เอเชีย ฟุตบอลไทย

TRIBE BEST : 10 แข้งไทยสร้างชื่อต่างแดน

นักฟุตบอลไทยหลายคนล้วนมีความฝันที่จะย้ายไปค้าแข้งในลีกต่างแดน เพื่อมีโอกาสทั้งการพัฒนาฝีเท้าของตนเอง เรียนรู้ศาสตร์ลูกหนังจากหลายลีกเพื่อนำกลับมาปรับใช้กับวงการลูกหนังบ้านเกิด หรือแม้แต่เรื่องของการกอบโกยรายได้จำนวนมหาศาลที่ได้มากกว่าเมืองไทย

ในอดีตมีนักเตะสัญชาติไทยหลายคนที่เคยมีโอกาสไปยืนหยัดบนหลายสโมสรในต่างประเทศ และประสบความสำเร็จผ่านการพาทีมเป็นแชมป์ เลื่อนชั้นสู่ลีกที่สูงขึ้น หรือแม้แต่โดดเด่นจนเป็นที่หมายปองของทีมที่ใหญ่กว่าต้นสังกัดตนเองอยู่รายหลาย ก่อนจะถึงแข้งชาวไทยรายล่าสุดอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่มีโอกาสไปค้าแข้งในลีกสูงสุดในญี่ปุ่นกับคอนซาโดเล ซัปโปโร ซึ่งเจก็อาจจะคว้าโอกาสดังกล่าวตามรอยรุ่นพี่ได้ หากปรับตัวเข้ากับทีม รวมถึงรักษามาตรฐานการเล่นของตนเองจนเพื่อนร่วมทีมยอมรับ และนี่คือ 10 นักเตะชาวไทย ที่เคยมีโอกาสสร้างชื่อในต่างแดน

คลิกลูกศรด้านขวาเพื่ออ่านหัวข้อถัดไป

1. โกวิทย์ ฝอยทอง - เอสเพา โลโฮฟ (เยอรมัน)

ตำนานแนวรับชาวไทยมีโอกาสย้ายไปเล่นให้กับทีมลีกนอกของเยอรมันผ่านการรับทุนจากสโมสรสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเวลา 2 ปีด้วยกัน แม้เป้าหมายแรกของการย้ายไปเมืองเบียร์คือการศึกษาเรื่องการบริหารจัดการฟุตบอล ทว่าความกระหายในการเล่นฟุตบอลของเจ้าตัว ที่เคยมีดีกรีติดทีมชาติชุดใหญ่มาก่อน ทำให้ “เอ๋” ตัดสินใจลงทดสอบฝีเท้ากับหลายสโมสรในแคว้นบาวาเรียน จนฝีเท้าไปเข้าตา เอสเพา โลโฮฟ จนมีโอกาสลงเล่นฟุตบอลอาชีพเยอรมัน ในระดับเรกิโอนัลลิกา

แม้ในช่วงแรก โกวิทย์จะถูกเพื่อนร่วมทีมกลั่นแกล้งสารพัด แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเก็บเกี่ยวศาสตร์ลูกหนังแดนอินทรีเหล็ก เจ้าตัวเริ่มงัดฟอร์มเด่นออกมาจนกลายเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมทีม และมีส่วนสำคัญในการพาสโมสรเลื่อนชั้นสู่ เรกิโอนัลลิกา ซุด หรือลีกระดับ 3 ของประเทศได้สำเร็จ

ภายใต้ช่วงเวลา 2 ปีในยุโรป โกวิทย์เคยมีโอกาสไปทดสอบฝีเท้ากับ 1860 มิวนิค แม้ช่วงแรกทีมดังตอนใต้ของประเทศจะยังไม่มีท่าทีจะเซ็นสัญญา แต่หลังจากที่เขาเลือกกลับมาอยู่ที่ไทย เจ้าตัวกลับถูกสโมสรติดต่อให้ไปทดสอบฝีเท้าอีกครั้ง แต่ก็เลือกปฏิเสธโอกาส และเลือกทำงานประจำที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อมา

 

2.ศักดา เจิมดี - ด่อง เอ แบงค์, ฮองอันห์ยาลาย (เวียดนาม)

ผลผลิตจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเลือกเดินเส้นทางค้าแข้งในประเทศเวียดนาม ตามรอยแข้งรุ่นพี่อย่าง เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง รวมทั้งดุสิต เฉลิมแสน ซึ่งการมาเล่นในแดนเหงียน ทำให้ “อ๋อ” ขึ้นแท่นเป็นนักเตะไทยที่อยู่ค้าแข้งนานสุดเป็นเวลาถึง 13 ปีด้วยกัน

ฮองอันห์ยาลาย คือสโมสรที่อ้าแขนรับมิดฟิลดัวตัดเกมเข้ามาอยู่ในทีมช่วงวัย 20 ต้นๆ ก่อนจะอยู่รับใช้สโมสร 1 ซีซันและถูกปล่อยให้ด่อง เอ แบงค์ ยืมไปใช้งานต่อ แต่หลังจากที่เริ่มซึมซับบรรยากาศฟุตบอลแดนดาวทอง แข้งชาวชลบุรีถูกฮองอันห์ยาลายดึงไปร่วมทีมอีกครั้ง และภายใต้ทีมดังแห่งวีลีก ศักดาค่อยๆฉายแววเด่น ตัดเกมคู่แข่ง คอยคุมจังหวะแดนกลางให้ทีมจนกลายเป็นนักเตะขวัญใจของสโมสร ซึ่งนั่นก็เลยทำให้เขาถูกประธานสโมสรทีมในยุคนั้น ตั้งชื่อเวียดนามเรียกเป็นคนเวียดนาม รวมทั้งได้สิทธิ์ถือสัญชาตเป็นคนเวียดนามมาแล้วเช่นกัน ก่อนจะกลับมาอยู่กับโอสถสภา สโมสรแรกในเส้นทางค้าแข้งอีกครั้งเมื่อปี 2015

3.สุธี สุขสมกิจ - ทันจง ปาการ์, โฮม ยูไนเต็ด, แทมปิเนส โรเวอร์ส (สิงคโปร์)

อดีตปีกซ้ายทีมชาติไทยเติบโตในเส้นทางอาชีพกับทัพแบงค์รวงข้าว หรือธนาคารกสิกรไทย ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจลุยฟุตบอลโลก U17 กับทีมชาติไทยในปี 1997 และจากความสามารถเฉพาะตัวที่โดดเด่น โดยเฉพาะเท้าซ้ายอันฉมัง ทำให้ เบิร์ทเคยมีโอกาสคว้าดาวซัลโว ลีกสูงสุดของไทย สองสมัยติดต่อกันมาแล้ว

แต่เนื่องจากบอลไทยลีกยุคนั้นไม่ได้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพเต็มตัว ทำให้เด็กหนุ่มจากจังหวัดตราด ตัดสินใจไปกอบโกยประสบการณ์ในต่างแดนในเอสลีก สิงคโปร์ เริ่มจากสโมสรทันจง ปาการ์, โฮม ยูไนเต็ด และ แทมปิเนส โรเวอร์ส เป็นเวลากว่า 8 ปีด้วยกัน โดยภายใต้การค้าแข้งในแดนลอดช่อง สุธีถือเป็นหนึ่งในนักเตะต่างชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ และมีเกียรติประวัติการคว้าแชมป์ลีก 1 สมัย รวมทั้งบอลถ้วยอีก 2 สมัยกับโฮม ยูไนเต็ด มาแล้ว

4. วรวรรณ ชิตะวณิช - เทยีน มัตซึยามา (ญี่ปุ่น), เฟเดอริคส์เฮาน์, วีบอร์ก (เดนมาร์ก)

หลังมีโอกาสตามติดคุณแม่ที่เป็นแม่ครัวของทัพ “ตราชฎา” ราชประชา ส่งผลแข้งเจ้าของฉายา “มิดฟิลด์อัจฉริยะ” เรียนรู้ศาสตร์ลูกหนังจากเหล่าแข้งดังในทีมมากมาย และหนึ่งในนั้นคือการขัดเกลาของวิทยา เลาหกุล

วรรวรรณได้รับโอกาสเป็นนักเตะอาชีพหนแรกกับราชประชา ก่อนจะโดดเด่นสุดขีดกับผลงานเป็นเยาวชนทีมชาติ ชุดชิงแชมป์เอเชีย จนก้าวไปติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ในทุกรายการตั้งแต่อายุ 17 ปี จนมีโอกาสโยกไปค้าแข้งในดินแดนอาทิตย์อุทัยกับ เทยีน มัตซึยามา หรือ เอฮิเมะ เอฟซี ในปัจจุบัน เมื่อปี 1985 พร้อมกันกับ “หลอเรดาร์” พิชัย คงศรี และภายใต้สัญญา 1 ปี เขากลายเป็นแข้งแดนกลางที่คอยเชื่อมเกม ผ่านบอลให้เพื่อนจนคว้ารางวัลจอมแอสซิสต์ประจำปีของลีก

จากนั้นถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญในเส้นทางลูกหนัง เพราะ “ปั้ม” ได้รับประสบการณ์ค้าแข้งในยุโรปในประเทศเดนมาร์ก ตามการแนะนำของโค้ชชาวโคนมรายหนึ่ง ก่อนจะได้รับสัญญาอาชีพหนแรกกับทีมระดับดิวิชัน 3 อย่าง เฟเดอริคส์เฮาน์ และด้วยการที่ทีมยังอยู่ในระดับกึ่งอาชีพ กอปรกับวรวรรณโดดเด่นกับสโมสร คราวนี้เป็นวีบอร์ก ทีมจากลีกรองตัดสินใจคว้ามาร่วมทีม และยังคงเป็นแกนสำคัญผ่านฝีเท้าอัจฉริยะอยู่ช่วยสโมสรจนเลื่อนชั้นสู่ระดับดิวิชัน 1 มาแล้ว ก่อนจะตัดสินใจกลับไทยช่วงปี 1990 หลังเริ่มไม่ค่อยได้โอกาสบนลีกสูงสุด

5.ชูเกียรติธน ยศภัทร์หนูสลุง - ฮองอันห์ยาลาย (เวียดนาม)

ชูเกียรติธน ยศภัทร์หนูสลุง หรือ ชูเกียรติ หนูสลุง คืออีกหนึ่งตำนานของราชประชา เอฟซี ที่มีโอกาสโยกไปกอบโกยเงินดองกับสโมสร ฮองอันห์ยาลาย รุ่นเดียวกับเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแข้งไทยยุกบุกเบิกให้รุ่นน้องย้ายตามมาในภายหลัง

แนวรับจากจังหวัดชัยภูมิ มีส่วนพาทีมฮองอันห์ยาลาย ซึ่งในขณะนั้นโลดแล่นอยู่บนลีกรอง จบอันดับ 3 เป็นเหตุให้ทีมขยับเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดในปี 2002 จากนั้นในฤดูกาลถัดมา ด้วยความแข็งแกร่งในแผงเกมรับ ชูเกียรติธนพาทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ 2 สมัยซ้อน ใน 2 ซีซันถัดมา กลายเป็นขวัญใจแฟนบอลเวียดนามทันที ก่อนจะสิ้นสุดสัญญาเมื่อปี 2005 และตัดสินใจย้ายกลับมาเล่นในเมืองไทย

 

 

 

6. เทิดศักดิ์ ใจมั่น - สิงคโปร์ อาร์ม ฟอร์ซ (สิงคโปร์), ด่อง เอ แบงค์ (เวียดนาม)

ภายหลังจากการอยู่ช่วยบีอีซี เทโร ศาสน สร้างประวัติศาสตร์เข้ารอบชิงชนะเลิศเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ปี 2002-2003 แข้งจากจังหวัดสุพรรณบุรี ตัดสินใจโยกหาประสบการณ์ค้าแข้งในต่างแดนกับด่อง เอ แบงค์ ทีมในเวียดนาม เป็นเวลา 1 ซีซัน พร้อมกับสถิติลงเล่น 28 นัดกับ 8 ประตู ซึ่งถือว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่ากับการย้ายไปค้าแข้งในลีกลอดช่องคำรบสองกับสโมสรสิงคโปร์ อาร์ม ฟอร์ซ ทีมที่เคยโยกไปเล่นด้วยสัญญายืมตัว และพาทีมคว้าแชมป์ลีกพ่วงรางวัลแข้งยอดเยี่ยมประจำปีเมื่อช่วงก่อนหน้านี้

กับการกลับมาเล่นให้อาร์ม ฟอร์ซ ในปี 2005 “ป็อบ” พาทีมกวาแชมป์ร่วมกับสโมสรมากถึง 7 สมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาทีมกวาดแชมป์ลีกได้ถึง 4 ปีติดต่อกัน นอกจากนี้ ดาวเตะทีมชาติไทยยังเป็นแกนหลักช่วยทีมทะลุเข้าสู่รอบแบ่งกลุ่ม เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก เมื่อปี 2009 มาแล้ว ซึ่งในเกมรอบแรก เทิดศักดิ์หักอกสโมสรการไฟฟ้าฯ ตัวแทนหนึ่งเดียวจากประเทศไทย ด้วยการเบิ้ลคนเดียวสองประตูส่งทีมชนะขาดลอยถึง 4-1

 

7. ธชตวัน ศรีปาน - เซบาวัง (สิงคโปร์), ฮองอันห์ยาลาย (เวียดนาม)

กุนซือคนปัจจุบันของเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ก้าวขึ้นไปเป็นนักเตะขวัญใจแฟนบอลเซบาวัง ภายหลังอยู่รับใช้ต้นสังกัดที่สิงคโปร์เป็นเวลากว่า 6 ปีด้วยกัน แม้ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เจ้าตัวอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จหยิบโทรฟีให้กับทีมเป็นกอบเป็นกำ แต่เนื่องจากฟอร์มการเล่นส่วนตัวที่โดดเด่น อีกทั้งในบทบาทจอมทัพทีมชาติไทย ทำให้หลายสโมสรร่วมลีกสนใจดึงไปเสริมทีม ในยุคที่ต้นสังกัดขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่เจ้าตัวกลับไม่เลือกอยู่ในเอสลีกต่อเพราะต้องการตอบแทนความจงรักภักดีกับทีม ก่อนจะมีโอกาสย้ายไปค้าแข้งในเวียดนามกับฮองอันห์ยาลาย ตามคำเชิญของเพื่อนรักอย่าง เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ในปี 2004

กับสโมสรแดนดาวทอง ตะวัน(ชื่อในขณะนั้น) ก็เป็นอีกหนึ่งสตาร์ชาวไทยที่แฟนบอลสกุลเหงียนให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยตลอดระยะเวลา 3 ฤดูกาลกับทีม ห้องเครื่องช้างศึกรายนี้พาทีมกวาดแชมป์ลีกได้ 1 สมัย และแชมป์บอลถ้วยซูเปอร์คัพอีก 1 สมัยด้วยกัน

8.เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง - ปะลิส (มาเลเซีย), สิงคโปร์ อาร์ม ฟอร์ซ (สิงคโปร์), ฮองอันห์ยาลาย (เวียดนาม)

หลังจากอดีตศูนย์หน้าจอมตีลังกาเริ่มสร้างชื่อในนามทีมชาติไทยทั้งชุดเล็กและเรื่อยมาจนถึงชุดใหญ่ อีกทั้งยังมีความสามารถเฉพาะตัวในเรื่องการจบสกอร์ที่เฉียบคม และสานต่อความสำเร็จดังกล่าวมายังทีมระดับสโมสรที่ลงเล่นทั้งสโมสรราชประชา, ธนาคารกรุงไทย, สโมสรตำรวจ รวมถึงปะลิส ของมาเลเซีย ที่เป็นทีมต่างแดนทีมแรกในเส้นทางลูกหนัง ทำให้ซิโก้มีโอกาสโยกไปสวมยูนิฟอร์มของ ฮัดเดิลสฟิลด์ ทาวน์ ทีมในอังกฤษมาแล้วแม้จะไม่ได้สัมผัสเกมจริง

จากนั้นดาวยิงชาวขอนแก่นกลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ในเมืองไทยอีกหนกับ ราชประชา และเลือกตัดสินใจลุยต่างแดนคำรบสามกับเวทีเอสลีก กลายเป็นอีกหนึ่งขวัญใจแฟนบอลสิงคโปร์ ผ่านการสร้างตำนานกับ สิงคโปร์ อาร์มฟอร์ซ และสามารถหยิบโทรฟีมาครองร่วมกับทีมได้ 1 สมัยในปี 2002 ก่อนจะนักเตะไทยที่โด่งดังและประสบความสำเร็จที่สุดบนแผ่นดินญวน นำไปสู่การเป็นที่รักของแฟนบอลเวียดนามมาจนปัจจุบัน

อดีตเฮดโค้ชช้างศึกตัดสินใจย้ายมาเล่นให้ฮองอันห์ยาลาย ในปี 2002 ที่ในขณะนั้นโลดแล่นอยู่ในเวทีลีกรอง ก่อนที่เจ้าตัวจะสานโอกาสเด่นจากประสบการณ์อันโชกโชน พาทีมคว้าอันดับ 3 เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดของเวียดนามได้สำเร็จ และยังทำให้แฟนบอลเมืองยาลายประทับใจจากการพาทีมคว้าแชมป์วีลีก 2 สมัยติดต่อกัน แบ่งเป็นฤดูกาล 2003 และ 2004 ก่อนจะตัดสินใจเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพกับทีมในปี 2006 ซึ่งเป็นปีที่เขาก้าวขึ้นมาเป็นเฮดโค้ชแอนด์เพลเยอร์ นอกจากนี้ ในแมตช์สุดท้ายที่เจ้าตัวลงเล่น ดาวเตะชาวไทยโด่งดังถึงขั้นที่สโมสรจัดให้เป็นเทสติโมเนียลแมตช์ และถ่ายทอดสดผ่านเวียดนามทีวี ไปทั่วประเทศมาแล้ว

9. ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน - ลัคกี้ โกลสตาร์ (เกาหลีใต้), ปะหัง (มาเลเซีย)

จากการที่ “เดอะ ตุ๊ก” ติดทีมชาติไทยอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสกวาดแชมป์ทั้ง คิงส์คัพ และ ซีเกมส์ ส่งผลให้เทรนเนอร์ชาวเกาหลีใต้รายหนึ่งตัดสินใจชวนให้เจ้าตัวย้ายไปค้าแข้งในดินแดนเกาหลีใต้ ที่ในขณะนั้นวงการลูกหนังแดนโสมขาวเพิ่งจะก่อตั้งสู่ความเป็นลีกอาชีพเป็นปีที่สอง

เพชรฆาตหน้าหยกผ่านการทดสอบฝีเท้าจนก้าวมาเป็นกองหน้าของลัคกี้ โกลสตาร์ หรือเอฟซี โซล ในปัจจุบัน และแม้จะเป็นประสบการณ์ต่างแดนหนแรก แต่เจ้าตัวกลับไร้ปัญหาในเรื่องการปรับตัว และเพียงซีซันแรกบนแผ่นดินกิมจิ เขายิง 12 ประตู จาก 21 นัดที่ลงเล่น พาทีมจากโซล เถลิงบัลลังก์แชมป์เคลีก อย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์สโมสร ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 1986 ซึ่งเป็นปีที่เกาหลีใต้ลุยบอลโลก 1986 เขาเคยถูกชักชวนให้ไปติดทีมชาติลุยเวิลด์คัพมาแล้ว

ปิยะพงษ์ตัดสินใจค้าแข้งในเกาหลีเป็นเวลาเกือบ 3 ฤดูกาล ก่อนตัดสินใจมุ่งหน้ากลับไทย แม้จะมีหลายทีมในเกาหลีใต้ที่หวังดึงไปเสริมทีม จากนั้นเมื่อกลับมาอยู่ที่ไทยเจ้าตัวถูกอันเดอร์เลชท์จับตามองตั้งแต่สมัยโกยเงินวอนที่เกาหลีใต้ และหวังดึงไปเสริมทีม จนกระทั่งเกิดการเซ็นสัญญาพร้อมให้เด็กสร้างทหารอากาศย้ายไปยุโรป แต่สุดท้ายเจ้าตัวกลับทิ้งโอกาสดังกล่าว และเลือกอยู่แผ่นดินสยามต่อไป

จากนั้นสตาร์ทีมชาติไทยมีโอกาสโยกไปเล่นแดนเสือเหลืองกับปะหัง เอฟซี ช่วงสั้นๆ และยังคงรักษามาตรฐานเด่นของตัวเองผ่านผลงาน 70 ลูกจาก 61 นัด ก่อนกลับมาอยู่กับทหารอากาศอีกครั้งในปี 1989

10. วิทยา เลาหกุล - ยันมาร์ ดีเซล, มัตซึสิตะ (ญี่ปุ่น), แฮร์ธา เบอร์ลิน, เอฟซี ซาร์บรู๊คเคน (เยอรมัน)

อดีตนักเตะจากจังหวัดลำพูน ผู้ที่ได้รับการจารึกว่าเป็นนักเตะไทยคนแรกบนแผ่นดินลีกยุโรป ตัดสินใจเลือกเส้นทางลูกหนังคัดตัวนักเรียนไทยรุ่น 18 ปี เพื่อเตรียมทีมชิงแชมป์เอเชีย จนมีโอกาสก้าวขึ้นมาเล่นให้กับราชประชา จนมีชื่อติดทีมชาติไทยไล่มาตั้งแต่รายการ คิงส์คัพ, ซีเกมส์, คัดฟุตบอลโลก รวมถึง เมอร์เดก้าคัพ ที่มาเลเซีย กระทั่งถูกแมวมองจากญี่ปุ่นยื่นโปรไฟล์ให้ค้าแข้งแดนปลาดิบ ซึ่งเฮงซัง ก็ไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาสดังกล่าวกับสโมสรยันมาร์ ดีเซล หรือ เซเรโซ โอซาก้า ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เวทีลูกหนังญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 70 ยังคงเป็นการแข่งแบบกึ่งอาชีพ ซึ่งโค้ชเฮงเองไม่ได้วาดฝันว่าจะยืนหยัดระบบฟุตบอลดังกล่าวนี้จนนำไปสู่ความสำเร็จภายหน้า ก่อนจะมีโอกาสก้าวไปเล่นบนลีกยุโรปหนแรก หลังมีแมวมองจากเมืองเบียร์ชวนให้ไปเล่นกับแฮร์ธา เบอร์ลิน ก่อนจะมีโอกาสสวมชุดหญิงชราลุยลีกยุโรปสมใจ

แม้วิทยา เลาหกุล จะใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมทีม รวมถึงสภาพแวดล้อม แต่เมื่อเขาเริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตในเยอรมัน ก็เริ่มกลายเป็นที่ยอมรับในทีมมากขึ้น แต่โอกาสการลงสนามเป็นตัวหลักในถิ่นโอลิมปิก สเตเดียมกลับไม่เกิดขึ้น ก่อนที่ชาร์บรู๊คลิน ทีมในระดับล่างที่ตัดสินใจดึงไปเสริมเกมตรงกลาง โดยมี อูเว คลีมันน์ อดีตกุนซือสมัยแฮร์ธาฯ เป็นผู้ชักชวน

จากประสบการณ์บนลีกสูงสุด ทำให้วิทยาปรับตัวเข้ากับทีมอย่างรวดเร็ว และก้าวขึ้นมาเป็นแกนหลักให้ทีม พร้อมทำผลงานเด่นพาทีมไต่สู่การแข่งระดับบุนเดสลีกา ทว่าจากดีกรีโค้ชระดับเอไลเซนต์ ทำให้เขาอยากกลับมาพัฒนาฟุตบอลไทยต่อ ก่อนจะปิดฉากการค้าแข้งบนเวทียุโรป ที่ที่เขาเคยถูกตั้งว่าเป็นปรากฏการณ์ “ไทยบูม” และเลือกเดินทางกลับไทยในเวลาต่อมา ก่อนจะตัดสินใจย้ายไปค้าแข้งให้กับ มัตซึสิตะ หรือ กัมบะโอซาก้า พร้อมตัดสินใจเลิกเล่นฟุตบอลในปี 1987