เอเชีย ฟุตบอลญี่ปุ่น

เปิดชีวิต “ย้า” ณ แดนซามูไร: เพื่อนสนิทที่คาโงชิมาและการยอมรับจากคนญี่ปุ่น

สิทธิโชค ภาโส นักเตะดาวรุ่งที่ถูกบันทึกว่าเป็นนักเตะไทยคนแรกในการแข่งขันเจลีก ประเทศญี่ปุ่น ยอมสละชีวิตที่คุ้นเคยในประเทศไทยไปผจญภัยในแดนซามูไรเพียงคนเดียว ภายใต้ยูนิฟอร์มของคาโงชิมา ยูไนเต็ด

ถึงวันนี้ (15 เมษายน 2560) เป็นเวลา 2 เดือนกับ 15 วันแล้ว หลังจากที่ “ย้า” ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางกับคาโงชิมา ยูไนเต็ด ทีมระดับ J3 ไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แน่นอนว่าด้วยวัยเพียง 18 ปี ที่จะต้องออกไปใช้ชีวิตคนเดียวในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ความเป็นอยู่ อาหารการกิน การสื่อสาร และการยอมรับจากคนรอบข้าง เป็นสิ่งที่เขาต้องเผชิญ

ล่าสุดรายการ ไทยลีก เวิลด์ ทางช่องทรูสปอร์ต 2 จัดทำสกู๊ปตามติดชีวิตของย้าในทุกแง่มุม ให้แฟนฟุตบอลชาวไทยได้รับรู้ความเคลื่อนไหวรวมถึงความรู้สึกกับการผจญภัยในเวทีลูกหนังเจลีก

“ช่วงแรกยังไม่ได้ออกไปไหนมากนัก บรรยากาศโดยรอบเป็นภูเขา อากาศที่นี่หนาวกว่าคิดไว้ มีฝนตกมาบ้าง” ย้า กล่าวเริ่ม

“หลังการฝึกซ้อม ถ้ามีประชุมทีมก็จะประชุมต่อ แต่ถ้าไม่มีก็จะนอนดูหนังอยู่ที่ห้อง พอตกเย็นจะออกไปซื้อเนื้อมาทำอาหารเอง มาอยู่ที่นี่เหมือนเราต้องต่อสู้กับจิตใจตัวเอง ในสนามไม่เท่าไหร่เพราะยังได้เจอเพื่อนร่วมทีม รุ่นพี่ ได้พูดคุยกันบ้าง พอกลับไปที่ห้อง ก็จะมีอาการคิดถึงบ้านบ้าง ก็จะคอยบอกตัวเองว่า ในเมื่อเราเลือกมาแล้วก็ต้องอยู่ในสำเร็จก่อน กลับไปค่อยว่ากันอีกที”

“ผมมีรุ่นพี่ภายในทีมที่สนิทอยู่ข้างห้องกัน ชื่อ “เทร่าซัง” เขาเป็นคนขี้เล่น เราคุยกันตลอด ถ้าไม่รู้เรื่องก็จะแปลภาษาในโทรศัพท์มือถือคุยกัน เขาจะคอยแนะนำร้านเนื้อสัตว์ ร้านอาหารไทย รวมถึงการเดินทางแก่ผม”

KAGOSHIMA UNITED

กองหน้าดาวรุ่งจากฉลามชลยังพูดถึงรูปแบบการเล่นของฟุตบอลญี่ปุ่น การฝึกซ้อมที่มีความเป็นมืออาชีพ กับปัญหาที่ยังต้องพบเจออยู่ในทุกๆวัน

“ที่นี่เล่นฟุตบอลค่อนข้างจริงจัง ฟุตบอลญี่ปุ่นจะเล่นเป็นทีม แม้จะเป็นระดับ J3 ก็จะไม่เล่นมั่ว เล่นกันเร็ว เน้นเล่นบอลกับพื้น มากกว่าโยน ถ้าจะโยนจริงๆ ก็ต้องเป็นจังหวะหลุด 1-1 หรือ 2-1 การปะทะก็หนักกว่าที่ไทย แต่ว่าที่นี่จะเข้าที่บอล โฟกัสที่บอลมากว่า เลยไม่ค่อยมีอาการบาดเจ็บ ถ้าเป็นที่ไทยอาจจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ เท่าที่ดูหลายทีมก็เล่นกันเก่งนะครับ ถ้าเป็นพวกทีมระดับหัวตารางของ J3 ก็เทียบกับทีมระดับไทยลีกได้”

“ปัญหาที่ใหญ่สุดคงเป็นเรื่องภาษาและอากาศ เพราะถ้าหนาวเกินไปก็ทำให้เราวิ่งไม่ออก แม้จะวอร์มถึงแต่เล่นยากครับ ส่วนเรื่องภาษาถ้าเราเข้าใจการแสดงท่าทางของเขา ก็พอช่วยได้ เรามาอยู่ที่นี่ก็ต้องดูแลตัวเองทุกอย่าง เป็นมืออาชีพมากกว่าอยู่ไทยทุกอย่าง เวลาซ้อมที่นี่จริงจัง ไม่มีเล่น ทุกคนเป็นมืออาชีพ รูปแบบการซ้อมก็ปรับมาให้เร็วกว่าที่ไทย เพราะที่นี่เล่นบอลกันเร็ว การซ้อมก็จะมีการต่อเนื่องขึ้นทุกวัน ถ้าเราทำไม่ได้ เขาก็จะคอยสอน คอยแนะนำ”

“ที่ญี่ปุ่นเขายอมรับในมาตรฐานคนไทยนะครับ จะมีสื่อมาตามสัมภาษณ์ มาตามถ่ายเวลาฝึกซ้อมอยู่ตลอด”

อย่างไรก็ตามกว่าที่ สิทธิโชค ภาโส จะได้โอกาสมาค้าแข้งกับ คาโงชิมา ยูไนเต็ด เบื้องหลังของตัวแทนจากประเทศไทยที่ได้มาพิสูจน์ฝีเท้าที่ญี่ปุ่นคือ “โค้ชเฮง” วิทยา เลาหกุล อดีตนักฟุตบอลชื่อดังของประเทศไทย ที่คอยแนะนำและปลุกปั้นเจ้าย้าจนมีวันนี้

“ส่วนโค้ชเฮง (วิทยา เลาหกุล) เขาคอยบอกผมอยู่ตลอดว่า ถ้าเราจับบอลอยู่กับเท้าได้ จ่ายให้เพื่อน และไม่เสียบอล ก็น่าจะอยู่ได้ ถ้านอกสนามก็ต้องรู้จักจัดการชีวิตตัวเองให้ดี โค้ชเฮงเขาเคยเล่นอยู่หลายประเทศ ก็อยากให้ได้สักครึ่งหนึ่งของเขา ตอนนี้ผมยังเด็ก มาครั้งนี้เหมือนออกมาหาประสบการณ์ครับ มีแต่ได้กับได้”

แม้ตอนนี้จะเริ่มได้รับโอกาสการลงสนามมากขึ้น ล่าสุด ยาสุโตชิ มิอุระ กุนซือคาโงชิมา ยูไนเต็ด ได้ส่งลงเป็น 11 ตัวจริงในเกมฟุตบอลเอมเพอร์เรอร์ คัพ 2017 รอบคัดเลือก นัดชิงชนะเลิศ แต่เขาก็ยังต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป และเชื่อว่าเมื่อการจารึกชื่อ สิทธิโชค ภาโส บนสกอร์บอร์ครั้งแรกมาถึง นั่นคือจุดเริ่มต้นชีวิตค้าแข้งที่ญี่ปุ่นของ “ย้าคุง” อย่างแท้จริง