนามให้ทีมชาติไทยยาวนานตั้งแต่ปี 1971-1985 กับบทบาทการยืนหยัดในตำแหน่งแผงหลังที่ไว้ใจได้ รวมไปถึงการปฏิบัติตัว ทั้งในและนอกสนามจนน่าเป็นแบบอย่าง

โดยหนึ่งในความสำเร็จของ “น้าอำ” ในนามขุนพลลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นนั้นคือการคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ ในสมัยที่เป็นนักเตะมากถึง 6 สมัยด้วยกัน (ปี 1976, 1979, 1980, 1981, 1982 และ 1983) นอกจากนี้ พล.ต. อำนาจ เฉลิมชวลิต ก็ยังเคยนำประสบการณ์สมัยเป็นผู้เล่นพาทีมชาติไทยเป็นแชมป์คิงส์คัพ ครั้งที่ 31 ในปี 2000 เมื่อครั้งที่เป็นผู้ช่วยของปีเตอร์ วิธ มาแล้วเช่นกัน

 

นที ทองสุขแก้ว

อีกหนึ่งนักเตะที่มีเอกลักษณ์ในการเล่นฟุตบอลที่ดุดัน สไตล์หนักแน่น แบบฉบับกองหลังขนานแท้ และเคยมีโอกาสได้โอกาสค้าแข้งในระดับฟุตบอลกึ่งอาชีพที่ประเทศญี่ปุ่นกับ มัตซึสิตะ หรือกัมบะ โอซาก้า ในปัจจุบันมาแล้ว

สำหรับโอกาสติดทีมชาติไทยหนแรกของแนวรับจากจังหวัดอุตรดิตถ์ เริ่มจากการได้โอกาสลงเล่นแทนณรงค์ อาจารยุตต์ ที่ยืนเป็นเซ็นเตอร์คู่กับ อำนาจ เฉลิมชวลิต หลังมีอาการเกิดป่วยขึ้นมา ก่อนจะตอบแทนความไว้วางใจได้อย่างไร้ที่ติ จนกลายเป็นหนึ่งโอกาสสำคัญที่ทำให้เจ้าตัวมีโอกาสลงปักหลักแนวรับให้กับทีมชาติไทยมานานถึง 15 ปีเต็ม โดยหนึ่งในความสำเร็จร่วมกับทีมชาติไทย คือการคว้าแชมป์คิงส์คัพ 2 สมัยด้วยกัน ก่อนจะตัดสินใจแขวนสตั๊ดเมื่อปี 2000 ปิดตำนานกองหลังหมายเลข 7 ที่คอยการวาดลวดลายในสนามหญ้าในวัย 34 ปี

 

ประพันธ์ เปรมศรี

“มนุษย์ไม้” หรือประพันธ์ เปรมศรี ก้าวขึ้นมาเล่นสโมสรฟุตบอลอาชีพครั้งแรกในปี 1974 กับทัพ “ตราชฎา” หรือทีมราชประชา เอฟซี ก่อนจะฉายแววเด่นจนถูกเรียกติดทีมชาติชุดใหญ่ในอีก 4 ปีต่อมา พร้อมกับได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ทันทีที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ภายใต้ยูนิฟอร์มธงไตรรงค์ อาจารย์ประพันธ์ เป็นหนึ่งในขุนพลทีมชาติชุดลงปะทะแข้งกับเกาหลีใต้เช่นเดียวกับสมปอง นันทประภาศิลป์ และเป็นหนึ่งในขุนพลชุดพาชาติของตัวเองคว้าแชมป์คิงส์คัพ 5 สมัยติดต่อกันมาแล้ว เมื่อปี 1979-1984